หมอเครียดคนไข้เยอะแนะ3วิธีป้องกันจำหน่ายยาพลาด

รพ.ยอมรับหมอเครียด คนไข้มากเวลาตรวจเฉลี่ยคนละ 5 นาที ต้องเร่งสั่งยาจนอาจคลาดเคลื่อน แนะ 3 วิธีให้คนไข้ปฏิบัติป้องกันแพทย์ทำผิดพลาด เผยในสหรัฐแพทย์จ่ายยาผิดถึง 27 เปอร์เซ็นต์

ตามที่ "คม ชัด ลึก" ได้นำเสนองานวิจัยเชิงวิชาการเกี่ยวกับความคลาดเคลื่อนในการจ่ายยาของโรงพยาบาล ที่พบมากถึงเดือนละกว่า 200 ครั้ง ทั้งที่เกิดจากความผิดพลาดของแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และตัวคนไข้เองแล้ว ยังมีงานวิจัยอีกหลายฉบับที่แสดงให้เห็นถึงความผิดพลาดในการจ่ายยาของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ทั้งในเขตตัวเมืองและต่างอำเภอ เช่น งานวิจัยของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ศึกษาอุบัติการณ์การเกิดความคลาดเคลื่อนทางยาของหน่วยบริการปฐมภูมิขามเรียง และหน่วยบริการปฐมภูมิท่าขอนยาง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม โดยศึกษาการสั่งยาให้ผู้ป่วยทุกวันพุธ เวลา 09.00-12.00 น. เป็นเวลา 4 เดือน ระหว่างวันที่ 1 มกราคม-30 เมษายน 2550

 จากการศึกษารายการยาที่สั่งให้ผู้ป่วยทั้งหมด 2,091 รายการ พบความคลาดเคลื่อน 100 รายการ หรือประมาณร้อยละ 5 แบ่งเป็นความคลาดเคลื่อนจากการจัดยามากที่สุด 68 รายการ การเขียนฉลากยาไม่ถูกต้องตามคำสั่งการใช้ยาของแพทย์ การไม่ระบุความแรงของยา จ่ายยาผิดคน จ่ายยาผิดความแรง โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนทางยา  ได้แก่ ความเคยชินของบุคคล สิ่งแวดล้อม และข้อจำกัดด้านเวลา

 ทั้งนี้ เภสัชกรโรงพยาบาลรัฐบาลแห่งหนึ่งให้ข้อมูลว่า ส่วนใหญ่ทุกโรงพยาบาลจะบันทึกความผิดพลาดในการทำงานลงในแฟ้มของแต่ละแผนก ไม่เคยเอาตัวเลขมารวมกันว่า ความผิดพลาดมากน้อยแค่ไหน ขณะที่แพทย์ในอเมริกาเริ่มตื่นตัวไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการสั่งยามากขึ้น เพราะพบข้อมูลจากหน่วยงานมาตรฐานโรงพยาบาลของอเมริกาว่า คนไข้ได้รับยาที่ไม่ถูกต้องตามคำสั่งแพทย์ถึงร้อยละ 27 ถือเป็นตัวเลขที่น่าตกใจมาก เพราะฉะนั้นคนไข้ต้องระมัดระวังในการกินยา แม้ว่าจะเป็นยาตามคำสั่งแพทย์ก็ตาม

 แหล่งข่าวข้างต้น ยกตัวอย่างให้ฟังว่า การสั่งยาในโรงพยาบาลรัฐบาลที่มีคนไข้หลายพันคนต่อวัน มักเกิดความคลาดเคลื่อนสูง โดยระบุไม่ได้ว่าเป็นความผิดพลาดของผู้ใดโดยตรง เช่น ผู้ป่วยความดันจากที่เคยกินยาลดความดันขนาดเม็ดละ 100 มิลลิกรัม ที่โรงพยาบาลเดิม พอย้ายมาโรงพยาบาลใหม่หมอสั่งยาความดันให้ในเม็ดละ 50 มิลลิกรัม ก็เลยรักษาไม่ได้ผล เพราะความแรงของยาลดลง หรือคนไข้มีอาการปวดหัวไม่สบายและปวดหลัง พอไปแผนกอายุรกรรมหมอก็ให้ยาแก้ปวด ไปหาหมอแผนกกระดูกก็ได้ยาแก้ปวดมาซ้ำอีก แต่เป็นยาแก้ปวดยี่ห้อต่างกัน หากคนไข้ไม่สังเกตก็จะต้องกินยาแก้ปวดซ้ำถึง 2 เท่า

 นอกจากนี้ฝ่ายจ่ายยาเองก็มีความผิดพลาดได้ เช่น ให้ยาที่มีกล่องหรือสีคล้ายกัน แต่ที่ต้องระวังมากคือการจ่ายยาที่คนไข้เคยแพ้ แม้จะแจ้งให้ทราบแล้วก็ตาม เช่น คนไข้แจ้งว่าแพ้ยาตัวนี้แต่แพทย์สั่งยาที่มีโครงสร้างเหมือนกัน แต่ชื่อยาไม่เหมือนกันให้แทน ซึ่งเภสัชกรต้องคอยตรวจซ้ำ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับผู้ป่วย

 "ทุกโรงพยาบาลตระหนักถึงข้อมูลความคลาดเคลื่อนของยา แม้ว่าจะเกิดขึ้นวันละไม่กี่ครั้ง แต่ก็ถือว่าเป็นความเสี่ยงของคนไข้ ที่อาจเกิดการฟ้องร้องได้ในอนาคต ส่วนตัวคนไข้เองก็ต้องระวังในเรื่องยาให้มากขึ้น เพราะส่วนใหญ่จะไม่ค่อยศึกษาว่าแพทย์สั่งยาอะไรให้กิน หรือตัวยาออกฤทธิ์อย่างไร เพราะมีความเชื่อมั่นในตัวหมอและโรงพยาบาลมากเกินไป"

 เภสัชกรคนเดิมแนะนำให้คนไข้เพิ่มความระวังใน 3 ข้อ คือ 1.ต้องบอกอาการป่วยอย่างละเอียดให้หมอรู้ เช่น  อาการป่วยเป็นอย่างไร เคยเป็นหรือเปล่า และไปหาหมอที่ไหนบ้าง แพ้ยาอะไร ฯลฯ 2.นำยาเก่าที่เคยกินไปให้หมอดูทุกครั้ง 3.เมื่อรับยามาแล้วต้องดูว่า ชื่อตรงกับเราหรือไม่ มียาชื่ออะไรบ้าง วิธีกินเป็นอย่างไร ต้องตระหนักอยู่เสมอว่ายาที่ได้รับอาจไม่ถูกต้อง ควรสังเกตอย่างละเอียด แม้จะมาจากโรงพยาบาลก็ตาม

 ด้านแพทย์โรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งในภาคเหนือ ยอมรับว่า ความคลาดเคลื่อนทางยาเกิดจากหลายสาเหตุ หนึ่งในสาเหตุสำคัญคือหมอที่สั่งยาให้คนไข้ผิดพลาด เพราะปริมาณแพทย์ไม่พอเพียงกับจำนวนคนไข้ แต่ละคนมีเวลาตรวจคนไข้ไม่กี่นาที ทำให้สั่งยาอย่างเร่งรีบ และการที่มีคนไข้รอเป็นจำนวนมากก็สร้างแรงกดดันให้หมอ ทำให้ไม่ซักถามประวัติคนไข้อย่างละเอียด รวมถึงเวลาทำการที่ต้องให้เสร็จภายในเวลา 16.00 น. ไม่ว่าจะมีคนไข้มากน้อยแค่ไหนก็ตาม

 "หมอยอมรับว่าเวลาที่คนไข้รอเยอะๆ จะเครียดมาก ใช้เวลาตรวจคนไข้แค่ 5 นาทีต่อคนเท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงควรใช้ไม่ต่ำกว่า 10 นาที แต่ทุกวันนี้ใช้เวลาคนละ 5 นาที 1 ชั่วโมงก็รักษาคนไข้ได้ 12 ราย วันหนึ่งก็ประมาณ 100 กว่าราย วันไหนคนรอเยอะก็ใช้เวลาแค่ไม่ถึง 1 นาทีเท่านั้น เราต้องพยายามไม่ให้ผิดพลาด แต่มันก็เหนื่อยล้า บางครั้งก็ลืมสั่งจำนวนยาหรือขนาดของยา วิธีแก้ไขปัญหานี้คือกระทรวงสาธารณสุข ต้องเพิ่มจำนวนหมอให้เพียงพอกับคนไข้ เพื่อหมอจะได้ใช้เวลารักษาคนไข้แต่ละคนได้มากกว่านี้" แพทย์ข้างต้นกล่าว

 ข้อมูลจากเว็บไซต์ด้านวิจัยสาธารณสุขระบุว่า ความคลาดเคลื่อนทางยา (medication error)  หมายถึงเหตุการณ์ที่สามารถป้องกันได้ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหรือนำไปสู่การใช้ยาที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วยได้ โดยที่ยานั้นอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ให้บริการ ผู้ป่วย หรือผู้บริโภค และอาจเกี่ยวกับการปฏิบัติของผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ พยาบาลหรือตัวผลิตภัณฑ์ยา เช่น การสั่งใช้ยา การสื่อสารคำสั่ง การเขียนฉลากยา การบรรจุยา การตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ยา การผสมยาและการจ่ายยา ที่ทำให้เกิดความผิดพลาด อย่างไรก็ตาม มีรายงานวิจัยยืนยันว่าความคลาดเคลื่อนทางยาจำนวนมาก มักไม่มีการรายงานหรือถูกตรวจพบ แม้ว่าจะเกิดอันตรายกับผู้ป่วยแล้วก็ตาม เนื่องจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลหวาดกลัวผลที่จะตามมา จึงมีการปกปิดความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

 ทั้งนี้ สถิติงานวิจัยเกี่ยวกับการขาดแคลนแพทย์ในเว็บไซต์ ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตแพทย์ได้ปีละ 1,300-1,400 คน ทำให้มีแพทย์ต่อประชากรน้อยกว่าหลายประเทศมาก คือแพทย์ 0.3 คนต่อประชากร 1,000 คน หรือแพทย์ 1 คนต่อประชากรราว 3,000 คน ขณะที่ประเทศในยุโรปมีอัตราส่วนแพทย์สูงถึง 1 คนต่อประชากรประมาณ 300 คน ตัวเลขล่าสุดระบุว่ามีแพทย์ทั้งประเทศแค่ 2 หมื่นคน โดยแพทย์ร้อยละ 50 อยู่ใน กทม. ขณะที่บางจังหวัดในภาคอีสานมีแพทย์เพียง 40-50 คนเท่านั้น

 สำหรับอาการแพ้ยาที่เป็นปัญหาสำคัญทั้งกับแพทย์และคนไข้นั้น ศ.นพ.วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์ ผู้ช่วยคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย ให้ข้อมูลว่า หากคนไข้ไม่มีประวัติการแพ้ยามาก่อน แพทย์ผู้สั่งยาก็ไม่มีทางทราบได้ว่าผู้ป่วยจะแพ้ยาที่สั่งให้หรือไม่ เนื่องจากไม่สามารถทดสอบการแพ้ยาทุกชนิดให้แก่ผู้ป่วยทุกคนได้ ดังนั้นภายหลังการรับประทานยาหรือฉีดยา คนไข้ต้องสังเกตตัวเองว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ เช่น เป็นผื่น ลมพิษ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก วิงเวียน คลื่นไส้ เป็นลมหมดสติ หามีอาการแปลกๆ ที่ไม่เคยพบมาก่อนหน้ารับประทานยา ให้รีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยว่ามีอาการแพ้ยาหรือไม่ 

 ศ.นพ.วรศักดิ์แนะนำอีกว่า หากแพ้ยาชนิดใดให้พกชื่อยานั้นติดตัวเสมอ พร้อมทั้งนำชื่อยาแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทุกครั้ง ปัจจุบันยาหลายชนิดมีสูตรโครงสร้างคล้ายกัน ดังนั้นการที่เราแพ้แอสไพรินก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่แพ้ยาแก้ปวดชนิดอื่น ด้วยเหตุนี้หากแพทย์ทราบชื่อยาที่แน่ชัดก็จะช่วยป้องกันการแพ้ยาชนิดอื่นได้ อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์กำลังค้นพบความรู้ใหม่ว่า ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ก่อให้เกิดการแพ้ยาคือลักษณะทางพันธุกรรมของบุคคล ในอนาคตอาจมีเทคโนโลยีที่สามารถตรวจลักษณะทางพันธุกรรมกับอาการแพ้ยาได้สำเร็จ

เมื่อวันที่ 19 กันยายน นพ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงเรื่องนักวิจัยพบการจ่ายยาคลาดเคลื่อนภายใน รพ.ราชวิถี 1,255 ครั้ง ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2550-มกราคม 2551ว่าได้สั่งการให้ ผอ.รพ.ราชวิถี ไปตรวจสอบรายละเอียด เพื่อให้ทราบถึงคำจำกัดความเกี่ยวกับการจ่ายยาคลาดเคลื่อนของผู้วิจัย และผลกระทบต่อผู้ป่วยเป็นอย่างไร โดยคาดว่าจะทราบผลภายใน 3 วัน

 "การจ่ายยาคลาดเคลื่อนในรูปแบบที่แตกต่างกันจะส่งผลอันตรายต่อผู้ป่วยในระดับที่ไม่เหมือนกัน เช่น หากจ่ายยาผิดคนหรือจ่ายยาที่ผู้ป่วยแพ้ อาจเกิดอันตรายกับผู้ได้รับยาสูง แต่หากเป็นลักษณะอื่นก็จะลดหลั่นความรุนแรงลง แต่ไม่ว่าความคลาดเคลื่อนรูปแบบไหนก็ไม่ควรเกิดขึ้นทั้งสิ้น รพ.ราชวิถี เป็นโรงพยาบาลที่มีคุณภาพจำเป็นต้องสอบถามข้อมูลรายละเอียดจากผู้วิจัยอีกครั้ง เพื่อสร้างความกระจ่างและให้ ผอ.ไปตรวจสอบเหตุที่เกิดขึ้นว่าเป็นเพราะสิ่งใด ทำไมมีระบบป้องกันแล้วยังเกิดความคลาดเคลื่อนขึ้น" นพ.เรวัตกล่าว

 อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวอีกว่า ส่วนโรงพยาบาลอื่นๆ ยังไม่ได้รับรายงานการศึกษาว่า มีสถิติการจ่ายยาคลาดเคลื่อนหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ การจ่ายยาคลาดเคลื่อนไม่ได้หมายความว่าโรงพยาบาลไม่มีคุณภาพ เพราะตามเกณฑ์ประเมินมาตรฐานโรงพยาบาลมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า โรงพยาบาลที่ได้คุณภาพควรมีอัตราการจ่ายยาคลาดเคลื่อนเท่าไร เนื่องจากทุกโรงพยาบาลจะมีระบบป้องกันความคลาดเคลื่อนตรงนี้อยู่แล้ว จึงไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนกตกใจ


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์