สู้คดี20ปีศาลฎีกาชี้กทม.ชดใช้เหยื่อโป๊ะล่ม

สู้คดี20ปีศาลฎีกาชี้กทม.ชดใช้เหยื่อโป๊ะล่ม

ปิดคดีโป๊ะล่มท่าพรานนกหลังสู้คดีกันมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี ศาลฎีกาสั่ง กทม.ให้ชดใช้ค่าเสียหายเหยื่อ 12 ราย รวม 12.6 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ชี้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ กระทำการโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ปล่อยให้โป๊ะน้ำหนักเกินกว่ากำหนดจนล่ม เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ที่ห้องพิจารณาคดี 806 ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ศาลได้อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา

ในคดีที่ นางไสว ภู่สุวรรณ์ หรือ วุฒิสาหะ มารดาของ น.ส.รัชนี ภู่สุวรรณ์ ซึ่งเป็นญาติของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์โป๊ะล่มที่ท่าพรานนก ขณะรอลงเรือด่วนเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2538 พร้อมพวกรวม 12 ราย ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัทสุภัทรา จำกัด , บริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด , กรุงเทพมหานคร (กทม.) และ กรมเจ้าท่า เป็นจำเลยที่ 1-4 เรื่องละเมิดโดยเหตุเกิดจากความประมาท และการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ของพวกจำเลย โดยขอให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย ค่าขาดไร้อุปการ ะและค่าปลงศพให้แก่โจทก์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ระหว่างการพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้อง บริษัท สุภัทรา จำกัด จำเลยที่ 1 และ บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด จำเลยที่ 2 เนื่องจากได้ชดใช้ค่าเสียหายให้กับโจทก์บางส่วนเป็นที่พอใจแล้ว โดยศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำหน่ายคดี เฉพาะจำเลยที่ 1 และ 2 ออกจากสารบบความ และให้ยกฟ้องกรมเจ้าท่า จำเลยที่ 4 เนื่องจากเห็นว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ศาลพิเคราะห์สรุป ว่า ท่าเทียบเรือพรานนกที่เกิดเหตุ ไม่อยู่ในสภาพที่จะให้บริการประชาชนได้ เนื่องจากมีสภาพเก่าชำรุด

การก่อสร้างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยที่ 3 จะต้องสั่งให้หยุดการใช้งาน และสั่งให้มีการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง แต่ กทม. จำเลยที่ 3 กลับปล่อยให้ บริษัท สุภัทราฯ จำเลยที่ 1 และ บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยาฯ จำเลยที่ 2 ใช้โป๊ะเทียบเรือที่เกิดเหตุเปิดบริการแก่ประชาชน เพื่อรอขึ้นลงเรือข้ามฝากและเรือด่วนเจ้าพระยา โดยไม่ได้มีคำสั่งให้ซ่อมแซมแต่อย่างใด จึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นการฝ่าฝืนบทบังคับแห่งกฎหมายเพื่อป้องกันคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ ประชาชนโดยประมาทเลินเล่อ จนเป็นเหตุให้โป๊ะเทียบเรือจมลงแม่น้ำเจ้าพระยา และผู้ตายซึ่งอยู่บนโป๊ะเทียบเรือจมน้ำถึงแก่ความตาย จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้ กทม. จำเลยที่ 3 ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 และ 2 รวม 1,165,500 บาท , โจทก์ที่ 3  รวม 627,549 บาท , โจทก์ที่ 4 และ 5 รวม 1,920,000 บาท , โจทก์ที่ 6 รวม 1,200,000 บาท , โจทก์ที่ 7 รวม1,214,000 บาท , โจทก์ที่ 8 รวม 2,080,000 บาท , โจทก์ที่ 9 รวม 860,000 บาท ,โจทก์ที่ 10  รวม 698,442 บาท,  โจทก์ที่ 11 และ 12  รวม  2,850,750 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 12,616,241 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ฟ้องเมื่อปี 2539    

ขณะที่ นายวัชระ สุคนธ์ ทนายความโจทก์ เปิดเผยว่า คดีนี้โจทก์บางรายก็ถอนตัวไป และศาลจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 และ 2

เพราะเขาจ่ายค่าเสียหายให้กับโจทก์มาแล้วตั้งแต่ช่วงแรก ส่วนคดีอาญาก็ระงับไปแล้วตามสัญญาประนอมความ คงเหลือเพียงคดีแพ่งที่ กทม.ยังต่อสู้คดีอยู่ และศาลฎีกาก็มีคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐานในคดีนี้แล้ว ส่วนกรมเจ้าท่าจำเลยที่ 4 ศาลยกฟ้องเนื่องจากไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเพราะเหตุเกิดที่ท่าเทียบเรือไม่ใช่ เกิดระหว่างเล่นเรือ คดีนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า แม้บริษัทเอกชนจะเป็นผู้ดำเนินกิจการท่าเรือเดินเรือ แต่ส่วนราชการในฐานะผู้ให้สัมปทานก็ต้องเข้าไปตรวจตรา จะปล่อยปละละเลยอ้างว่าให้สัมปทานแก่เอกชนแล้วไม่ได้ หรือจะปัดความต้องรับผิดชอบไม่ได้ และขอวอนทางผู้ว่ากรุงเทพมหานครได้โปรดเร่งรัดจ่ายเงินให้ฝ่ายผู้เสียหาย ด้วย

ด้านผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับเหตุการณ์โป๊ะล่มนั้น เกิดเขึ้นเมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 14 มิ.ย. 2538 ประชาชนผู้ที่ไปใช้บริการท่าเรือพรานนกเพื่อโดยสารเรือด่วนเจ้าพระยา จำนวนกว่า 100 คน ได้เบียดเสียดกันลงไปยืนบนโป๊ะที่รับน้ำหนักได้เพียง 60 คน จึงทำให้โปีะจมลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา และทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 29 ราย บาดเจ็บอีกจำนวนมาก จนนำมาสู่การฟ้องร้องทางแพ่งดังกล่าว.


สู้คดี20ปีศาลฎีกาชี้กทม.ชดใช้เหยื่อโป๊ะล่ม


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์