สั่งลดปริมาณน้ำเขื่อนเจ้าพระยาจนท.เร่งกู้ซากเรือ


เผยเครื่องฟอกเพิ่มออกซิเจนช่วย'ชีวิตปลา'

ชาวบ้านปลาบปลื้มปีติ-สำนึกในพระเมตตาพระเทพ หลังพระราชทานเครื่องฟอกออกซิเจน 12 เครื่อง ติดตั้งในพื้นที่นนทบุรีแล้วเสร็จ

ได้ผลทันทีค่าออกซิเจนในน้ำเพิ่มขึ้นจนสัตว์น้ำสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่ไม่ประมาทสั่งเฝ้าดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอดเวลา ส่วนการกู้ซากเรือน้ำตาลมั่นใจอีก 4 วันสำเร็จ พร้อมเร่งสร้างแนวป้องกันตลิ่งพัง เตรียมแก้ระเบียบกรมเจ้าท่า ปรับปรุงยกเครื่องเรือลากจูง ป้องกันปัญหาเรือล่มซ้ำซาก วอนชาวบ้านอย่าจับปลาที่ลอยขึ้นมาเหนือน้ำกิน หวั่นทำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาสูญพันธุ์

ความคืบหน้าการกู้เรือน้ำตาลที่ล่มบริเวณหมู่ 2 ต.ภูเขาทอง อ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อช่วงเช้าวันที่ 4 มิ.ย. นายวิทยา ผิวผ่อง ผวจ.พระนครศรีอยุธยา ได้เดินทางมาตรวจความคืบหน้าการกู้เรือ โดยทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการสูบน้ำตาลที่อยู่ในท้องเรือออกเหลือเพียง 8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในส่วนที่เหลือมีการใช้จุลินทรีย์โรยใส่ไปในท้องเรือ เพื่อให้กินแบคทีเรียที่อยู่ในน้ำ ล่าสุดค่าออกซิเจนในน้ำที่สถานีตรวจวัดปริมาณน้ำบางไทร มีค่าเพิ่มสูงขึ้นเป็น 3 มิลลิกรัมต่อลิตร หลังจาก 2 วันก่อนค่าน้ำในจุดดังกล่าวเหลือเพียง 0.4  มิลลิกรัมต่อลิตร

สำหรับการแก้ปัญหากระแสน้ำที่กัดเซาะตลิ่งตอนนี้ กรมเจ้าท่าได้นำเครื่องจักรตอกเสาเข็ม ซึ่งเป็นไม้ยูคาลิปตัสขนาดยาว 7 เมตร ตลอดแนวตลิ่งที่พัง คาดว่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 5 มิ.ย. แล้วจะใช้กระสอบทรายและแท่งปูนขนาดใหญ่ทิ้งลงไปในแม่น้ำ เพื่อทำเป็นแนวป้องกันไม่ให้น้ำกัดเซาะตลิ่งเพิ่มขึ้นอีก ขณะที่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้บริเวณจุดเกิดเหตุต้องประสบกับมลพิษกลิ่นของน้ำตาลส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วบริเวณ

ขณะเดียวกัน นายถวัลย์รัช อ่อนศิระ อธิบดีกรมเจ้าท่า พร้อมด้วย นาวาโทรชต ผกาฟุ้ง ผู้อำนวยการ สำนักงานเจ้าท่าพระนครศรีอยุธยา ได้เดินทางมาดูการกู้ซากเรือ โดยนายถวัลย์รัช เปิดเผยว่า ได้อนุญาตให้เรือบรรทุกสินค้าเฉพาะที่จะส่งสินค้าออกไปยังต่างประเทศสามารถขนส่งสินค้าได้ตามปกติ แต่จะต้องพ่วงไม่เกิน 2 ลำ และต้องมีเรือยนต์ลากจูงหัวท้ายเพื่อความปลอดภัย ซึ่งหากผู้ประกอบการรายใดฝ่าฝืน เจ้าท่าอยุธยา ซึ่งจอดเรือลอยลำตรวจสอบการสัญจรทางน้ำ จะดำเนินการจับปรับทันที และต้องมีใบอนุญาตการขับเรือด้วย ซึ่งขณะนี้เรือบรรทุกสินค้าเริ่มการเดินเรือแล้ว

ด้านนาวาโทรชต กล่าวว่า ส่วนเรื่องของการกู้เรือน้ำตาลที่จม หลังจากที่สูบน้ำตาลหมดแล้วยังไม่สามารถดำเนินการอย่างใดได้ เนื่องจากกระแสน้ำยังแรงอยู่ แต่คาดว่าวันจันทร์ที่ 6 มิ.ย. ระดับน้ำจะลดลง จากนั้นนักประดาน้ำจะลงไปทำการซ่อมแซมรอยแตกของเรือ แล้วจึงสูบน้ำออกเพื่อให้เรือลอยก่อนจะถอยออกจากฝั่ง คาดว่าหากเป็นไปตามแผนก็จะสามารถนำเรือออกได้ในวันพุธที่ 8 มิ.ย. หรืออีก 4 วันข้างหน้านี้

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จะขอให้กรมชลประทานลดปริมาณน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนเจ้าพระยาจาก 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เหลือ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อให้กระแสน้ำเชี่ยวกรากลดลง จะได้กู้เรือได้ คาดว่าวันที่ 5 มิ.ย. กระแสน้ำจะเริ่มลดลง จากนั้นบริษัทเจ้าของเรือน้ำตาลจะใช้เวลา 2 วัน ลงไปติดตั้งอุปกรณ์กู้เรือ แล้วสูบน้ำออก เพื่อให้เรือลอยขึ้นมา คาดว่าจะใช้เวลาอีก 4 วันจะกู้เรือที่ล่มได้

ทั้งนี้กรมเจ้าท่าจะแก้ไขกฎระเบียบเรื่องเรือลากจูงให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ให้สามารถลากจูงเรือได้ เพราะอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น เนื่องจากเรือลากจูงมีขนาดเล็ก เมื่อเจอกระแสน้ำแรง ๆ จึงไม่สามารถประคองเรือขนส่งขนาดใหญ่ได้ นอกจากนี้อยากขอร้องชาวบ้านบริเวณที่เกิดเหตุที่จับปลาที่ลอยขึ้นมาบริเวณผิวน้ำเพราะขาดออกซิเจนว่า อย่านำไปกิน เพราะส่วนใหญ่เป็นปลาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ขนาดใหญ่ที่หายาก เช่น ปลากระเบน ขอให้นำไปเลี้ยงในน้ำสะอาดไว้ก่อน เมื่อน้ำเสียผ่านไปแล้ว ค่อยปล่อยคืนสู่ธรรมชาติภายหลัง เพื่อไม่ให้สูญพันธุ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเรือลากจูงธวัชวารินทร์ได้จมน้ำบริเวณหมู่ 2 ต.ภูเขาทอง อ.พระนครศรีอยุธยา บริเวณที่เรือบรรทุกน้ำตาลจม ขณะลากเรือมาช่วยเหลือการขนถ่ายน้ำตาล เป็นเหตุให้นายธวัชชัย เชาว์วิไล อายุ 36 ปี คนขับเรือจมน้ำหายไปเมื่อกลางดึกวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา หน่วยประดาน้ำของสมาคมอยุธยารวมใจ ได้ทำการค้นหาอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งเมื่อเวลา 00.10 น. วันเดียวกันนี้ ก็พบศพนายธวัชชัยลอยขึ้นอืดบริเวณหน้าวัดไก่เตี้ย ต.บ้านรุน อ.พระนครศรีอยุธยา ต่อมาทางญาติผู้ตายได้เดินทางมาดูศพ ยืนยันว่าผู้เสียชีวิตคือนายธวัชชัย และไม่ติดใจในการเสียชีวิต พร้อมขอรับศพไปบำเพ็ญกุศล

ส่วนทางด้านพนักงานสอบสวน สภ.พระนครศรีอยุธยา ได้ภาพคลิปวิดีโอจากชาวบ้านที่อยู่ใกล้กับจุดเกิดเหตุซึ่งถ่ายเอาไว้ ขณะที่เรือน้ำตาลทรายแดง 2,400 ตัน พุ่งชนตอม่อสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนที่จมลง เพื่อใช้นำมาเป็นหลักฐานในการเรียกร้องความเสียหายกับเรือบรรทุกน้ำตาล

ทั้งนี้ จังหวัดต้องประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ และจะต้องเป็นผู้ที่ได้ขึ้นทะเบียนผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกับกรมประมงแล้วเท่านั้น ในกรณีที่ประชาชนจับสัตว์น้ำที่ลอยขึ้นมา เพื่อนำไปจำหน่ายหรือบริโภคนั้น หากนำไปปรุงสุกก็สามารถรับประทานได้ไม่เป็นอันตราย เพราะปลาที่ตายไม่ได้เกิดจากสารพิษ แต่เป็นการตายที่เกิดจากค่าออกซิเจนต่ำ ทั้งนี้ ขอฝากเตือนให้ผู้เพาะเลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ยังไม่เกิดความเสียหายตั้งแต่ อ.พระนครศรีอยุธยา เรื่อยมาจนถึงปากแม่น้ำ ให้ระวังภัยจากมวลน้ำเสียที่เกิดขึ้น ขอให้ย้ายปลาที่เลี้ยงออกจากบริเวณที่มวลน้ำเสียไหลผ่าน หรือจับปลาที่พร้อมจำหน่ายออกโดยเร็วที่สุด” อธิบดีกรมประมง กล่าว.



เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์