สลากชี้ชะตาม.1 การศึกษาตามดวง


"จับสลาก" หนึ่งในวิธีที่ถูกหยิบยกมาใช้คัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนต่อชั้น ม.1 ของเหล่าบรรดาโรงเรียนชื่อดัง หรือโรงเรียนยอดนิยมหลายร้อยแห่ง ทั่วประเทศ เพื่อคัดเด็กล้นเกินโควตาจะรับได้

แม้จะเป็นวิธีการที่พอจะเป็นที่คุ้นชินกันอยู่ในหมู่ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานอยู่ในวัยเรียน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกๆ ครั้งที่มีการ "จับสลาก" ก็เรียกน้ำตาลูกๆ หลานๆ หรือแม้แต่ตัวผู้ปกครองเองไปได้ไม่มากก็น้อย

เพราะแนวทางการรับนักเรียนในสังกัด สพฐ. หรือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ

โดยภาพรวมของการรับนักเรียนในสังกัด สพฐ. ประจำปีการศึกษา 2552 ให้โรงเรียนรับเด็กที่อยู่ในเขตพื้นที่บริการ และประสงค์สมัครเข้าเรียนต่อทั้ง 100% แต่ถ้ามีจำนวนนักเรียนที่สมัครเกินกว่าจำนวนที่รับได้ ก็ให้ใช้วิธีการ "จับสลาก"

ในปีนี้สพฐ.ให้ 369 โรงเรียนชื่อดังทั้งหลายสามารถปรับเกณฑ์จากที่เคยกำหนดได้

โดยเกณฑ์เดิมกำหนดว่า โรงเรียนต้องรับเด็กในเขตพื้นที่บริการ ไม่น้อยกว่า 50% และรับนักเรียนทั่วไปไม่เกิน 50% ด้วยวิธีการสอบคัดเลือก หรือผลการประเมินผู้เรียนด้วยวิธีอื่นๆ ตามที่โรงเรียนกำหนด

ในจำนวนนี้มีโรงเรียนที่เลือกวัดความรู้ด้วยวิธีการสอบนักเรียนในและนอกเขตพื้นที่ฯ รวม 100% ถึง 125 โรง อาทิ โรงเรียนสวนกุหลาบ โรงเรียนสตรีวิทยา โรงเรียนสามเสนวิทยา โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี และโรงเรียนประจำจังหวัดต่างๆ


ส่วนโรงเรียนอีกกว่า 200 แห่ง ก็กำหนดสัดส่วนการรับนักเรียน ที่แตกต่างกันออกไปแล้วแต่โรงเรียนกำหนด อย่างกรณีโรงเรียนสายปัญญา ใช้วิธีการสอบคัดเลือก 50% และจับสลากอีกถึง 50% โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) จับสลาก 25% สอบในเขต 25% สอบทั่วไป 50% โรงเรียนศรีอยุธยาในพระอุปถัมภ์ จับสลาก 20% สอบในเขต 30% สอบทั่วไป 50% เป็นต้น

แต่ก็เหมือนทุกๆ ปี ที่เด็กก็จะต้องแห่แหนกันไปสมัครเข้าเรียนในโรงเรียนยอดนิยมทั้งหลาย

ในปีนี้ แม้โรงเรียนดังที่ชื่อคุ้นหูหลายแห่ง จะใช้วิธีการสอบคัดเลือกทั้ง 100% มาคัดนักเรียนเข้าเรียนต่อ ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 แล้ว

สำหรับปีนี้นอกเหนือจากโรงเรียนที่จัดสอบ 100% ก็ยังมีโรงเรียนชื่อดังที่เป็นที่หมายปองของบรรดาผู้ปกครองจำนวนไม่น้อย ลดสัดส่วนของการสอบคัดเลือกลง และให้โอกาสกับเด็กใกล้บ้านได้มีโอกาสเข้ามา "วัดดวง" เข้าโรงเรียนดัง

โดย "จับสลาก" จัดขึ้นหลังจากที่โรงเรียนรับนักเรียนด้วยวิธีการสอบไปแล้ว เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนที่พลาดจากการสอบ มาวัดดวงกับการจับสลากอีกครั้ง

แต่ก็ต้องยอมรับว่า "การจับสลาก" สร้างความรู้สึกกดดันให้กับเด็กอยู่ไม่น้อย


ดูจากบรรยากาศเมื่อวันที่ 29 มี.ค. ในโรงเรียนหลายแห่งทั่วประเทศ แทบจะไม่แตกต่างกันนัก เมื่อบรรดาพ่อแม่ ผู้ปกครอง พาลูก-หลาน ทยอยเข้ามาลงทะเบียนและรอลุ้นผลที่จะตัดสินอนาคตทางการศึกษาของพวกเขากันตั้งแต่เช้าตรู่

ที่โรงเรียนหอวัง หนึ่งในโรงเรียนยอดนิยมที่มีอัตราการแข่งขันสูงที่สุดในกทม. มีนักเรียนในเขตพื้นที่ฯ มารายงานตัวเพื่อการจับสลากถึง 420 คน ในขณะที่โรงเรียนรับได้เพียง 85 คน หรือคิดเป็นอัตราส่วน 1:5

จึงคึกคักไม่แพ้โรงเรียนอื่นๆ โดยผู้ปกครองบางคนยกกันมาทั้งครอบครัว พาลูก-หลาน เข้าพึ่งพา บนบานสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำโรงเรียน ขอให้จับสลากเข้าเรียนต่อได้ ชนิดที่ว่าห้องประชุมที่จุนักเรียนนับพันคนแคบลงไปถนัดตา

สีหน้าที่เคร่งเครียด ลุ้นระทึก จนไม่ได้ยินเสียงรอบข้าง ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับนักเรียนที่จะต้องขึ้นไป "จับสลาก" ของตัวเองทั้งนั้น แต่ผู้ปกครองหลายร้อยคนที่รออยู่ด้านล่างก็จดจ่ออยู่ไม่แพ้กัน


และก็เป็นธรรมดาของการ "เสี่ยงดวง" ก็ย่อมจะต้องมีทั้งผู้ที่สมหวัง และผิดหวัง

"น้องฐา" ด.ญ.วนิษฐา วงศ์เลิศวิทย์ นักเรียนชั้น ป.6 จากโรงเรียนสตรีวรนาถ บางเขน หยิบเหรียญสีเขียวแทนเครื่องหมาย "ผ่านเข้าเรียนต่อ" ได้เป็นคนแรก ถึงกับโล่งเหมือนยกภูเขาออกจากอก

"ตื่นเต้นมาก เพราะหนูต้องจับสลากในอันดับที่ 13 ขณะที่ 12 อันดับก่อนหน้าเป็นเหรียญสีชมพู แทนความหมายไม่ผ่านเข้าเรียนทั้งนั้น ทำให้ก่อนที่จะถึงคิวของตัวเอง ก็ใจเสียไปไม่น้อยเหมือนกัน แต่เมื่อผลออกมาอย่างนี้ก็ดีใจมาก เพราะตั้งใจมาตลอดอยากเข้าเรียนที่โรงเรียนหอวัง เพราะใกล้บ้าน และเป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพ แต่ก็รู้ว่ามีเด็กมาสมัครจับสลากเยอะมาก ทำให้ต้องทำใจเผื่อไว้ 50:50"

เรียกรอยยิ้มขึ้นมาได้สำหรับนักเรียนที่ผ่านเข้าไปได้

แต่ในอีกมุมหนึ่ง นักเรียนที่พลาดโอกาสครั้งสำคัญนี้ไป หลายคนถึงกลับกลั้นน้ำตาแห่งความผิดหวังนี้ไว้ไม่อยู่

นางธัญญธร ยศธำรง ผู้ปกครอง "น้องเอิร์ท" จากโรงเรียนพญาไท กล่าวแทนว่า "รู้สึกผิดหวังมาก เพราะน้องเอิร์ท ก็มาสอบแข่งขันที่โรงเรียนหอวัง และได้คะแนน 84 คะแนน ในขณะที่ลำดับสุดท้ายที่ผ่านการสอบคัดเลือกได้ 85 คะแนน ซึ่งน้องขาดไปเพียง 1 คะแนน ก็เสียดายมาก"

"ก่อนที่จะจับสลาก ก็ได้ไปไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอให้ลูกจับสลากได้ แต่ก็รู้ว่าเด็กมาจับสลากเยอะมาก ก็พยายามบอกลูกว่าไม่ต้องกังวล ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร"

แม้จะเห็นว่าวิธีการจับสลากเป็นหนึ่งในทางที่จะแก้ปัญหาเด็กล้นในโรงเรียนชื่อดัง แต่นางธัญญธร ก็คิดว่า อยากให้ สพฐ.พิจารณาหาวิธีอื่นๆ มาทดแทนเพื่อไม่ให้เป็นการกดดันความรู้สึกของเด็ก

"ตราบใดที่คุณภาพของโรงเรียนอื่นๆ ยังไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน โรงเรียนดังๆ ก็ย่อมเป็นที่เชื่อถือของผู้ปกครองที่จะจัดการศึกษาให้กับลูกหลานของตัวเอง ซึ่งตราบใดที่ยังไม่สามารถพัฒนาโรงเรียนต่างๆ ให้เทียบเท่ากันได้ ก็คงไม่สามารถแก้ปัญหาเด็กล้นทะลักในโรงเรียนดัง"

นางธัญญธร กล่าวด้วยว่า แม้ว่าการจับสลาก เป็นการให้โอกาสเด็กที่พลาดจากการสอบจะได้มีโอกาสลุ้นเข้าเรียน แต่ส่วนตัวแล้วคิดว่า น่าจะมาเพิ่มสัดส่วนของการสอบมากกว่า เพราะเป็นการแข่งขันที่ยุติธรรม วัดกันที่คุณภาพ

ขณะที่ "น้องไดร์" ด.ช.พันธกานต์ พันธุ์แน่น จาก โรงเรียนประชานิเวศน์ ที่มาพร้อมคุณแม่ "วศินี พันธุ์แน่น" ก็เห็นด้วยว่า การวัดว่าเด็กจะได้สอบเข้าเรียนต่อหรือไม่ จากการจับสลาก ดูแล้วไม่แฟร์เท่าไร แต่ก็ต้องยอมรับว่า เป็นการให้โอกาสกับเด็กที่อยู่ใกล้โรงเรียนและสอบเข้าไม่ได้

"คุยกับลูกอยู่ตลอดว่าไม่เป็นไร อย่าเครียด เพราะวัดกันที่ดวงอย่างเดียว ได้ไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร แต่จริงๆ แล้ว ส่วนตัวก็มองว่า ถ้าโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง ใช้วิธีการสอบน่าจะดีกว่า เพราะวัดกันที่ผลคะแนน ก็เป็นเรื่องที่ยุติธรรม เป็นความสามารถของเด็ก แต่หากจับสลาก เด็กเก่ง หรือไม่เก่งก็ไม่เป็นไร จะเตรียมตัวมาดีแค่ไหนก็อาจจะไม่ได้ เพราะวัดกันที่ดวงอย่างเดียว"

ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" ก็ยืนยันถึงความจำเป็นของวิธีการจับสลากต่อการรับนักเรียน ว่า

"การจับสลากเข้าเรียนเป็นแนวปฏิบัติที่ดำเนินการมานานแล้วจนเป็นที่ยอมรับ และเป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีทั้งผู้สมหวังและผิดหวัง แต่ก็ถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดขณะนี้ ซึ่งหากจะให้โรงเรียนจัดสอบทั้ง 100% แทนการจับสลากก็สามารถทำได้ และโรงเรียนก็จะได้เด็กเก่งๆ เข้าเรียน แต่ก็มีข้อเสีย คือ จะทำให้เด็กที่อยู่ในเขตพื้นที่บริการแต่สอบไม่ได้ ต้องเดินทางไกลไปเรียน ซึ่งแทนที่จะเป็นการแก้ปัญหากลับเป็นการสร้างปัญหาแทน ดังนั้นตราบใดที่ยังไม่สามารถคิดวิธีการที่ดีกว่านี้ได้ ก็คงจะต้องใช้ระบบการจับสลากไปก่อน"

สำหรับนักเรียนที่พลาดหวังจากการสอบหรือจับสลาก ทางกระทรวงศึกษาธิการจะต้องจัดสถานที่ให้ทุกคนได้เรียน โดยไม่มีการตกค้าง โดยนักเรียนสามารถแจ้งความจำนงให้สพท.จัดหาที่เรียนให้ โดยสามารถยื่นความจำนงได้ที่โรงเรียนหรือเขตพื้นที่การศึกษา ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 6 เม.ย. นี้

หลากหลายความคิดความเห็นที่สะท้อนต่อ "ระบบการจับสลาก" ที่แม้จะเป็นอีกหนึ่งโอกาสเล็กๆ แต่ก็ยังคงเป็นช่องทางที่จะสานฝันของผู้ปกครองที่ต้องการส่งลูกหลานเข้าไปเป็นหนึ่งในโรงเรียนคุณภาพ

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์