สยามมกุฎราชกุมาร สืบพระราชสันตติวงศ์ สานพระราชกรณียกิจเพื่อปวงชน

 สยามมกุฎราชกุมาร สืบพระราชสันตติวงศ์ สานพระราชกรณียกิจเพื่อปวงชน


พระอิสริยยศ "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร" คือ พระอิสริยยศของสมเด็จพระบรมราช โอรส ผู้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราช ทานอภิเษกสถาปนาให้เป็นรัชทายาทสำหรับสืบพระราชสันตติวงศ์

ตามประวัติศาสตร์ไทยก่อนพุทธศักราช 2429 นั้น มีเพียงตำแหน่ง "พระมหาอุปราช" เป็นตำแหน่งสำหรับสถาปนารัชทายาทในมัธยมประเทศชมพูทวีป

ไทยถือรับมาเป็นขนบธรรมเนียมเมื่อใดยังไม่พบหลักฐาน แต่จากกฎมณเฑียรบาลฉบับแรกในสมัยอยุธยาตอนต้นที่กล่าวว่า "พระราชกุมารเกิดด้วยพระอัครมเหสี คือ สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า อันเกิดด้วยแม่ยั่วเมือง เป็นพระมหาอุปราช"

ทำให้ทราบได้ว่า มีขนบธรรมเนียมการตั้งพระมหาอุปราชแล้วตั้งแต่ปีชวด ศักราช 722 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงปลงพระราชหฤทัยเชื่อว่ากฎมณเฑียรบาลนี้ ตราขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง

สมัยอยุธยาตอนต้น พระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราชโองการให้พระมหาอุปราชเสด็จไปครองเมืองสำคัญ เช่น เมืองลพบุรี เมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นเมืองในราชธานีฝ่ายเหนือ ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียม ไม่ส่งพระมหาอุปราชไปครองเมืองลูกหลวง คงให้ช่วยราชการอยู่ในราชธานี ทำให้มีการเรียกขานพระองค์เป็นอย่างอื่น เช่น เรียกว่าพระบัณฑูรบ้าง หรือเรียกว่า วังหน้าบ้าง ต่อมาเมื่อมีการสถาปนาพระอิสริยยศเจ้านายเป็นเจ้าต่างกรม ก็ได้สถาปนาพระอิสริยยศพระมหาอุปราชฝ่ายหน้า เป็น "กรมพระราชวังบวรสถานมงคล" สถาปนาพระอิสริยยศพระอุปราชองค์ที่สองเป็น "กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข"

สมัยรัตนโกสินทร์ ประเพณีการตั้งพระมหาอุปราช ชั้นพระอิสริยยศ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ได้สิ้นสุดลงเมื่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทิวงคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงมีพระราชดำริให้ยกเลิกธรรมเนียมการตั้งตำแหน่งพระมหาอุปราชเสีย แล้วกลับไปใช้แบบธรรมเนียมตามที่กำหนดไว้ในกฎมณเฑียรบาล ที่ตราขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) คือให้มีราชกุมารศักดิ์สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าขึ้น แต่เปลี่ยนเรียกเสียใหม่ว่า "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร" ทั้งนี้เพื่อรักษาราชประเพณีเดิมประการหนึ่ง และเพื่อให้เข้ากับธรรมเนียมที่เป็นอยู่ในนานาประเทศ ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอีกประการหนึ่ง จากเมื่อนั้นจวบจนปัจจุบันบนหน้าประวัติศาสตร์ไทย มีสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร 3 พระองค์ ดังนี้

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศฯ สยามมกุฎราชกุมาร มกุฎราชกุมารพระองค์แรกของไทย ทรงพระราชสมภพ วันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน 2421 ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิรุณหิศฯ หรือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช

เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในขณะเจริญพระชันษา จวนจะครบ 9 พรรษา โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีลงสรงฯ รับพระนามาภิไธยให้เป็นพระเกียรติยศสืบไป พระราชพิธีลงสรงฯ นั้น เป็นพระราชพิธีมหาพิชัยมงคลไม่ค่อยมีบ่อยนัก ตั้งแต่การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา

หลังจากดำรงพระอิสริยยศสยามมกุฎราชกุมารได้เพียง 8 ปี ก็ประชวรเสด็จสวรรคต เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 มกราคม 2437 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้สถาปนาพระอิสริยยศสยามมกุฎราชกุมารพระองค์ที่ 2 ได้แก่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชโอรสองค์ที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชโอรสองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เมื่อปีพุทธศักราช 2437 ขณะนั้นทรงเจริญพระชันษา 14 พรรษา และทรงศึกษาอยู่ ณ สหราชอาณาจักร จึงจัดเป็นงานวันเดียว มิได้จัดเป็นพระราชพิธีเฉลิมพระนามาภิไธย และมิได้กระทำเป็นพิธีใหญ่เช่นครั้งแรก เนื่องจากบ้านเมืองกำลังอยู่ระหว่างไว้ทุกข์


 สยามมกุฎราชกุมาร สืบพระราชสันตติวงศ์ สานพระราชกรณียกิจเพื่อปวงชน

แต่ในประกาศพระบรมราชโองการ ระบุไว้เป็นความว่า "แม้ถึงว่าจะยังไม่ได้กระทำพระราชพิธีนั้น ก็ให้ทรงดำรงในตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมทั้งเกียรติยศ เกียรติคุณ และพระเดชานุภาพทั้งปวง อย่างผู้เป็นรัชทายาทสำหรับสืบสันตติวงศ์ ซึ่งได้มีพระราชกำหนดประกาศไว้แต่เมื่อ วันศุกร์ แรมหกค่ำ เดือนยี่ ปีจอ อัฐศก จุลศักราช 1248 นั้นเต็มบริบูรณ์ทุกประการ"

พระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ว่างเว้นมานาน ด้วยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จนถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 มิได้ทรงมีพระราชโอรสรัชทายาท จึงมิได้มีการสถาปนาสยามมกุฎราชกุมารระหว่างรัชสมัยนั้น


 สยามมกุฎราชกุมาร สืบพระราชสันตติวงศ์ สานพระราชกรณียกิจเพื่อปวงชน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระองค์ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ให้ทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระเกียรติยศผู้เป็นรัชทายาทสำหรับสืบสันตติวงศ์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม 2515

นับเป็นการสถาปนาสยามมกุฎราชกุมาร ครั้งที่ 3 ในสมัยรัตนโกสินทร์และทรงเป็นสยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรก ในสมัยการปกครองระบอบประชาธิปไตยของราชอาณาจักรไทย

ตลอดระยะเวลาที่ทรงดำรงพระราชอิสริยยศ "สยามมกุฎราชกุมาร" ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเป็นอเนกอนันต์ อันเป็นคุณูปการแก่พสกนิกรชาวไทยในด้านต่าง ๆ มากมาย จึงขอยกพระราชกรณียกิจบางส่วนมาเผยแพร่พอสังเขปดังนี้


 สยามมกุฎราชกุมาร สืบพระราชสันตติวงศ์ สานพระราชกรณียกิจเพื่อปวงชน

      ด้านการศึกษา การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะเยาวชนไทยควรได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ดีและทั่วถึง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนิน "โครงการทุนการศึกษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร" ขึ้นตั้งแต่ปี 2552 และต่อมา ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง "มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร" ขึ้นในปี 2553 โดยมีวัตถุประสงค์เสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชนที่เรียนดีทว่าขาดแคลนทุนทรัพย์ เป็นทุนพระราชทานตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญและสายอาชีพต่อเนื่องไปจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

ในปี 2556 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นนักบินที่ 1 เที่ยวบินมหากุศล เส้นทางไปกลับ กรุงเทพฯ-นครศรีธรรมราช นำคณะพุทธศาสนิกชนเดินทางไปกราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช นำเงินรายได้จากการจำหน่ายบัตร 100 ที่นั่ง โดยไม่หักค่าใช้จ่าย ร่วมสมทบทุนมูลนิธิทุนการศึกษาพระ ราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร


 สยามมกุฎราชกุมาร สืบพระราชสันตติวงศ์ สานพระราชกรณียกิจเพื่อปวงชน

         ด้านการศาสนา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงฝักใฝ่เลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนา ทรงพยายามหาโอกาสในวันหยุดเสด็จพระราชดำเนินไปถวายสักการะสมเด็จพระสังฆราช และทรงเยี่ยมนมัสการพระเถระผู้ใหญ่เพื่อทรงสนทนาพระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นอกจากนี้ทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2509 ทรงมีพระราชศรัทธาออกบวชในพระพุทธศาสนา โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีผนวช ณ พัทธสีมาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2521 โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถร) เป็นพระราชอุปัธยา จารย์ ได้รับถวายพระสมณนามว่า "วชิราลงฺกรโณ" ประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ตลอดจนทรงลาสิกขาในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2521

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ยังเสด็จพระราชดำเนินแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปฏิบัติพระราชกิจทางพระพุทธศาสนาอย่างสม่ำเสมอ เช่น เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามฤดูกาล เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และการถวายผ้าพระกฐินหลวงตามวัดต่าง ๆ เป็นต้น


 สยามมกุฎราชกุมาร สืบพระราชสันตติวงศ์ สานพระราชกรณียกิจเพื่อปวงชน

      ด้านการแพทย์และสาธารณสุข สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงโปรดให้สร้าง "โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช" เพื่อให้การรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยในถิ่นทุรกันดาร และยังทรงเป็นองค์นายกกิตติมศักดิ์ พระองค์ทรงมีพระราชปณิธานให้โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทุกโรงเอาใจใส่รักษาพยาบาลพสกนิกรของพระองค์ให้ปลอดภัยจากความเจ็บไข้โดยทั่วหน้าเสมอกัน โดยโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช มีทั้งสิ้น 21 แห่ง ทรงพระอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงพยาบาลสม่ำเสมอ พร้อมพระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนให้มีอุปกรณ์การแพทย์ เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัย เพื่อสามารถให้บริการที่ดีแก่ประชาชน

        ด้านการเกษตร นอกจากเสด็จพระราชดำเนินแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง พระราชทานขวัญ และกำลังใจแก่เกษตรกรไทยเป็นประจำทุกปีแล้ว ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 50 พรรษา ในปี 2545 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขอพระราชานุญาต จัดทำโครงการ "คลินิกเกษตรเคลื่อนที่" ทูลถวาย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎ ราชกุมาร ทรงรับโครงการดังกล่าวไว้ในพระราชานุเคราะห์ และพระราชทานพระราชานุญาต อัญเชิญพระนามาภิไธยย่อไว้ในเครื่องหมายสัญลักษณ์โครงการ โดยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จฯ เปิดโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ฯ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2545 ณ หมู่ที่ 5 ต.บ้านหลวง อ.ดอนพุด จ.สระบุรี


 สยามมกุฎราชกุมาร สืบพระราชสันตติวงศ์ สานพระราชกรณียกิจเพื่อปวงชน

การจัดตั้งคลินิกเกษตรเคลื่อนที่สามารถทำให้การบริหารการจัดการและการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรแก่เกษตรกรบรรลุผลสำเร็จ เนื่องจากเป็นช่องทางที่สามารถให้บริการตรงตามความต้องการและทันต่อเหตุการณ์ การดำเนินงานคลินิกเกษตรเป็นการ บูรณาการวิชาการแต่ละสาขา ทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง พัฒนา ที่ดิน กฎหมาย การบัญชี สหกรณ์ ฯลฯ โดยใช้การเคลื่อนที่เข้าไปหา เกษตรกร สร้างแรงดึงดูดใจและกระตุ้นให้เกษตรกรตื่นตัว ยอมรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการแก้ไขปัญหา

เนื่องในโอกาสมหามงคล สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 62 พรรษา 28 ก.ค. 2557 ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย แห่งสากลโลก ประสิทธิ์ประสาทพรถวายชัยมงคลแด่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระเกษมสำราญ มีพระชนมพรรษายิ่งยืนนานเป็นร่มโพธิ์แก่พสกนิกรชาวไทยตลอดกาลนานเทอญ.
........................

ที่มา : ทีมข่าวสตรี หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์