หมาก็ติดหวัดนก-แทะซากเป็ดที่สุพรรณ

"แมว"ด้วยอาจารย์ม.เกษตรตรวจพบ


อาจารย์ม.เกษตรฯ กำแพงแสน ตรวจพบสุนัขติดเชื้อ "ไข้หวัดนก" จากการกินซากเป็ดไล่ทุ่งในพื้นที่เมืองสุพรรณฯ เมื่อปี"47 เตือนประชาชนไม่ต้องตกใจ เพราะเป็นเชื้อสายพันธุ์เดิม พบในสุนัขแค่ตัวเดียว 2 ปีที่ผ่านมายังไม่พบอีก ส่วนแมวก็เช่นเดียวเจอแค่ตัวเดียว หลังจากนั้นไม่เจออีกเลย เตรียมนำผลวิจัยตีพิมพ์ลงนิตยสาร EID ฉบับเดือนพ.ย.นี้ เผยเชื้อไวรัสที่พบในสัตว์ปีกยังเป็นเชื้อเอช 5 เอ็น 1 สายพันธุ์เดิม ไม่มีกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ลูกผสม

เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสตับอักเสบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการอภิปราย "เกาะติดสถานการณ์...ไข้หวัดนก" ว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดนกที่พบในสัตว์ปีกของประเทศไทย ยังเป็นเชื้อเอช 5 เอ็น 1 สายพันธุ์เดิมไม่มีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ลูกผสม


"ตรวจพบมีการกลายพันธุ์แบบค่อยเป็นค่อยไป"


แต่มีกลายพันธุ์แบบค่อยเป็นค่อยไปซึ่งไม่มีผลร้ายแรง โดยพบการเปลี่ยนแปลงของกรดอะมิโน ทำให้พบชนิดของเชื้อไข้หวัดนก(strain) เป็นเชื้อชนิดที่ก่อโรคในประเทศไทยและเวียดนาม กับเชื้อที่มาจากจิงไห่ สาธารณรัฐประชาชนจีน และช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา นักวิจัยได้ถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์แล้วกว่า 200 สายพันธุ์

ศ.นพ.ยง กล่าวด้วยว่า นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) วิทยาเขตกำแพงแสน ตรวจพบสุนัขติดเชื้อไข้หวัดนกจากการกินเป็ดไล่ทุ่ง ในพื้นที่จ.สุพรรณบุรี เตรียมตีพิมพ์ผลการวิจัยนี้ในวารสาร EID หรือ Emerging of Infectious Diseases คาดว่าจะเป็นฉบับประจำเดือนพ.ย.นี้ ส่วนรายละเอียดให้สอบถามที่นักวิจัยเอง


"หายีนพัฒนาวัคซีนแต่ยังไม่พบ"


"นักวิจัยเราได้ถอดรหัสพันธุกรรมไข้หวัดนกในสัตว์แล้วเกือบ 200 สายพันธุ์ ตั้งแต่ม.ค.2547-2549 จะทยอยเผยแพร่ต่อไป พบว่าตั้งปี 2547 เชื้อในสัตว์ปีกเริ่มมีการกลายพันธุ์ของไวรัส พบในนกป่า เหยี่ยวจากเมืองไทยที่ถูกลักลอบนำเข้าเบลเยียม ขณะนี้นักวิจัยกำลังค้นหายีนที่ก่อโรคต่ำเพื่อพัฒนาเป็นวัคซีน แต่ยังหาไม่พบ ที่พบขณะนี้ยังไม่เหมาะพัฒนาเป็นวัคซีนต้นแบบ" ศ.นพ.ยง กล่าวและว่า นักวิจัยค้นพบตำแหน่งยีนที่ทำให้เชื้อดื้อยาทามิฟลู โดยพบกรดอะมิโนในตำแหน่งที่ H 274Y หากมีการเปลี่ยนแปลงของกรดอะมิโนเพียงตัวเดียวจะทำให้ดื้อยา การให้ยาทามิฟลูจะไม่ได้ผล สายพันธุ์ของประเทศไทยยังไม่ดื้อยา" ศ.นพ.ยง กล่าว

น.พ.ไพจิตร์ วราชิต อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยพบการระบาดของโรคไข้หวัดนก 4 ระลอก แต่ในปัจจุบันยังไม่พบการติดเชื้อไข้หวัดนกจากคนมายังคน ที่ผ่านมาเป็นการแพร่เชื้อไวรัสไข้หวัดนกชนิดเอช 5 เอ็น 1 จากสัตว์ปีกมายังคน แนวทางการป้องกันและควบคุมโรค ทางรัฐบาลได้บูรณาการทุกหน่วยงานเข้ามาแก้ไขปัญหานี้ถึง 4 กระทรวง


"ผลจากชุดทดสอบยังเป็นลบ"


น.พ.ไพจิตร์ ยังกล่าวถึงการใช้ชุดทดสอบเบื้องต้น หรือ Rapid test เพื่อตรวจว่า เป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอหรือไม่ ซึ่งไข้หวัดนกเป็นเชื้ออยู่ในกลุ่มนี้ ว่า มีการถกเถียงกันถึงความไวและความเที่ยงตรงในการตรวจสอบ เนื่องจากมีบางรายผลตรวจเบื้องต้นเป็นลบ แต่ต่อมาคนไข้อาการทรุดจนเสียชีวิต ผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการพบว่า เป็นโรคไข้หวัดนก ทำให้หลายคนกังวล ถึงกับระบุว่าผู้ที่มีผลเบื้องต้นเป็นลบ แต่อาการทางคลินิกเข้าข่ายสงสัยต้องดูแลอย่างรอบคอบ

"เป็นห่วงเมื่อไม่มีรายงานผู้ป่วยไข้หวัดนกในคน สัญญาณส่งจากกรมปศุสัตว์ว่าพื้นที่ใดเป็ดไก่ตายมีน้อย เพราะกรมปศุสัตว์ขาดคน เกรงคนจะลืม เตือนอย่านำเป็ดไก่ป่วยมาปรุงอาหาร" น.พ.ไพจิตร์ กล่าว และว่า ที่ผ่านมาการรักษาผู้ป่วยในข่ายเฝ้าระวังอยู่ในห้องแยก พบว่าแพทย์ที่รักษาคนไข้ ภรรยาไม่ให้นอนในห้องนอน ให้นอนห้องรับแขก จนรู้ผลว่าคนไข้เฝ้าระวังไม่เป็นไข้หวัดนกจึงให้นอนในห้องนอน สร้างความยุ่งยากในการทำงานของบุคลากรในต่างจังหวัดที่เป็นด่านหน้า


"เร่งพัฒนาวัคซีน มั่นใจสร้างโรงงานวัคซีน"


น.พ.ไพจิตร์ กล่าวด้วยว่า กระทรวงสาธารณสุข มีมติให้พัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในคนร่วมกับประเทศจีน คาดว่าอีก 3-5 ปี จะสร้างโรงงานผลิตวัคซีนได้ คาดว่าจะมีกำลังการผลิต 2 ล้านโด๊ส ต่อปี ความต้องการใช้อยู่ที่ประมาณ 200,000 โด๊ส แต่หากเกิดการระบาดของไข้หวัดนกจากคนสู่คนความต้องการวัคซีนจะเพิ่มเป็น 10 ล้านโด๊ส ดังนั้นประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาวัคซีนเพื่อการพึ่งตนเอง

ขณะที่รศ.น.สพ.ดร.ทวีศักดิ์ ส่งเสริม อาจารย์คณะสัตวแพทยศาสตร์ มก.วิทยาเขตกำแพงแสน ผู้วิจัยตรวจพบสุนัขติดเชื้อไข้หวัดนก ให้สัมภาษณ์ว่า สุนัขที่ตรวจพบการติดเชื้อไข้หวัดนกเป็นซากสุนัขอายุประมาณ 1 ปี เก็บตัวอย่างมาจากจ.สุพรรณบุรี ตั้งแต่ปี 2547 เนื่องจากมีเป็ดตายจำนวนมากและกำจัดไม่ทัน สุนัขจึงไปแทะซากเป็ดได้ โอกาสที่สุนัขจะติดไข้หวัดนกจากเป็ดไก่ต้องมีสัตว์ตายจำนวนมากๆ และกำจัดไม่ทัน


"โอกาสพบน้อยมาก"


ซึ่งโอกาสเกิดแบบนี้มีน้อยมาก ยิ่งในกรุงเทพฯ แทบไม่มีโอกาสเกิดขึ้น อีกทั้งตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ก็ยังไม่พบสุนัขติดไข้หวัดนกอีกเลย และปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำเป็ดไล่ทุ่งเข้าระบบปิด หาเป็ดไล่ทุ่งที่เลี้ยงตามทุ่งธรรมชาติน้อยมาก

รศ.น.สพ.ดร.ทวีศักดิ์ ย้ำว่า การค้นพบสุนัขติดเชื้อไข้หวัดนกเป็นเรื่องทางวิชาการ เชื้อที่พบยังเป็นเชื้อเอช 5 เอ็น 1 สายพันธุ์เดิม ดังนั้นประชาชนไม่ต้องตกใจ ครั้งก่อนพบการติดเชื้อในแมว แต่เป็นการพบในแมวตัวเดียว หลังจากนั้นก็ไม่พบอีก ในกรณีของสุนัขก็เช่นกัน ตั้งแต่ปี2547 จนถึงปัจจุบันกว่า 2 ปี ก็ยังไม่พบสุนัขติดเชื้อไข้หวัดนกอีก ยิ่งเป็นสุนัขที่เลี้ยงในบ้านทั่วไป มีโอกาสน้อยมาก ยกเว้นมีไก่ตายจำนวนมาก ทำลายซากไม่ทัน ซึ่งตอนนี้ไม่มีสถานการณ์แบบนี้แล้ว


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ข่าวสด

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์