สินค้าแพงรับเปิดเทอมใหม่ ผุ้ปกครองอ่วมเจอ3เด้ง ของแพง รายได้ไม่พอ หนี้สินเพิ่ม


เปิดเทอมใหม่หัวใจว้าวุ่น ม.หอการค้าไทยเผยผลสำรวจ ผู้ปกครองเจอวิกฤต 3 ด้าน ทั้งสินค้าแพง รายได้ไม่พอ หนี้สินเพิ่ม ส่งผลเงินสะพัดขยายตัวแค่ 5.4% จี้ กยศ.สนับสนุนเงินกู้เรียนเพิ่ม

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจผลกระทบของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอม จำนวน 1,183 ราย ระหว่างวันที่ 3-7 พฤษภาคม 2554 ว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่ระบุว่าช่วงเปิดเทอมปีนี้ประสบปัญหาเข้าขั้นวิกฤตใน 3 ด้าน คือ สินค้ามีราคาแพงขึ้น มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย และมีหนี้สินเพิ่มขึ้น โดย 42.8% ระบุว่าค่าใช้จ่ายโดยรวมเพิ่มขึ้น เฉลี่ยต่อราย 6,939.9 บาท ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นในทุกด้าน ทั้งค่าหนังสือ ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเสื้อผ้า รองเท้า ค่าบำรุงโรงเรียน (กรณีเปลี่ยนโรงเรียนใหม่ หรือแป๊ะเจี๊ยะ) ค่าเล่าเรียน/ค่าหน่วยกิต/ค่าบำรุงโรงเรียน (ตามปกติที่ไม่มีสิทธิเรียนฟรี 12 ปี) จึงประเมินว่าจะมีเงินสะพัดในช่วงเปิดเทอมปี 2554 มูลค่า 46,980 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ที่มีมูลค่า 44,573 ล้านบาท หรือขยายตัว 5.4% ถือว่าเป็นอัตราขยายตัวที่ไม่สูงนัก สะท้อนถึงการระมัดระวังต่อการใช้จ่าย หากเปรียบกับเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 4.4% เงินสะพัดควรขยายตัว 7-8%

ทั้งนี้ ในการสำรวจยังพบว่า ผู้ปกครอง 63% ระบุว่ายังมีเงินเพียงพอกับค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม

โดยใช้เงินเดือนและเงินออมในการใช้จ่าย ส่วนอีก 37% ระบุว่ามีเงินไม่เพียงพอ ต้องจำนำทรัพย์สิน กู้เงินในระบบ กู้เงินนอกระบบ ยืมญาติพี่น้อง เบิกเงินสดจากบัตรเครดิต เสี่ยงโชค และผ่อนชำระเป็นงวด สำหรับการสนับสนุนจากนโยบายเรียนฟรี 12 ปี ส่วนใหญ่ 82.4% ได้รับการสนับสนุน และมีความพอใจ 8.9 คะแนนจากเต็ม 10 คะแนน ผู้ปกครองส่วนใหญ่ 40% มีทรรศนะต่อระบบการศึกษาไทยปัจจุบันและใน 10 ปีที่ผ่านมาไม่แตกต่าง และอยากให้ปรับปรุงแก้ไข ในด้านมาตรฐานการศึกษา ทุนการศึกษา เน้นหลักสูตรเรียนจบมาแล้วมีงานทำ ค่ารถโรงเรียนฟรี และหนังสือฟรี รวมถึงพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา มาตรฐานการศึกษาเดียวกัน พัฒนามารยาทนักเรียนนักศึกษา และพัฒนาให้สอดคล้องสภาพในปัจจุบัน

ผู้ปกครองได้ร้องขอกันมากในเรื่องการปล่อยกู้ของ กยศ.ในปีนี้ลดลงมาก จากปีก่อน 9.6 หมื่นราย เหลือ 5.3 หมื่นราย ในปี 2554 ค่าใช้จ่ายต่อคนอยู่ที่ 6 หมื่นบาท ในระยะ 4 ปี ก็วิตกว่าหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากเงินกู้ยืม กยศ. ทำให้ต้องกู้เงินนอกระบบและเป็นเรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลให้การสนับสนุนเป็นการด่วน นางเสาวณีย์กล่าว

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า

เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณดีขึ้นปลายเดือนมิถุนายน และทำให้ไตรมาส 2 ของปีนี้ขยายตัว 3.7% เพราะปัจจัยร้ายแรงต่อราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นไม่มี ราคาน้ำมันน่าจะไม่เกิน 110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เงินกระตุ้นการใช้จ่ายและเศรษฐกิจในช่วง 1-2 เดือนนี้ จากการเปิดเทอม 4.6 หมื่นล้านบาท ใช้จ่ายวันวิสาขบูชา 1.5 หมื่นล้านบาท เงินรณรงค์หาเสียงกระตุ้นเศรษฐกิจอีกเดือนละ 4-5 หมื่นล้านบาท



เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์