สื่อนอกแฉ จนท.ไทย ขายโรฮิงญา ให้ขบวนการค้ามนุษย์

สื่อนอกแฉ จนท.ไทย ขายโรฮิงญา ให้ขบวนการค้ามนุษย์


เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2556 สำนักข่าวบีบีซีนิวส์ รายงานว่า ผลการสืบสวนโดยสำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษพบว่า เจ้าหน้าที่ไทยได้เคยขายชาวโรฮิงญาให้แก่ขบวนการค้ามนุษย์ เพื่อส่งต่อไปใช้แรงงานในมาเลเซียและสิงคโปร์

           รายงานระบุว่า ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาชาวมุสลิมโรฮิงญาจำนวนมากได้เดินทางอพยพข้ามทะเลอันดามันมายังประเทศไทยอันเนื่องมาจากเหตุความรุนแรงที่รัฐยะไข่ของพม่า แต่เรือของผู้อพยพถูกสกัดโดยตำรวจและกองทัพเรือไทย โดยมีข้อตกลงเพื่อขายกลุ่มผู้อพยพให้แก่ขบวนการค้ามนุษย์ ที่จะนำพวกเขาเดินทางต่อไปยังมาเลเซีย

           โดย นายอาห์เหม็ด หนึ่งในผู้อพยพชาวโรฮิงญา เปิดเผยว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เขาได้เดินทางออกจากรัฐยะไข่ โดยทิ้งภรรยาและลูก ๆ ทั้ง 8 คนไว้เบื้องหลัง หลังจากเรือประมงของเขาถูกทำลายในเหตุปะทะระหว่างชาวมุสลิมโรฮิงญาและชาวพุทธในยะไข่ เขาจึงตัดสินใจเดินทางพร้อมกับคนอื่นอีกราว 60 คน เพื่อหาเงินเลี้ยงดูครอบครัวด้วยเรือไม้โกโรโกโสนานถึง 13 วัน เพื่อข้ามทะเลอันดามัน มายังชายฝั่งทะเลของไทย

           เมื่อเขาและพวกถูกเจ้าหน้าของไทยจับกุมตัวไม่ไกลจากฝั่งมากนัก เขาคิดว่าประสบการณ์ที่แสนสาหัสกำลังจะผ่านพ้นไปแต่ที่จริงแล้วมันเพิ่งเป็นจุดเริ่มต้น ในคืนนั้นเองชาวโรฮิงญาทั้งหมด ถูกนำตัวขึ้นฝั่งไปยัง จ.ระนอง โดยใช้รถตำรวจ 2 ชั่วโมง หลังจากนั้นพวกเขาถูกจับแยกกัน และถูกนำตัวขึ้นรถ 6 คัน ที่มีขนาดเล็กกว่าและต้องซ่อนตัวอยู่ภายใต้ตาข่าย และถูกบังคับให้นอนเรียงกันเหมือนปลากระป๋อง ในขณะนั้นเขายังไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น แต่การซื้อขายมนุษย์ได้เกิดขึ้นแล้ว และชาวโรฮิงญาทั้ง 61 คน กำลังถูกนำตัวมุ่งลงใต้ไปยังมาเลเซียภายใต้การควบคุมของขบวนการค้ามนุษย์

           เมื่อพวกเขาออกจากรถที่ อ.สุไหง-โกลก ใน จ.นราธิวาส ก็ได้พบว่า ตนเองได้กลายเป็นนักโทษไปแล้ว อาห์เหม็ด กล่าวว่า เมื่อจะขับถ่าย พวกเขาต้องขุดดิน ทุกคนกิน นอน และขับถ่ายในสถานที่เดียวกัน ทั่วบริเวณเต็มไปด้วยกลิ่นไม่พึงประสงค์ บางครั้งถูกใช้เหล็กทุบตีหรือฟาดด้วยโซ่ตรวน

          
โดยขบวนการค้ามนุษย์ได้จ่ายเงินเพื่อซื้อตัวชาวโรฮิงญา และหวังที่จะเอาเงินคืนจากพวกเขา แต่ทั้งนี้ เขาและชาวโรฮิงญาคนอื่น ๆ ได้รับอนุญาตให้ใช้โทรศัพท์ได้เป็นครั้งคราวเพื่อขอความช่วยเหลือจากเพื่อนหรือญาติพี่น้อง เขากล่าวว่า นายหน้าค้ามนุษย์บอกว่าพวกเขาซื้อชาวโรฮิงญามาจากตำรวจ และหากพวกเขาไม่ให้เงินก็จะไม่มีวันถูกปล่อยตัว พร้อมกับกล่าวด้วยว่า "เราไม่สนหากพวกแกจะตายที่นี่"

           สำหรับราคาชีวิตของอาห์เหม็ดอยู่ที่ 40,000 บาทไทย โดยเขาได้โทรหาภรรยา และแนะนำให้เธอขายวัว แต่ก็ได้เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น หลังถูกกักกันตัวนานร่วมเดือน พวกเขาเริ่มสิ้นหวัง แต่ในที่สุดก็มีเพื่อนชาวโรฮิงญาที่อยู่ในไทยมาช่วยไถ่ตัวเขาออกไปได้สำเร็จ เขานั่งรถบัสมุ่งขึ้นเหนือไปยัง จ.ภูเก็ต และแม้ว่าจะเขาจะต้องเผชิญกับเหตุการณ์ร้ายมากมาย รวมถึงได้รับการปฏิบัติอย่างป่าเถื่อน แต่เขากลับไม่เรียกร้องอะไร พร้อมกับเผยว่า เขาไม่โกรธเจ้าหน้าที่ และไม่ขอยึดเอาความโกรธแค้นไว้กับตัวอีก เขาโชคดีที่ยังมีชีวิตอยู่รอดมาได้

           อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบว่ามีเรือที่บรรทุกชาวโรฮิงญาเดินทางเข้าไทยเกือบทุกวัน และอาห์เหม็ดเองก็ไม่ใช่คนเดียวที่ถูกกระทำเช่นนี้

           นอกจากนี้ หนึ่งในนายหน้าค้ามนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายครั้งนี้ เปิดเผยว่า ได้มีการโอนเงินจากมาเลเซีย 1,500,000 บาท ให้แก่เจ้าหน้าที่ในไทย ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวได้รับการยืนยันจากสมาชิกชาวโรฮิงญาที่อาศัยในไทย

           อย่างไรก็ตาม ทางด้านทางการไทย กล่าวว่า มีเจ้าหน้าที่ที่ทุจริตอยู่เพียงไม่กี่ราย แต่ที่ระนอง เมืองชายแดนที่สำคัญ การตกลงกับนายหน้าค้ามนุษย์ตอนนี้ถือว่าเรื่องที่ปกติ เมื่อชาวโรฮิงญาถูกพม่าปฏิเสธในการให้สัญชาติ การส่งตัวกลับก็เต็มไปด้วยปัญหานานัปการ ขณะที่ไทยเองก็ไม่ต้องการสนับสนุนให้คนเข้าใจว่าเป็นประเทศสำหรับผู้อพยพที่มีปัญหาเรื่องปากท้อง

           เจ้าหน้าที่รายหนึ่งกล่าวด้วยว่า ชาวโรฮิงญาอยากไปมาเลเซียและชาวมาเลเซียยอมรับคนเหล่านี้เพราะว่าพวกเขาเป็นมุสลิมเหมือนกัน ไม่ว่าพวกเขาจะพยายามมากเพียงใดที่จะไปที่นั่น แต่คำถามก็คือ พวกเขาจะไปที่นั่นได้อย่างไร

           มาเลเซียอนุญาตให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติเข้าทำการประเมินคำขอลี้ภัยของชาวโรฮิงญาขณะที่ประเทศไทยไม่ทำเช่นนั้น โดยไทยสงวนสิทธิ์การพิจารณาไว้เอง ว่าใครสมควรที่จะรับไว้เป็นผู้อพยพ

           ทั้งนี้ ภายหลังจากที่สำนักข่าวบีบีซีได้แจ้งเรื่องดังกล่าวไปยัง นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้คำมั่นว่า ขณะนี้รัฐบาลไทยกำลังดำเนินการสืบสวนเรื่องดังกล่าวอยู่ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยได้ดูแลผู้อพยพเหล่านี้อย่างดีที่สุด โดยคำนึงถึงพื้นฐานของหลักการด้านมนุษยธรรมเป็นหลัก แต่เรื่องนี้จะต้องทำงานร่วมกันผ่านความร่วมมือระดับนานาชาติ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและถาวร



เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์