สธ.เตือนขยะอันตรายจากครัวเรือน

สธ.เตือน ปชช.-ซาเล้ง ระวังภัยจากขยะอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน เสี่ยงเกิดมะเร็ง กระดูกผุ ปอดพัง ฯลฯ


เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า

ในวันที่ 5 มิถุนายน 2553 เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก กระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยเรื่องขยะ โดยเฉพาะขยะอันตรายที่เกิดจากครัวเรือน ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว ที่ใช้กันมากเช่นสารเคมีกำจัดศัตรูพืช สารเคมีทำความสะอาด ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ ซากเครื่องใช้ไฟฟ้า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ขยะเหล่านี้มีสารเคมีตกค้าง เป็นอันตรายทั้งต่อสุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมในดิน น้ำ อากาศ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำให้แยกขยะอันตรายออกจากขยะทั่วไป  โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่กำจัดขยะ ควรจะจัดถังหรือถุงขยะสีส้ม ซึ่งเป็นสีสัญลักษณ์ของขยะอันตราย และรณรงค์ให้ประชาชนแยกใส่ขยะอันตรายออกจากขยะมูลฝอยทั่วไป ซึ่งจะเป็นการลดการแพร่กระจายของสารพิษสู่สิ่งแวดล้อมและประชาชน เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยยังมีการตื่นตัวกับขยะอันตรายน้อยมาก

ด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ขยะอันตรายหมายถึงวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้แล้วแต่ยังมีสารเคมีอันตรายหลงเหลืออยู่

เช่นกระป๋องสเปรย์ ภาชนะบรรจุสารเคมีกำจัดศัตรูพืช สารเคมีทำสะอาด  สารเคลือบเงาต่างๆ  ซากถ่านไฟฉาย หลอดไฟ ซากเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น โดยซากขยะเครื่องไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะมีสารโบรมีน ทำให้เกิดโรคมะเร็ง ถ่านไฟฉายมีสารแคดเมียม เป็นอันตรายต่อโครงสร้างของกระดูก ปอด ไต อาจเกิดไตวายได้ หลอดไฟฟ้ามีสารปรอท เป็นอันตรายต่อระบบประสาท แบตเตอร์รี่มีสารตะกั่วทำลายเม็ดเลือดแดง ทำให้พัฒนาการสมองในเด็กช้าลง สติปัญญาด้อยลง

กลุ่มที่เสี่ยงสัมผัสขยะอันตรายได้แก่ กลุ่มที่มีอาชีพเก็บหรือรับซื้อของเก่า หรือที่เรียกว่าซาเล๊ง มักนำภาชนะบรรจุสารเคมีไปล้าง

แล้วเทสารเคมีที่ยังเหลืออยู่ลงดินหรือลงน้ำ ทำให้ดินและน้ำปนเปื้อนสารพิษ ขอให้งดการกระทำดังกล่าว ให้นำไปทิ้งในที่ที่เทศบาลหรือ อบต.จัดไว้ให้ และไม่ควรรับซื้อภาชนะดังกล่าว ขณะคัดแยกขยะควรใส่ถุงมือยางและใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกสารพิษ เพราะสารพิษบางตัวซึมผ่านผิวหนังได้ สำหรับประชาชนทั่วไป ก่อนทิ้งให้แยกขยะอันตรายออกจากขยะทั่วไป ควรเลือกใช้สารจากธรรมชาติแทนสารเคมี เช่นน้ำหมักจุลินทรีย์ ใช้สมุนไพรป้องกันแมลง และช่วยเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังขยะอันตรายในชุมชน พร้อมรีบแจ้งหน่วยงานท้องถิ่นหรือเกี่ยวข้องให้ทราบเพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป โดยกระทรวงสาธารณสุขจะทำการศึกษาผลกระทบทางสุขภาพและแนวทางการจัดการขยะอันตรายจากชุมชนในเร็วๆนี้ เพื่อกำหนดมาตรการแก้ไขป้องกันอันตรายจากขยะเหล่านี้ต่อไป.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์