หมอจิตฯ แนะอย่าซ้ำเติมเด็ก ถ้าพลาดแอดฯเสี่ยงฆ่าตัวตาย

รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต


แนะดูแลเด็กที่ผิดหวังผลแอดมิชชั่นส์ เสี่ยงฆ่าตัวตาย ชี้ผู้ปกครองต้องให้กำลังใจอย่าซ้ำเติม รับฟังเมื่อเด็กพร้อมห้ามคาดคั้น สอนให้รู้จักความผิดหวังเสียใจบ้าง

(14พค.) น.พ.อภิชัย มงคล รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวกรณีนายจิรัฎฐากรณ์ ศุขเกษมพงศ์ อายุ 19 ปี อยู่บ้านเลขที่ 248 หมู่ 2 ต.ห้วยไคร้ อ.แม่สาย จ.เชียงราย นักเรียนชั้น ม.6 ผูกคอตาย

หลังผิดหวังผลสอบแอ็ดมิชชั่นที่ไม่สามารถเข้าเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ ว่า ผู้ปกครองบางคนตั้งความหวังไว้มาก การที่เด็กสอบไม่ได้ก็เกิดความเสียใจอยู่แล้ว

แต่เด็กทราบดีว่าเตรียมตัวมากน้อยเพียงใดจะสามารถทำได้แค่ไหน หากผู้ปกครองเสียใจให้เด็กเห็นมากกว่า ก็จะยิ่งทำให้เด็กยิ่งเครียดและเกิดความทุกข์มากกว่าเดิม


น.พ.อภิชัย กล่าวอีกว่า


ตามปกติการปรับตัวภายหลังจากความผิดหวังเสียใจ จะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ในการปรับตัวสู่ภาวะจิตใจปกติ แต่มีเด็กกลุ่มที่ต้องดูแลมากเป็นพิเศษ เช่น

คนที่ตั้งความหวังมากจากการสอบ คนที่ไม่เคยได้รับความผิดหวังเลย โดยสามารถสังเกตอาการได้ เช่น เก็บตัว ไม่กิน ไม่นอน ลดกิจกรรมที่เคยทำตามปกติ ซึมเศร้ามาก ร้องไห้ติดต่อกันหลายวันหรือเป็นสัปดาห์

สิ่งสำคัญที่ควรระวังคือ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเสพยาเสพติด เพราะอาจทำให้เกิดอันตราย จากที่เสียใจเพียงเล็กน้อยอาจทำให้เสียใจมากขึ้น และทำอันตรายต่อตนเองได้


เมื่อเด็กมีความทุกข์ สิ่งที่ควรทำคือ


การให้กำลังใจ ไม่ซ้ำเติม รับฟังและให้แนวทางการแก้ไขปัญหา โดยการรับฟังต้องฟังเมื่อเด็กพร้อมจะเล่าหรือขอคำปรึกษา ไม่ควรคาดคั้น

แต่คอยอยู่ใกล้ๆ โดยเมื่อเห็นว่าเริ่มมีสัญญาณอันตรายโดยเฉพาะมีอาการซึมเศร้า เคยมีประวัติฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเอง ควรดูแลอย่างใกล้ชิดมากกว่าปกติ พูดคุยหรือหากิจกรรมทำร่วมกัน

เมื่อเด็กพร้อมแล้วค่อยๆ อธิบายและหาแนวทางแก้ไขปัญหา ยกตัวอย่างเหตุการณ์ต่างๆให้ฟังว่าคนเราต้องพบกับความผิดหวังบ้างเป็นเรื่องธรรมดา น.พ.อภิชัย กล่าว

น.พ.อภิชัย กล่าวด้วยว่า การดูแลให้เด็กมีสภาพจิตใจที่เข้มแข็งสามารถเผชิญความผิดหวังได้ ต้องสะสมตั้งแต่ยังเด็กไม่ตามใจทุกอย่าง แต่สอนให้เด็กรู้จักความผิดหวัง ความเสียใจ หรือรู้จักความยากลำบากบ้าง

เพื่อให้มีภูมิต้านทานเมื่อเกิดความผิดหวังขึ้น การสอนให้เด็กได้รู้จักความทุกข์บ้าง จะช่วยทำให้เด็กพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์(EQ) สามารถปรับตัวได้เมื่อเกิดความผิดหวัง กิจกรรมหรือการเข้าค่าย ให้ทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น ก็เป็นแนวทางที่จะช่วยทำให้เด็กเสริมสร้างพัฒนาการทางอารมณ์ได้เช่นกัน


รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวอีกด้วยว่า


สำหรับกรมสุขภาพจิต มีบริการให้คำแนะนำทางด้านสุขภาพจิตที่หมายเลข 1323 หรือสามารถขอคำปรึกษาได้ที่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมสุขภาพจิต ได้ทุกแห่ง หรือสามารถหาข้อมูลการดูแลสุขภาพจิต

และแบบทดสอบโรคซึมเศร้า ได้ที่เว็บไซค์กรมสุขภาพจิต www.dmh.go.th หากพบว่ามีสัญญาณอันตรายควรดูแลอย่างใกล้ชิด หรือปรึกษาแพทย์ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาต่อไป

ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย:

หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์