สารเคมีทำปลาตายเกลื่อนบางแสน

"ใช้ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลงมากขึ้น"


เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงกรณีเกิดเหตุปลาใหญ่น้อยพากันขึ้นมาตายที่บริเวณหาดบางแสนว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนรูปแบบการทำการเกษตรมาใช้ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลงมากขึ้น

กรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นที่หาดบางแสนนั้น ก็เป็นเพราะปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ หรือการที่แพลงตอนพืช ในน้ำได้รับธาตุอาหารมากเกินไป จนเพิ่มปริมาณมากกว่าปกติ โดยเฉพาะธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และสภาวะที่เหมาะสมจึงเจริญเติบโตเพิ่มจำนวนขึ้นรวดเร็ว

"แพลงตอนมีมากขึ้น"


ทำให้น้ำทะเลมีสีที่เปลี่ยนไปตามสีของแพลงตอนที่มีมาก ขณะเดียวกันทำให้ออกซิเจนในน้ำบริเวณดังกล่าวเจือจาง เป็นเหตุให้ปลาตาย หรือลอยคอขึ้นมารับออกซิเจนบริเวณผิวน้ำ

"แพลงตอน ที่เพิ่มมากขึ้น จนสร้างปัญหาทำให้ปลาตายนั้น เพราะได้รับธาตุอาหาร โดยเฉพาะไนโตรเจน ฟอสฟอรัส จากน้ำในแปลงเกษตรหรือนาข้าว ที่ไหลลงทะเล หากช่วงไหนแดดดี แดดจ้า อาหารและแสงที่อุดมสมบูรณ์ จะทำให้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และสร้างปัญหาในที่สุด" ดร.ธรณ์กล่าว

"ปรากฎการณ์ขี้ปลาวาฬ"


เมื่อถามว่า ในอนาคตจะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแบบนี้ได้หรือไม่ ดร.ธรณ์กล่าวว่า ตราบใดที่ในพื้นที่เกษตรกรยังมีการใช้สารเคมี กับปุ๋ยเคมี ที่ค่อนข้างมากและรุนแรง

เมื่อฝนตกน้ำฝนจะชะเอาสารเคมีพวกนั้นลงไปในทะเลอยู่ปัญหาปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬก็ไม่มีวันหมด เรื่องนี้เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาจากการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ครบวงจร ปัญหาขี้ปลาวาฬจะไม่มีหากไร่นาไม่ใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารเคมี ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์