สธ.เตือนโจ๋ฟังไอพอด-เอ็มพี3เสี่ยงหูตึง ชี้5ขวบไม่ควรใช้สมองพัฒนาช้า

"สธ."เตือนวัยรุ่นระวังหูหนวก ฟังเพลงจากหูฟังดังเกินกำหนดโอกาสเสี่ยงสูง เผยผลสำรวจเด็กมัธยมของไทยหูตึงสูงถึงร้อยละ 70 แนะเด็กต่ำกว่า 5 ขวบไม่ควรใช้ ชี้มีผลต่อการพัฒนาสมองช้า


นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 17 มกราคม ว่า ขณะนี้เครื่องเล่นเพลงดิจิตอลแบบพกพา

อาทิ เครื่องเอ็มพี 3 ไอพอด กำลังเป็นที่นิยมของวัยรุ่นทั่วโลก เพราะมีความเป็นส่วนตัว พกพาสะดวก กำลังจะกลายเป็นปัญหาต่อสุขภาพ และเมื่อเร็วๆ นี้ สำนักคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภคสหภาพยุโรป ได้ประกาศเตือนภัย เนื่องจากมีการสำรวจพบว่า ระบบการได้ยินของวัยรุ่นยุโรปมากกว่า 10 ล้านคน กำลังอยู่ในอันตราย ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้หูฟัง ฟังเพลงจากเครื่องเล่นดิจิตอลในระดับเสียงที่ดังเกินไปติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้มีอาการหูอื้อและหูตึง ที่สำคัญผู้ใช้เอ็มพี 3 ร้อยละ 5-10 ทั่วโลก กำลังมีความเสี่ยง ซึ่งน่าห่วงมาก
 

"ในส่วนของไทย ขณะนี้พบว่า วัยรุ่นจำนวนมากนิยมฟังเพลงจากเอ็มพี 3 ไอพอด รวมไปถึงโทรศัพท์มือถือที่คัดลอกเพลงจากอินเตอร์เน็ตเป็นร้อยๆ จนถึงพันเพลง ซึ่งผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2551 พบประชาชนอายุ 6 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ ใช้โทรศัพท์มือถือ 32 ล้านคน หรือร้อยละ 53 เพิ่มจากปี 2547 ซึ่งมีผู้ใช้
ประมาณ 17 ล้านคน การใช้หูฟังเพลง หากฟังเสียงดังปกติทั่วไปคือ ไม่เกิน 80 เดซิเบล จะไม่เกิดปัญหาต่อระบบประสาทในหู แต่หากฟังดังเกินกว่านี้จะเกิดปัญหาหูตึง หูหนวก เนื่องจากลำโพงเสียงจ่อติดที่รูหู ซึ่งวัยรุ่นมีความเสี่ยง เนื่องจากวัยรุ่นส่วนใหญ่นิยมฟังเพลงประเภทที่มีจังหวะเร็ว เสียงเบสดัง กระแทกหนักๆ และมักฟังเสียงดัง เพื่อความสะใจ ได้อารมณ์"
 

พร้อมทั้งกล่าวว่า เมื่อหูตึงแล้วจะเกิดปัญหาการสื่อสาร ต้องพูดเสียงดังกว่าปกติจึงจะได้ยิน ไม่ได้ยินเสียงกระซิบ หากไม่เร่งแก้ไขตั้งแต่ตอนนี้ คาดว่าในอนาคตสมรรถนะการเรียนและการทำงานของเยาวชนอาจมีปัญหา สื่อสารกันไม่รู้เรื่องหรือสื่อสารเพี้ยนไป ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ


ด้าน นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค

กล่าวว่า โดยปกติหูมีหน้าที่ในการได้ยิน และการทรงตัวของร่างกาย หูสามารถทนรับฟังเสียงได้ไม่เกิน 90 เดซิเบล เท่านั้น โดยหูฟังเอ็มพี 3 ไอพอด โทรศัพท์มือถือที่ใช้ในขณะนี้ ยังไม่มีการควบคุมมาตรฐานความดังเสียงที่ปลอดภัย
ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยควรรับฟังในระดับความดังไม่เกิน 80 เดซิเบล หูฟังที่มีจำหน่ายในท้องตลาดขณะนี้มี 3 ประเภท คือ แบบแยงเข้าไปในรูหู (In-Ear หรือ Ear-Plug) แบบแปะ หรือสวมแนบพอดีหู และแบบครอบที่ใบหู แต่ที่วัยรุ่นนิยมมากที่สุดเป็นแบบแยงเข้าไปในรูหู เพราะมีขนาดเล็ก พกพาสะดวก แยกแยะเสียงดนตรีได้ชัดเจน หาซื้อง่ายตามแผงลอย ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้าทั่วไป ราคาไม่แพง เริ่มต้นที่ 30 บาทขึ้นไป การฟังเพลงจากหูฟังชนิดนี้เสี่ยงอันตรายสูงกว่าหูฟังประเภทอื่น เนื่องจากตัวลำโพงหูฟังจะอยู่ใกล้กับประสาทรับเสียงในหูมากที่สุด

นพ.สมเกียรติกล่าวว่า เพลงที่วัยรุ่นนิยมฟังจะมีหลากหลายแนว เช่น ป๊อป ร็อค ฮิพฮอพ แร็พ พั้งก์ เป็นต้น เป็นเพลงประเภทที่มีจังหวะแรง เร็ว เสียงเบสกระแทกหู
หากฟังเสียงดังเกินไป จะมีผลต่อระบบประสาทการได้ยิน ซึ่งการฟังเพลงที่มีความดังเกิน 80 เดซิเบล เป็นเวลานาน จะเป็นอันตรายต่อเซลล์ประสาทรับสัญญาณในหู ทำให้เสื่อมลงไปเรื่อยๆ จนเกิดอาการหูตึง ต้องฟังเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเป็นแล้วไม่สามารถรักษาให้หายได้


"มีรายงานผลสำรวจวัยรุ่นไทยในระดับมัธยมต้นและมัธยมปลายใน กทม. พบว่า หูตึงสูงถึงร้อยละ 70 การฟังเพลงจากหูฟังหากเปิดเสียงดังไม่ควรฟังนานเกินครึ่งชั่วโมง เพราะเสียงอาจดังมากเกินไป เช่น อาจดังกว่า 110 เดซิเบล จะทำให้เกิดภาวะหูตึงแบบถาวร การฟังที่เป็นอันตรายต่อหูมากที่สุดคือ การเสียบหูฟังตลอดเวลา ไม่เว้นแม้เวลาหลับ จะเป็นตัวเร่งทำให้หูตึงเร็วขึ้น เนื่องจากแก้วหูจะทำงานตลอดเวลา และจะมีผลหลังจากตื่นนอน จะทำให้อารมณ์หงุดหงิด ฟุ้งซ่าน ส่งผลให้เป็นคนอารมณ์ร้ายถึงก้าวร้าว เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง อาการหูตึงจะเกิดทั้งสองข้างพร้อมกัน หากขับขี่รถจะเกิดปัญหาจราจร เพราะไม่ได้ยินเสียงแตรรถ"นพ.สมเกียรติกล่าว
 

นพ.สมเกียรติกล่าวว่า ในส่วนของเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ หากฟังเพลงจากหูฟังและเปิดเสียงดังเกินไป

นอกจากจะทำให้ประสาทหูเสื่อมจนหูหนวกแล้ว ยังทำให้พัฒนาการของสมองในด้านการเรียนรู้ของเด็กลดลง เนื่องจากเซลล์ประสาทรับคลื่นเสียงของเด็กอ่อนแอกว่าผู้ใหญ่ มีความไวต่อการเสื่อมจากเสียงดังมากกว่าผู้ใหญ่ ทำให้การได้ยินต่ำกว่ามาตรฐานของเด็กในวัยเดียวกัน และจะมีผลไปถึงการพูดของเด็กด้วย เพราะการได้ยินกับการพูดจะสัมพันธ์กัน หากการได้ยินไม่ดีการพูดก็จะไม่ดีด้วย อาจเกิดปัญหาในการเรียนต่อไป หรืออาจต้องพึ่งเครื่องช่วยฟังเสียงตั้งแต่วัยเด็ก ความสามารถในการทำงานลดลงเมื่อเติบโตและทำงาน การติดต่อประสานงานเพี้ยนไป
 

นพ.สมเกียรติกล่าวว่า ขณะนี้ต่างประเทศมีการควบคุมมาตรฐานความดังหูฟังแล้ว และใช้วิธีการแก้ไขเป็นรายๆ ไป

หากมีคนที่หูตึงจากการฟังเพลงจากหูฟัง ก็สามารถฟ้องเอาผิดบริษัทที่ผลิตได้ตามกฎหมาย ทั้งนี้อาการหูเสื่อมจะมี 2 แบบ คือแบบชั่วคราว เป็นอาการที่ยังสามารถรักษาหายได้ โดยให้พักฟังเสียง 8-10 ชั่วโมง อาการก็จะดีขึ้น และแบบถาวร เป็นแล้วไม่มียารักษาให้หายได้ อาจต้องใช้วิธีการผ่าตัด แต่ไม่รับรองว่าจะหายเป็นปกติหรือไม่


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์