สิ่งที่รัฐมองข้ามไป กับของขวัญชิ้นใหญ่ ในวันเด็ก


เมื่อพูดถึงวันเด็ก หลายคนจะนึกถึงแต่งานรื่นเริง อารมณ์ Feel good แต่ทว่าอีกมุมหนึ่ง น.ส.ธิติมา หมีปาน หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย  

มูลนิธิกระจกเงาบอกกับ
ไทยรัฐออนไลน์ ว่า ยังมีเรื่องเด็กๆ ที่สะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่รัฐบาทควรใส่ใจ สนับสนุน ให้เรื่องนี้เป็นวาระเร่งด่วนคู่ขนานไปกับประเด็น
Feel good อย่างที่ผู้มีอำนาจรัฐชอบ และถนัดในการสร้างภาพ

เพราะหากย้อนไปดูข้อมูลกันจริงๆ นับตั้งแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบัน ศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์
  มูลนิธิกระจกเงา ได้รับแจ้งเหตุการหายตัวไปของคนในสังคมเป็นจำนวนมาก โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ถึง 1,000 กรณี หรือคิดเป็น 63% ของสถิติคนหายทั่วประเทศเลยทีเดียว นั่นแสดงให้เห็นว่า นอกจากเด็กจำนวนหนึ่งที่กำลังมีอารมณ์ Feed good
เพราะผู้ใหญ่ป้อนให้แล้ว ยังมีเด็กในสังคมอีกจำนวนมากมายเหลือเกินที่ยังรอการช่วยเหลือเพื่อกลับคืนสู่บ้าน

หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย
  มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นสภาพปัญหาที่กำลังทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทั้งยังมีความซับซ้อนของปัญหามากขึ้น และสาเหตุที่นำพาให้เด็กกลุ่มนี้หายตัวไปนั้น  มีอยู่หลากหลายประการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการลักพาตัว การล่อลวงเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ การล่อลวงเพื่อบังคับใช้แรงงาน  การถูกล่อลวงจากภัยเทคโนโลยี   หรือปัญหาภายในครอบครัวที่ผลักดันให้เด็กหนีออกจากบ้าน  


"แต่ไม่ว่าจะเป็นการหายไปด้วยสาเหตุใดก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุด  คือ การกลับคืนสู่อ้อมกอดของครอบครัวอย่างปลอดภัย"

ดังนั้นเนื่องในวันเด็ก
  ศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์  มูลนิธิกระจกเงา จึงออกมาวอนหน่วยงานภาครัฐ ทั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ    กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์   ตลอดจนเครือข่ายสื่อมวลชน ให้ตระหนักถึงสภาพปัญหา และความสำคัญของเรื่องนี้อย่างจริงจัง  โดยให้ถือว่าเรื่อง เด็กหาย นี้เป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องมีการผลักดันในระดับนโยบาย ทั้งเชิงป้องกันและมาตรการการติดตามหาเด็ก

น.ส.ธิติมา ได้เสนอแนะแนวทางการดำเนินการเรื่องเด็กหาย  ดังต่อไปนี้


1. ในกรณีที่มีการแจ้งความเด็กหายนั้น พนักงานสอบสวนที่เข้าเวร ณ ขณะนั้นต้องรีบดำเนินการรับแจ้งความกรณีเด็กหายออกจากบ้านทุกกรณี โดยต้องไม่ปฏิเสธการรับแจ้งความเด็กหาย หรือยกเงื่อนไขเรื่องเวลาที่ต้องหายครบ 24 ชั่วโมงมาเป็นเหตุผลในการไม่ยอมรับแจ้งความ

2. ควรมีหน่วยงานของภาครัฐที่มีภารกิจในการประสานงานข้อมูลและติดตามกรณีเด็กหายและคนหายโดยเฉพาะ ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของสถานีตำรวจทั่วประเทศในการประสานงานข้อมูลคนหาย โดยบทบาทและหน้าที่ตรงจุดนี้ ควรเป็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มิใช่เป็นของหน่วยงานขององค์กรพัฒนาเอกชน เช่นที่ผ่านมา

สำหรับข้อที่ 3. น.ส.ธิติมา
 บอกว่า ควรมีกฎหมายคนหายในประเทศไทย เพื่อเป็นแนวบรรทัดฐานในการสืบสวนสอบสวนติดตามเกี่ยวกับเรื่องคนหาย โดยในระหว่างกระบวนการผลักดันเสนอกฎหมายดังกล่าว เพื่อเป็นการบรรเทาความเสียหายเบื้องต้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติควรพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีลักษณะคนหายพลัดหลงให้เป็นแนวทางสืบสวนสอบสวนเบื้องต้นจนกว่าจะมีกฎหมายเกี่ยวกับคนหายในประเทศไทย

4. ในกรณีเร่งด่วน หน่วยงานภาครัฐ ควรขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนทุกแขนง ในการใช้พื้นที่ประชาสัมพันธ์ภาพ
   ซึ่งจะช่วยให้ทราบเบาะแสและติดตามได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
และข้อเสนอแนะข้อสุดท้ายก็คือเมื่อเกิดเหตุการณ์เด็กหายโดยเฉพาะในกรณีลักพาตัว หน่วยงานในพื้นที่ อาทิ สถานีตำรวจในท้องที่ โรงเรียน หรือหน่วยงานอื่นๆ ถือเป็นหน่วยงานสำคัญ ในการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ต่างๆเพื่อเป็นการเตือนภัยเรื่องเด็กหาย ตามสถานที่ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย

อย่างไรก็ดี ที่สุดแล้วต้องไม่ลืมว่านอกเหนือจากความรื่นเริงบันเทิงใจของเด็กกลุ่มหนึ่งแล้ว ยังมีเด็กอีกกลุ่มใหญ่ที่รอขอขวัญจากผู้มีอำนาจ นอกเหนือจากคำขวัญวันเด็กไม่ถึง 1 บรรทัดในทุกๆ ปี.
 

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์