สัญญาณโลกร้อนฝนตกผิดปกติเตือนรับมือฤดูฝนมาเร็ว

ฝนหลงฤดูถล่มกรุงเทพฯ 4 ชั่วโมง กรมอุตุฯ เผยเหตุจากลมตะวันออกเฉียงใต้พัดผ่านช่วงเปลี่ยนฤดูกาล คาดฝนตกอีก 2-3 วัน นักวิชาการเชื่ออากาศแปรปรวน ภาวะโลกร้อนเริ่มส่งสัญญาณ เผยอาจต้องเตรียมรับหน้าฝนตั้งแต่เดือน ม.ค.
 

เมื่อเช้า ที่ผ่านมา เกิดฝนตกหนักทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ การจราจรติดขัดหลายจุด นายสัญญา ชีนิมิตร รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ฝนที่ตกในหลายพื้นที่ของ กทม.เป็นเวลากว่า 4 ชั่วโมง ส่งผลให้บริเวณพื้นที่ฝั่งตะวันออกของ กทม. อาทิ เขตสะพานสูง มีน้ำท่วมขังบนผิวถนน 150 มิลลิเมตร บริเวณซอยย่อยถนนกรุงเทพกรีฑา เขตประเวศ 130 มิลลิเมตร เขตบึงกุ่ม 80 มิลลิเมตร และพื้นที่ชั้นใน อาทิ บริเวณถนนหน้าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เขตคลองเตย มีน้ำท่วมขังบนผิวถนน 60 มิลลิเมตร เขตจตุจักร และเขตดินแดง 45-50 มิลลิเมตร ทำให้การจราจรในพื้นที่ดังกล่าวติดขัดและเคลื่อนตัวได้ช้า เนื่องจากระบบระบายน้ำค่อนข้างช้า เพราะหน้าตะแกรงท่อระบายน้ำบนผิวถนนมีเศษขยะและเศษใบไม้อุดตันจำนวนมาก กทม.จึงส่งเจ้าหน้าที่หน่วยเบสต์ เข้าพื้นที่เร่งเก็บเศษขยะบริเวณปากท่อระบายน้ำ ทำให้ระบายน้ำบนผิวถนนได้คล่องขึ้น

 ส่วนสาเหตุที่เกิดฝนตกผิดฤดูนั้น นายสมชาย ใบม่วง ผู้อำนวยการสำนักพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า

เกิดจากแนวลมพัดสอบของลมใต้ และลมตะวันออกเฉียงใต้ปกคลุมประเทศไทยตอนบนพัดปกคลุมพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นสภาพอากาศที่กำลังเข้าเปลี่ยนฤดู จากหน้าหนาวเข้าสู่หน้าร้อน ลักษณะนี้จะทำให้มีฝนตกในระยะ 2-3 วันต่อจากนี้ และจากนั้นในวันที่ 31 มกราคม-1 กุมภาพันธ์นี้ บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนระลอกใหม่จะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ทำให้มีฝนตกและอุณหภูมิจะลดลง อย่างไรก็ตาม คาดว่าจากนั้นในช่วงวันที่ 2-5 กุมภาพันธ์นี้ บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน มีกำลังอ่อนลงและมีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทยและประเทศไทย

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (START) กล่าวว่า

เป็นที่น่าสังเกตว่าฝนที่ตกหนักในหลายพื้นที่โดยเฉพาะ กทม. ปริมณฑล และพื้นที่ต่างจังหวัด ถึงแม้จะเกิดจากแนวลมพัดสอบในช่วงที่มีการเปลี่ยนลมมรสุมก็จริง แต่ก็ถือว่ามาผิดช่วง ผิดเวลา และยังมาแรงผิดปกติด้วย ทั้งนี้ตามปกติฝนตกในช่วงดังกล่าวที่เรียนกว่าฝนชะช่อมะม่วงน่าจะมาช่วงเดือนกุมภาพันธ์ หรือเดือนมีนาคม แต่หนนี้มีปัจจัยเรื่องสภาพอากาศ ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่มีอากาศเย็นมาเป็นระลอกๆ และอุ่นๆ เย็นอยู่หลายช่วง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้อากาศร้อนชื้นมาเจอกับอากาศเย็น ทำให้ฝนตกหนักเหมือนกับกรณีที่เกิดหมอกหนาหลายครั้งในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา
  

 “เริ่มสังเกตว่าช่วงเดือนมกราคมของหลายปีที่ผ่านมา กลายเป็นเดือนที่มีฝนมากขึ้น ซึ่งผมตั้งข้อสังเกตว่ามีความเป็นไปได้ว่าจะมีอิทธิพลจากภาวะโลกร้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งไม่ใช่ว่าต้องเกิดเป็น ประจำทุกปี หรือถ้าเกิดซ้ำกันก็เริ่มชัดขึ้น และหากชัดเจนแล้ว อนาคตต่อไปก็อาจจะต้องเตรียมการที่จะรับฝนต้นช่วงตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นไป แทนที่จะดูฝนในฤดูฝนปกติคือระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการทำวิจัยและคาดการณ์ปริมาณฝนในช่วงปี 2551 ให้กรมชลประทาน คาดว่าฝนปีนี้จะปกติ คือไม่มากและไม่น้อยจากค่าเฉลี่ย โดยอยู่ระหว่างการสรุปผลการวิจัยเชิงสถิติให้แก่กรมชลประทาน จึงจะเปิดเผยรายละเอียดได้” ดร.อานนท์ กล่าว
 

 ด้าน ดร.จิรพล สินธุนาวา นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล และอุปนายกสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า

ฝนที่ตกลงมานั้นเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีของประเทศไทย ซึ่งชาวบ้านทั่วไปเรียกกันว่า ฝนตกชะช่อมะม่วง แต่ที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิมคือปริมาณฝนที่ตกลงมาเมื่อวันที่ 30 มกราคม มีปริมาณสูง อย่างไรก็ตาม สภาพเช่นนี้คงไม่นาน ภายในวันสองวันน่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
 

 ดร.จิรพล กล่าวต่อว่า
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้เกิดจากความชื้นจากมหาสมุทรแปซิฟิก ที่แพร่เข้ามาในทะเลอ่าวไทย อันสืบเนื่องมาจากอิทธิพลของปรากฏการณ์ลานินญ่า ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวจะทำให้มีปริมาณฝนตกลงมาอย่างหนัก ซึ่งในปีนี้ทั่วโลกจะมีฝนตกลงมาจำนวนมาก จนอาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมสูงในหลายพื้นที่ ซึ่งอิทธิพลดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 "ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยที่สภาวะอากาศแปรปรวน ในต่างประเทศอย่างเช่น จีน อิหร่าน มีหิมะตกลงมาอย่างหนัก เกิดขึ้นเพราะความแปรปรวนของสภาพอากาศ อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยคงไม่มีเรื่องหิมะตก แต่จะประสบกับปริมาณฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก และฝนจะมาเร็วกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้หลายพื้นที่ต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมสูง ทุกภาคส่วนควรเตรียมความพร้อมในการรับมือไว้แต่เนิ่นๆ" ดร.จิรพล กล่าว
 

 ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักยังส่งผลกระทบให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เมื่อเวลา 10.00 น.

พ.ต.ท.สืบศักดิ์ ภาษยะวรรณ พนักงานสอบสวน สน.วิภาวดี รับแจ้งเหตุรถเมล์พลิกคว่ำบริเวณถนนวิภาวดีขาออก แขวงทุ่งสีกัน เขตดอนเมือง กทม. จึงรุดไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ พบรถโดยสารประจำทางปรับอากาศสาย 29 มธ.-ศูนย์รังสิต-หัวลำโพง ทะเบียน 12-6621 กรุงเทพมหานคร เป็นของบริษัท เอส.เค ทัวร์ แอนเซอร์วิส จำกัด พลิกตกข้างทางในสภาพตะแคง กระจกด้านหน้าแตก ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 6 คน มีผู้นำตัวส่งโรงพยาบาลวิภาวดี 2 คน และโรงพยาบาลปทุมเวช 4 คน
 

 นายสมพงษ์ เสียวครบุรี อายุ 43 ปี พนักงานขับรถคันเกิดเหตุ ให้การว่า

ขับรถรับผู้โดยสารมาตามป้ายต่างๆ โดยจะมุ่งหน้าไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และตลาดไท มีผู้โดยสารอยู่ภายในรถประมาณ 20 คน กระทั่งขับมาถึงจุดเกิดเหตุ ช่วงนั้นถนนลื่นประกอบกับเครื่องยนต์ดับ ทำให้รถเสียหลักพลิกตกข้างทาง

 "ผมขับมาด้วยความเร็วปานกลางเพราะเห็นว่าฝนตกถนนลื่น แต่จู่ๆ รถก็เกิดดับและสตาร์ทไม่ติดเนื่องจากรถใช้ก๊าซเอ็นจีวี และระหว่างที่เครื่องดับ ตัวรถก็กำลังจะพุ่งเข้าข้างทางทำให้หันพวงมาลัยกลับมาไม่ได้ จึงเกิดอุบัติเหตุรถพลิกตกข้างทาง กระจกด้านหน้าร้าว ผมจึงใช้เหล็กทุบกระจกรถให้แตกเพื่อให้ผู้โดยสารทยอยออกมาจากรถ ซึ่งไม่มีผู้เสียชีวิตแต่อย่างไร" นายสมพงษ์ กล่าว
 

 พ.ต.ท.สืบศักดิ์ กล่าวว่า

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้นำตัวนายสมพงษ์ คนขับรถ ไปสอบปากคำที่ สน.ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนผู้บาดเจ็บ พนักงานสอบสวนจะสอบปากคำอีกครั้งว่าสาเหตุที่รถพลิกคว่ำในครั้งนี้เกิดจากสาเหตุอะไร หากพบว่านายสมพงษ์ขับรถประมาทก็แจ้งข้อหาขับรถประมาทเป็นเหตุทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์