“สัมผัสสุริยคราส งานมหกรรมสุริยุปราคา 15 มกราคมนี้”

นาวาอากาศเอกฐากูร เกิดแก้ว  หัวหน้าโครงการการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) กล่าวว่า

ในวันที่ 15 มกราคม 2553 จะเกิดปรากฏการณ์ “สุริยุปราคาวงแหวน” ขึ้น โดยมีเส้นทางของแนวคราสวงแหวนกว้างกว่า 300 กิโลเมตร ตลอดเส้นทางของแนวคราสใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง 45 นาที  แนวคราสวงแหวนได้เริ่มต้นที่ทวีปแอฟริกา  ผ่านประเทศสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก  ยูกันดา เคนยาและโซมาเลีย  แล้วออกจากทวีปแอฟริกาเข้าสู่มหาสมุทรอินเดีย หลังจากนั้นจะผ่านเข้าสู่ทวีปเอเชีย  ผ่านบังกลาเทศ  อินเดีย พม่าและเข้าสู่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน  สำหรับปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนสามารถมองเห็นได้เป็นบริเวณกว้างตามบริเวณที่เงามัวของดวงจันทร์พาดผ่าน  เช่น ยุโรปตะวันออก  ทวีปแอฟริกา  เอเชียและประเทศอินโดนีเซีย


สำหรับ ในประเทศไทย จะเริ่มสังเกตปรากฏการณ์ครั้งนี้เป็นสุริยุปราคาแบบบางส่วน
 
โดยสามารถสังเกตเห็นได้ทั่วทุกภูมิภาค โดยแต่ละภูมิภาคจะเห็นปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในเวลาที่แตกต่างกัน  ที่กรุงเทพฯ นั้นดวงจันทร์จะเริ่มเคลื่อนเข้าสู่สัมผัสที่ 1 ในเวลาประมาณ 14.00 น.  และสิ้นสุดเหตุการณ์ประมาณเวลา 17.00 น. ปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนในครั้งนี้จะเกิดนานที่สุดในภาคเหนือ  คือ  ประมาณ 3 ชั่วโมง 6 นาที ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน  โดยดวงอาทิตย์จะถูกดวงจันทร์บดบังมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 77 ของพื้นที่ดวงอาทิตย์


น.อ.ฐากูร กล่าวว่า

เพื่อให้เกิดความตระหนักและความตื่นตัวทางดาราศาสตร์ และเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ทางดาราศาสตร์ แก่ นักเรียน นักศึกษา บุคลากร และประชาชนที่สนใจทั่วไป ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงร่วมกับ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม และฝ่ายมัธยม, คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร และ ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) จัดกิจกรรม “มหกรรมสุริยุปราคา” ขึ้น ในวันที่ 15 มกราคม 2553 ระหว่างเวลา 13.00 - 17.00 น.  ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าพระบรมราชานุเสาวรีย์สองรัชกาล ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
 

“โดยทางสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ จะร่วมกันจัดตั้งกล้องโทรทรรศน์ติดตั้งแผ่นกรองแสงอาทิตย์กว่า 40 ตัว  และมีแผ่นกรองแสงสำหรับดูดวงอาทิตย์สำหรับแจกผู้ร่วมงานอีกกว่า 1,000 ชุด ซึ่งในระหว่างการชมจะมีวิทยากรดูแลและบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับสุริยุปราคาตลอดงาน นอกจากนี้ยังมีโซนการจัดแสดงท้องฟ้าจำลองกลางแจ้งของโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม  และเล่นเกมส์ตอบปัญหาดาราศาสตร์กับนิสิตคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ตลอดงานอีกด้วย
  

อย่างไรก็ดีปรากฏการณ์สุริยุปราคา เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ทางคณะผู้จัดงานจึงใคร่ขอเชิญชวนโรงเรียน, สถาบันการศึกษาต่างๆ และประชาชนที่มีความสนใจร่วมลุ้นชมปรากฏสุริยุปราคาบางส่วนตามวันและเวลาดังกล่าว น.อ.ฐากูร กล่าว


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์