หมาบ้าป่วนกทม. ตายเพิ่มอีก2 ห่วงช่วงปิดเทอม

สธ.เต้นหลังรับแจ้งมีคนตายจากโรคกลัวน้ำเพิ่มอีก 2 รายติดกันย่านจรัญฯ-คลองเตย รวมปีนี้สังเวยโรคหมาบ้าแล้ว 9 ราย สยองสุดเพราะรับเชื้อแค่เดือนเดียว ตามล่าหมาวัดท่าพระกัดแมวจรจัดที่แพร่เชื้อโรค..

เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค

เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากกลุ่มโรคติดต่อจากสัตว์และคน สำนักโรคติดต่อทั่วไป ว่า เมื่อวันที่ 14 -15 มี.ค.ที่ผ่านมา มีรายงานการเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าในเขตกรุงเทพมหานคร 2 รายติดต่อกัน รายแรกเสียชีวิตที่สถาบันบำราศนราดูร ส่วนอีกรายเสียชีวิตที่โรงพยาบาลตำรวจ เพิ่มจากรายที่ 7 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข ที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2553

จากรายงานการเสียชีวิตดังกล่าวทำให้เป็นที่กังวลว่า สถานการณ์ผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าในปีนี้อาจจะมีแนวโน้มสูงขึ้นมาก จากปี 2551

ที่ตลอดทั้งปีมีผู้เสียชีวิตเพียง 9 ราย เพิ่มเป็น 23 ราย ในปี 2552 และ 9 รายในช่วง 2 เดือนเศษของปีนี้ ที่น่าสังเกต คือ พื้นที่เกิดเหตุอยู่ในพื้นที่ซ้ำเดิมโดยเฉพาะ กทม. ที่ในปีนี้มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้วถึง 5 ราย และส่วนใหญ่มาจากสุนัขที่มีเจ้าของแทบทั้งสิ้น

ทั้งนี้ ในปี 2552 ผู้เสียชีวิต 7 ราย เสียชีวิตจากสุนัขของตนเองที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน

อีก 5 รายเกิดจากสุนัขไม่ทราบเจ้าของ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่ได้ไปพบแพทย์ และไม่ได้สนใจกับบาดแผล เห็นว่าสุนัขมีเจ้าของหรือบาดแผลเล็กน้อย คงไม่ติดโรคพิษสุนัขบ้า หรือเป็นลูกสุนัขคงไม่เป็นบ้า ความจริงแล้วแม้บาดแผลเล็กน้อย หากมีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าก็อันตรายถึงแก่ชีวิตได้


นพ.มานิต กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ผู้สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าจากรายงานโปรแกรมการลงรายงานผู้สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า

ข้อมูลผู้สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าจากโรงพยาบาลต่างๆ ที่รายงานออนไลน์ ณ วันที่ 29 ม.ค. 2553 จำนวน 446,255 ราย กลุ่มผู้ถูกกัดมากที่สุด คือ เด็กอายุ 1-5 ปี รองลงมาอายุ 6-10 ปี สัตว์ที่กัดส่วนใหญ่เป็นสุนัข และสุนัขที่กัดส่วนใหญ่เป็นสุนัขมีเจ้าของ โดยสัตว์ที่มีเจ้าของมีจำนวนสูงถึง 360,520 ตัว ไม่มีเจ้าของ 64,014 ตัว สัตว์ที่กัดเป็นสุนัขมากที่สุด คือ 390,135 ตัว รองลงมาเป็นแมว 55,222 ตัว

"ที่น่าเป็นห่วงคือ ขณะนี้ใกล้ปิดเทอม ผู้ปกครองและเด็กมีการเดินทางไปในที่ต่างๆ การเตือนผู้ปกครองให้บุตรหลานหลีกเลี่ยงการถูกสุนัขกัดเป็นสิ่งจำเป็น โดยลดพฤติกรรมที่ทำให้สุนัขกัดเพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกสุนัขกัด คือ อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ อย่ายุ่ง รวมทั้งเมื่อถูกสุนัขกัดแล้วต้องรีบล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ และฉีดวัคซีนจนครบจะช่วยลดอัตรการเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าได้" นพ.มานิต กล่าว

ด้าน สัตวแพทย์หญิงอภิรมย์ พวงหัตถ์ หัวหน้ากลุ่มโรคติดต่อจากสัตว์และคน กรมควบคุมโรค

เปิดเผยรายละเอียดผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้ารายที่ 8 และ 9 ว่า ทั้ง 2 รายเสียชีวิตติดต่อกันรายวัน ที่น่าตกใจคือ มีการรับเชื้อเพียงแค่เดือนเดียวก็แสดงอาการและเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว โดยรายที่ 8 เป็นชาย อายุ 32 ปี อาศัยอยู่ย่านถนนจรัญสนิทวงศ์ ซอยวัดท่าพระ แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ ถูกแมวจรจัดในตลาดกัดที่นิ้วมือขวาเป็นแผลระหว่างนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ เมื่อเดือน ก.พ. 2553 ขณะเข้าไปห้ามหมาไล่กัดแมว แมวจึงหันมากัดผู้เสียชีวิตรายนี้ หลังจากนั้นแมวถูกหมากัดตาย

ผู้ป่วยเริ่มมีอาการป่วยเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2553 เข้ารับการรักษา 13 มี.ค. 2553 ที่โรงพยาบาลบางไผ่

หลังจากนั้นถูกส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลบำราศนราดูร คนไข้มีอาการกลัวน้ำ กลัวลมชัดเจน และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2553 โรงพยาบาลบำราศนราดูร เก็บตัวอย่างน้ำลาย ปมรากผมส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยวิธี พีซีอาร์ (PCR) พบเชื้อในน้ำลายและเซลล์กระจกตา แต่คนไข้รายนี้ไม่มีการเก็บเนื้อสมองตรวจยืนยัน ไม่มีแพทย์เก็บตัวอย่าง หรือสั่งการให้เก็บ และขณะนี้ญาติผู้เสียชีวิตแจ้งว่า สุนัขตัวที่กัดแมวยังมีชีวิตอยู่ในตลาด ซึ่งจะต้องติดตามดูอาการสุนัขหลังจากกัดแมวนาน 6 เดือน หรืออาจจะต้องแจ้ง กทม.เพื่อเข้าไปกำจัดสุนัขตัวนี้ ก่อนที่จะแพร่เชื้อโรคไปให้สัตว์หรือคนอีกเป็นจำนวนมาก

ส่วนรายที่ 9 เป็นชาย อายุ 67 ปี อยู่แถวซอยอาจณรงค์ แขวงและเขตคลองเตย

เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2553 มีลูกสุนัขติดล้อรถจึงเข้าไปช่วยและถูกลูกสุนัขกัดเข้าที่เล็บของมือข้างซ้าย วันรุ่งขึ้นลูกสุนัขตัวนั้นตาย ภรรยาได้บอกให้ไปฉีดวัคซีน แต่ผู้ตายไม่เชื่อ ไม่ยอมไปหาหมออ้างว่าเป็นแค่ลูกหมาตัวเล็กๆ จึงแค่กินยาแก้ปวดพาราเซทตามอล ผู้เสียชีวิตรายนี้เริ่มมีอาการกลัวลมไม่อยากดื่มน้ำ เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2553 เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจและเสียชีวิตกลางคืนในวันเดียวกัน เก็บน้ำลายตรวจศูนย์โรคโรงพยาบาลจุฬา พบเชื้อพิษสุนัขบ้า

"ที่น่ากลัวคือ ตอนนี้เหตเกิดในกทม.ค่อนข้างถี่ และการจัดการกับสุนัขทั้งที่ตลาดนัดสวนจตุจักร ห้างสรรพสินค้าที่ กทม. เคยประกาศไว้ก็ยังไม่ได้มีการดำเนินการอย่างจริงจัง รวมถึงจำนวนประชากรของสุนัขจรจัดที่เพิ่มมากขึ้นด้วย ที่สำคัญ ช่วงนี้อากาศร้อนจัดมาก โอกาสที่สุนัขจะมีอารมณ์ดุร้าย มีสูงมาก จึงน่าจะมีมาตรการป้องกันหรือให้ความรู้กับประชาชนอย่างต่อเนื่องถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แม้จะไม่ได้ถูกกัด แค่ถูกน้ำลายที่สัตว์ซึ่งมีเชื้อโรคมาเลียก็อาจทำให้ติดเชื้อได้" สพญ.อภิรมย์ กล่าวและว่าในปีนี้ ข้อมูลสัตว์ต้นเหตุที่ทำให้คนเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าเกิดจาก สุนัขมีเจ้าของ 6 ราย สุนัขจรจัด 2 ราย และ แมวจรจัด 1 ราย.

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์