สธ.ส่งเสริมคนไทยกินผลไม้สด ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง

สธ.ส่งเสริมคนไทยกินผลไม้สด ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง

วันนี้ (29 ก.ค.) นายสง่า ดามาพงษ์ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้มีข้อมูลน่าตกใจว่าคนไทยกินผักผลไม้น้อยมาก เฉลี่ยเพียงคนละ 275 กรัมหรือแค่ 2 ขีดกว่าๆ เท่านั้น ในขณะที่ตามมาตรฐานสากลกำหนดการกินผักผลไม้ที่ให้ประโยชน์และป้องกันโรคได้ อย่างน้อยต้องไม่ต่ำกว่าวันละ400 กรัม หรือ 4 ขีด หรือประมาณ 5 ทัพพี ทั้งๆที่ไทยเป็นดินแดนแห่งผลไม้หลากหลายชนิด หากินได้ตลอดทั้งปี รสชาติอร่อยเป็นที่ชื่นชอบทั้งคนไทยและต่างชาติ  
 
นายสง่ากล่าวว่า ที่สำคัญผลไม้สดๆ ของไทยมีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีวิตามิน แร่ธาตุ ที่สร้างภูมิคุ้มกันโรค และมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ลดภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง นอกจากนั้นยังอุดมไปด้วยใยอาหารที่ร่างกายจะขาดไม่ได้ หากจะกินผลไม้เพื่อให้ร่างกายได้รับประโยชน์เต็มที่ แนะนำให้กินผลไม้สด หากเป็นหลังเก็บใหม่ๆยิ่งดี เพราะจะได้รับวิตามินที่มีในผลไม้มากที่สุด   หากกินผัก ผลไม้สด วันละ 500 กรัม เป็นประจำ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งที่อวัยวะต่างๆได้ 20%

“การรณรงค์ ให้คนไทยดื่มน้ำผลไม้ มีข้อคิดเห็นว่าเป็นเพียงการปรับพฤติกรรมจากการเคยดื่มน้ำเปล่า ไปดื่มน้ำผลไม้เท่านั้น และเมื่อวิเคราะห์ถึงผลที่จะได้ต่อสุขภาพ ที่จะทำให้สุขภาพดีจากน้ำผลไม้ นับว่ามีประโยชน์น้อยกว่ากินผลไม้สด จึงขอให้ใช้ความรอบครอบในการรณรงค์ว่าจะเกิดผลคุ้มค่าหรือไม่ การแปรรูปผลไม้ที่เหลือจากการกินสดเพื่อเป็นน้ำผลไม้นั้น ควรส่งเสริมเพื่อส่งออกไปยังประเทศที่มีวัฒนธรรม และค่านิยมดื่มน้ำผลไม้แทนน้ำเปล่า” นายสง่ากล่าว 

นายสง่ากล่าวต่อไปว่า การกินส้มเขียวหวานสด 2 ผล ให้วิตามินซี 42 มก. ให้เบต้าแคโรทีน 82  มก. และใยอาหาร 1.3 กรัม แต่หากกินน้ำส้มคั้น 1 แก้ว จะให้วิตามินซีเพียง 26 มก. ส่วนเบต้าแคโรทีนและใยอาหารมีน้อยมากหรือเกือบไม่พบเลย เพราะได้แยกส่วนกากออกไปแล้ว ส่วนสับปะรดหากกิน 10 ชิ้นพอคำ ให้วิตามินซี 22 มก. แคลเซียม 17 มก. โปแตสเซียม 119 มก. และใยอาหาร 1.2 กรัม หากเป็นน้ำสับปะรด 1 แก้ว มีวิตามินซี 8 มก. แคลเซียม 13 มก.ไม่พบใยอาหารและโปแตสเซียมเลย ร่างกายจะไม่ได้ใยอาหาร ซึ่งมีประโยชน์ในการช่วยขับถ่ายและขับไขมันโคเลสเตอรอลออกจากร่างกาย  จึงขอแนะนำให้คนไทยใส่ใจกินผลไม้สดตามฤดูกาลให้มากขึ้น เพราะนอกจากจะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรไทยแล้ว ร่างกายยังได้รับสารอาหารมากกว่า

สำหรับน้ำผลไม้ที่วางขายอยู่ท้องตลาดปัจจุบัน มีกรรมวิธีการผลิต 2 รูปแบบ คือการผลิตหรือคั้นด้วยมือแล้วบรรจุขวดขาย อีกรูปแบบหนึ่งผลิตผ่านโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมักจะเติมสารอาหารและสารเพิ่มรสชาติ ซึ่งกระบวนการผลิตดังกล่าวมีโอกาสสูญเสียคุณค่าทางโภชนาการไปมาก โดยเฉพาะวิตามินต่างๆ ที่อยู่ในผลไม้หลายชนิด ที่ประชาชนควรระมัดระวังให้มากคือ น้ำผลไม้บางชนิดมีรสชาติที่เข้มข้น โดยเฉพาะรสหวานจัดที่มาจากการผสมน้ำตาล ถ้าดื่มติดต่อกันนานๆ ก่อให้เกิดโรคอ้วน และโรคอื่นๆ ตามมาได้ ที่สำคัญจะทำให้เสียโอกาสที่จะได้สารอาหารและใยอาหารไปโดยไม่จำเป็น นักวิชาการด้านโภชนาการส่วนมากได้เห็นพ้องต้องกันว่า น้ำดื่มที่ดีที่สุดต่อสุขภาพ คือ น้ำเปล่าที่สะอาด วันหนึ่งควรดื่มประมาณ 8 – 10 แก้ว ก็จะเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย นายสง่ากล่าวในที่สุด.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์