ส่อแห้ว! ขึ้นทะเบียนภูพระบาท-พิมายเป็นมรดกโลก ปองพลซัดเปลี่ยนรบ.บ่อยทำล่าช้า-บอร์ดอืด


ไทยส่อเค้าแห้วขึ้นทะเบียนมรดกโลก"ภูพระบาท-พิมาย"ปีนี้ (2552) เหตุมีเอกสารมากจนแปลไม่ทันเสนอที่ประชุมกรกฎาคมนี้ รวมทั้งยังไม่มีแผนพัฒนาเมืองพิมายออกมา "ปองพล" ซัดเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยต้นเหตุล่าช้า ระบุบอร์ดชุดใหม่ทำงานอืด ป่านนี้ยังไม่เคยเรียกประชุม จี้ รบ.ทบทวนโครงสร้างกรรมการใหม่

 
นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ความคืบหน้าการจัดทำเอกสาร และรายละเอียดของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี และโครงการเมืองพิมายเส้นทางอารยธรรมและเมืองบริวาร ประกอบด้วย อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ จ.บุรีรัมย์ และอุทยานแห่งชาติพิมาย จ.นครราชสีมา เสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกว่า กรมศิลปากรกำลังเร่งจัดทำเอกสารที่เรียกว่า Nomination File เพื่อนำเสนอต่อศูนย์มรดกโลก (World Heritage Center : WHC) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เนื่องจากอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และโครงการเมืองพิมายฯอยู่ในบัญชีรายชื่อรอการนำเสนอเป็นมรดกโลกที่จะต้องเสนอเอกสารให้ทันการประชุมคณะกรรการมรดกโลก 21 ประเทศ ในเดือนกรกฎาคม 2552 ที่ประเทศสเปน

"หลังจากทำเอกสารนอมิเนชั่นไฟล์เสร็จ กรมศิลป์จะต้องส่งไปยังศูนย์มรดกโลกที่กรุงปารีส เพื่อมอบหมายให้อิโคโมสสากล (ICOMOS International Paris) ประเมินคุณค่า ถ้าผ่านการประเมินจากอิโคโมสสากลจึงจะเข้าที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก เพื่อให้กรรมการ 21 ประเทศ พิจารณาเห็นชอบ ก่อนประกาศชื่อ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และโครงการเมืองพิมายฯเป็นมรดกโลก แต่หากกรรมการมีข้อทักท้วงหรือข้อสงสัย ไทยจะต้องนำข้อมูลมาเสนอเพิ่มเติมภายใน 1 ปี ทั้งนี้ การปรับปรุง และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และโครงการเมืองพิมายฯ หลังได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว ผมจะมอบหมายให้กรมศิลป์จัดทำแผนพัฒนาและตั้งงบประมาณ เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่จะสร้างรายได้เข้าประเทศ" นายธีระกล่าว

นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมพยายามทำเอกสารให้เสร็จตามกำหนด เพื่อเสนอศูนย์มรดกโลก แต่หากไม่ทันจริงๆ ก็ต้องเลื่อนการนำเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 2553 สำหรับปัญหาขณะนี้คือ มีเอกสารจำนวนมากและต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส จึงต้องตรวจสอบให้ละเอียดเพื่อป้องกันความผิดพลาด

แหล่งข่าวจากกรมศิลปากร กล่าวว่า คาดว่าจะจัดทำเอกสารนอมิเนชั่นไฟล์เสร็จ และเสนอศูนย์มรดกโลกได้ในเดือนตุลาคม 2552 ซึ่งไม่ทันการประชุมคณะกรรการมรดกโลกในเดือนกรกฎาคม 2552 แน่นอน ซึ่งจะส่งผลให้การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และโครงการเมืองพิมายฯต้องเลื่อนเป็นปี 2553 แทน นอกจากนี้ ในส่วนอุทยานแห่งชาติพิมายยังไม่มีการจัดทำแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนา เพื่อประกาศเขตพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติพิมาย และยังไม่ได้จัดระเบียบบ้านเรือนในอุทยานแห่งชาติพิมาย จึงเป็นไปได้ว่า อุทยานแห่งชาติพิมายจะไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินของอิโคโมสสากล

นายปองพล อดิเรกสาร อดีตประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่า ด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก กล่าวว่า สาเหตุที่ไทยไม่สามารถเสนอขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และโครงการเมืองพิมายฯเป็นมรดกโลกได้ทันตามเวลา เนื่องจากเปลี่ยนรัฐบาลปล่อย ที่สำคัญคือคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติ ชุดใหม่ 26 คน และปรับโครงสร้างของคณะกรรมการใหม่ ซึ่งเท่าที่ทราบคณะกรรมการชุดใหม่ยังไม่มีการเรียกประชุมแม้แต่ครั้งเดียว ไม่มีใครรู้ว่ารองนายกรัฐมนตรีคนใดจะมาเป็นประธานคณะกรรมการแห่งชาติ

"ผมพูดมาตลอดว่าการที่ ครม.เห็นชอบแต่งตั้งประธานคณะกรรมการแห่งชาติ มาจากฝ่ายเมือง จะไม่ส่งผลดีต่อการแก้ปัญหา และผลักดันการขึ้นทะเบียนมรดกโลก แต่จะยิ่งทำให้การทำงานล่าช้าออกไปอีก ดังนั้น รัฐบาลควรทบทวนเรื่องการปรับโครงสร้างของคณะกรรมการแห่งชาติใหม่ ว่าตกลงแล้วจะทำงานได้จริงหรือไม่ และไม่ควรที่จะคำนึงถึงแต่กรณีปราสาทพระวิหารอย่างเดียว จะต้องมองภาพรวมทั้งหมด" นายปองพลกล่าว

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์