หนี้สินครูทั่วปท.1แสนล้านล้าน


นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาวิเคราะห์การดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตครูทั้งระบบ


เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เสนอข้อมูลให้นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เพื่อประกอบการพิจารณาหารือกับกระทรวงการคลัง และรัฐบาล เพื่อแก้ไขหนี้สินครูทั้งระบบแล้ว ซึ่งข้อมูลที่นำเสนอไป พบว่า จากการสำรวจหนี้สินครูทั่วประเทศจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 87 แห่งทั่วประเทศ โครงการพัฒนาชีวิตครู โครงการเงินกู้สมาชิกกองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และกองทุนหมุนเวียนแก้ไขปัญหาหนี้สินครูนั้น มีมูลค่าหนี้สินรวมกันประมาณ 1 แสนล้านล้านบาท และมีเงินออมรวมประมาณ 3 แสนล้านบาท หนี้สินดังกล่าวของครูเป็นหนี้สินที่ตรวจสอบได้ทั้งหมด และไม่ใช่หนี้เสีย โดยหนี้สินของครูส่วนใหญ่เป็นหนี้จากสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 87 แห่ง จำนวน 4.6 แสนคน มูลค่าหนี้ 7 แสนล้านบาท, โครงการเงินกู้ ช.พ.ค.1-5 จำนวน 3 แสนกว่าคน มูลค่าหนี้สิน 1.5 แสนล้านบาท, โครงการพัฒนาชีวิตครู จำนวน 6 หมื่นกว่าคน มูลค่าหนี้ 5 หมื่นล้านบาท และกองทุนหมุนเวียนฯ จำนวน 8,500 คน มูลค่าหนี้ 1 พันล้านบาท

"ข้อมูลทั้งหมดจะเป็นประโยชน์ เพื่อนำไปหารือกับรัฐบาลว่าจะกำหนดนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครูได้อย่างไร ส่วนจำนวนหนี้สินที่มากมายนั้น ผมคิดว่าไม่น่าจะเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขเรื่องนี้ เพราะขณะนี้ครูที่มีหนี้สินส่วนใหญ่ก็อยู่กันได้ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการสำรวจพบจำนวนหนี้เสียค่อนข้างน้อยอย่าง สหกรณ์ออมทรัพย์ครู มีครูเบี้ยวหนี้แค่ 1,000 กว่าคน โครงการเงินกู้ ช.พ.ค.ก็ไม่มีหนี้เสียตามที่ได้รับรายงานมา ส่วนกองทุนพัฒนาชีวิตครูฯ หนี้เสียแค่ 100 กว่าล้านบาท สำหรับการหารือกับสถาบันการเงินเพื่อให้ปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำนั้น ไม่ได้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ แต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการ ซึ่งผมก็ตอบไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไร" นายเฉลียวกล่าว

นายชาญวิทย์ ทับสุพรรณ ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)

กล่าวถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวแก่ครูโรงเรียนเอกชนที่ได้รับเงินเดือนน้อยกว่า 11,700 บาท ว่า จากการประชุมร่วมกับสำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงบประมาณขอให้ สช.ส่งข้อมูลเงินเดือนครูรายบุคคลที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 11,700 บาท เพื่อจะได้ทราบจำนวนเงินที่สำนักงบประมาณต้องจัดสรรให้แก่ครูในแต่ละเดือน พร้อมทั้งขอทราบเหตุผลว่าทำไมเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวที่รัฐจัดสรรให้โรงเรียนเอกชนร้อยละ 70 ของค่าใช้จ่ายที่จะต้องเรียกเก็บจากผู้ปกครอง โดยให้จ่ายเป็นเงินเดือนครู และค่าวัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอนพื้นฐาน จึงไม่เพียงพอที่จะจ่ายเงินเดือนให้ครูได้เกิน 11,700 บาท ซึ่ง สช.ได้สำรวจข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 พบว่า มีโรงเรียนที่ครูจะได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว 3,650 โรง ในจำนวนนี้ได้ตรวจสอบรายละเอียดแล้ว 3,350 โรง มีครูที่จะได้รับเงิน 66,560 คน ที่เหลืออีก 300 โรง อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องอีกครั้ง หากตรวจสอบเสร็จแล้ว จะเร่งนำเสนอนายชินวรณ์ และนายเฉลียว ก่อนเสนอสำนักงบประมาณเพื่อพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าครูจะได้รับเงินดังกล่าวย้อนหลังไปถึงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

"เหตุผลที่เงินอุดหนุนฯ ซึ่งรัฐจัดสรรให้ร้อยละ 70 ไม่พอต่อการเพิ่มเงินเดือนให้ครูนั้น เพราะการพิจารณาเงินอุดหนุนฯ จะยึดครู 1 คนต่อนักเรียน 25 คน แต่ความเป็นจริงในบางโรงเรียนมีนักเรียนน้อย แต่เปิดสอนจนจบระดับประถม เช่น มีนักเรียน 100 คน เปิดสอนตั้งแต่ ป.1-6 จะบรรจุครูได้ 4 คน ที่เหลือโรงเรียนต้องจ้างเพิ่ม เพื่อให้มีครูครบทุกชั้นเรียน หรือบางกรณีในระดับมัธยม จะต้องจ้างครูเพิ่มเพื่อให้มีครูสอนตรงตามวิชาเอก ทั้งนี้ สช.ได้เคยเสนอขอเพิ่มเงินอุดหนุนฯจากรัฐบาลไปเป็นระยะแล้ว

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์