สอนลูกให้รักธรรมชาติ อีกหน้าที่ของแม่ดีเด่น

สิ่งสูงสุดในชีวิตของคนที่ขึ้นชื่อว่าเป็น "แม่" คือ มีชีวิตน้อยๆ ที่มาเติมเต็มให้ครอบครัวสมบูรณ์


ในโอกาสที่จะเข้าถึง "วันแม่แห่งชาติ" เพื่อให้ลูกๆ ได้ระลึกถึงความเหนื่อยยากลำบากของผู้ที่ให้กำเนิด คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงจัด "โครงการแม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม" เพื่อเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใยพสกนิกรที่ประสบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการคัดเลือกแม่ที่มีบทบาทในการสนับสนุนให้ลูกเห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อมที่ดี

ในที่สุดหลังจากที่คัดเลือกเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ก็ได้ "แม่ดีเด่น"

ที่มีคุณสมบัติสิ่งแวดล้อมดีเริ่มต้นที่แม่ รวม 5 คน จากทั้งหมด 53 คน และจะเข้ารับพระราชทานรางวัลจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ อีกด้วย เริ่มที่นางดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ เจริญเมือง แม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จังหวัดเชียงใหม่ ทำงานด้าน "มลพิษทางอากาศ"

"ดิฉันเห็นสภาพแวดล้อมของเชียงใหม่มานาน จึงเริ่มทำงานวิจัยปัญหามลพิษทางอากาศ ทำสื่อรณรงค์ให้คนเชียงใหม่รู้ปัญหาของการเผาไม้ เผาขยะและให้นำขยะไปทำปุ๋ยหมัก หรือนำไปประดิษฐ์เป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มแทน"

นอกจากการแก้ปัญหาระดับจังหวัดแล้ว

นางดวงจันทร์ก็ไม่ละเลยที่จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูกๆ ด้วย จนทำให้ลูกๆ เลือกเรียนด้านสิ่งแวดล้อม และยังรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ จัดทำวารสารเชียงใหม่ปริทัศน์ เพื่อประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลด้านมลภาวะทางอากาศที่เกิดขึ้นในเมืองเชียงใหม่อีกด้วย

ส่วนนางภินันทน์ โชติรสเศรณี แม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จังหวัดกาญจนบุรี

มีบทบาทการประชาสัมพันธ์ให้คนในจังหวัดช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติและรักษาไว้ โดยมีผลงานเด่น คือการคัดค้านเรื่องการส่งลูกช้างไทยไปออสเตรเลีย "ความเป็นแม่อนุรักษ์ที่ดี คือ ปลูกฝังให้ลูกๆ เห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ การปลูกฝังของแม่ยังส่งผลให้ลูกมีความเชื่อเรื่องสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ สามารถนำมาเป็นแบบอย่างในการทำงานด้านสิทธิเสรีภาพที่เกิดขึ้นจริงจากการทำงานของแม่อีกด้วย"


อีกคนนางทิวาพร ศรีวรกุล แม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จังหวัดกาญจนบุรี


มีผลงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมป่าเต่าดำ และก่อตั้งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ เพื่อใช้เป็นที่ทำการเกษตรอินทรีย์ และอบรมเกษตรกรให้มีความรู้เกี่ยวกับลดการใช้สารเคมี และพึ่งพาตนเองได้เพื่อลดหนี้สินของเกษตรกร พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายในการทำงานอนุรักษ์อีกด้วย นางทิวาพรบอกว่า การพาลูกไปศึกษาและสัมผัสกับวิถีชีวิตในป่า ทำให้ลูกได้ซึมซับ เมื่อลูกโตขึ้นก็ได้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และนำแนวทางการทำงานของแม่มาประยุกต์ใช้กับการทำงานด้วย

ด้านนางสายชล พวงพิกุล แม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จังหวัดชัยนาท บอกว่า

ทำงานอนุรักษ์ป่าเขาราวเทียนทอง เพราะเห็นปัญหาทรัพยากรป่าไม้ที่ลดลง คิดว่าถ้าไม่มีการจัดการจะทำให้ผลผลิตที่ชาวบ้านจะได้จากป่าหมดไปในที่สุด "เมื่อเห็นปัญหาทั้งหมดจึงนำแนวคิดการอนุรักษ์ขยายผลไปยังหมู่บ้านรอบป่าเขาราวเทียนทองทั้ง 14 หมู่บ้าน ผลที่ได้คือ ต้นไม้มีปริมาณเพิ่มขึ้น มีผลผลิตจากป่ามากขึ้น และยังได้สร้างเครือข่ายเยาวชนเพื่อสานต่องานด้านการอนุรักษ์ ตอนนี้วางแผนไว้ว่าจะผลักดันให้ป่าเขาราวเทียนทองเป็นยุทธศาสตร์จังหวัด และทำเป็นหลักสูตรภูมิปัญญาท้องถิ่นในโรงเรียน เพื่อสร้างจิตสำนึกให้กับคนรุ่นหลัง"

ส่วนหน้าที่ของความเป็นแม่นั้น นางสายชลบอกว่า

จะเป็นต้นแบบในการทำงานให้กับลูก ทำให้ลูกเกิดความศรัทธา ตอนนี้ลูกเป็นผู้นำจัดอบรมให้กับเยาวชนในหมู่บ้านเพื่อสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนมีความรักทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนของตัวเอง

สุดท้ายนางจินตนา แก้วขาว แม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

เป็นประธานกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด มีบทบาทสำคัญในการคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าหินกรูด และยังติดตามตรวจสอบกรณีทุจริตที่ดินสาธารณะที่เป็นแนวหาดทรายชายทะเล การตั้งอุตสาหกรรมเหล็กที่ส่งผลกระทบสภาพแวดล้อม

นางจินตนาบอกว่า ได้เลี้ยงดูปลูกฝังลูกๆ ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ

โดยสั่งสอนให้ตระหนักถึงปัญหาของทรัพยากรที่ลดลงเพราะระบบทุนนิยมได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น และการเพิ่มของประชากรอย่างรวดเร็ว จึงส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ "นอกจากนี้ยังปลูกฝังให้ลูกรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ ให้เป็นนักต่อสู้ โดยจะพาลูกไปสัมผัสจากสถานการณ์จริง เช่นการชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าหินกรูด เพื่อเป็นแบบอย่าง และเข้าใจการทำงาน"

ขึ้นชื่อว่า "แม่" พร้อมที่จะอดทน และฝ่าฟันเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูกเสมอ เฉกเช่นกับ 5 คนนี้

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์