สธ.ชี้การบริโภคคาเฟอีนในเด็กไทยน่าห่วง

สธ.ชี้การบริโภคคาเฟอีนในเด็กไทย ยังน่าห่วง ทั้งน้ำอัดลม ขนมและลูกอมรสกาแฟ-ช็อกโกแลต เสี่ยงรับเกิน ส่งผลต่อสุขภาพ


วันนี้(14 มี.ค.) นพ.สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ. )กล่าวถึงสถานการณ์การบริโภคคาเฟอีนในเด็กไทยว่า จากข้อมูลการสำรวจสภาวะพฤติกรรมสุขภาพของเยาวชน อายุ 6-15 ปี ของกองสุขศึกษาล่าสุด พบว่าเด็กและเยาวชนยังคงดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำทุกวัน 10.5 %  ดื่ม 5-6 วันต่อสัปดาห์ 28.4% ดื่ม 3-4 วันต่อสัปดาห์ 26.1 นอกจากนี้ยังหันมารับประทาน ช็อกโกแลต เค้ก คุกกี้ ไอศกรีม น้ำอัดลม โดยคนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่ามีคาเฟอีนผสมอยู่    

นอกจากนี้ผลการศึกษาปริมาณการบริโภคคาเฟอีนจากขนมและลูกอมในแต่ละวันของเด็ก 2 กลุ่ม คือในกลุ่มอายุ  7-11 ปี  และอายุ 12-17 ปี ของมหาวิทยาลัยมหิดล

พบว่าเด็กอายุ 7-11 ปี  มีพฤตกรรมกินขนมและลูกอมรวมสูงสุดใน 1 วัน  392.8 กรัม  ทำให้ได้รับคาเฟอีนเฉลี่ยน 60.8 มิลลิกรัมต่อวัน  ส่วนในกลุ่มอายุ 12-17 ปี  กินขนมและลูกอมรวมกัน 209.2 กรัม  ทำให้ได้รับคาเฟอีนเฉลี่ย  23.1 มิลกรัมต่อวัน  โดยในลูกอมรสกาแฟ มีคาเฟอีน 2.7-3.2 มิลลิกรัมต่อเม็ด ลูกอมรสช็อกโกแลตมีคาเฟอีน 0.16 มิลลิกรัมต่อเม็ด นมรสช็อกโกแลต มีคาเฟอีน 12-14 มิลลิกรัมต่อกล่อง ขนมเวเฟอร์รสกาแฟ มีคาเฟอีน 1.1-1.3 มิลลิกรัมต่อชิ้น กาแฟ มีคาเฟอีน 80-100 มิลลิกรัมต่อแก้ว


ทั้งนี้สารคาเฟอีนถือเป็นสารออกฤทธิ์ต่อหลายระบบของร่างกาย

  เช่น ระบบประสาทส่วนกลาง ระบบการไหลเวียนของเลือด ระบบทางเดินอาหาร คาเฟอีนเป็นสารออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้รู้สึกสดชื่นไม่ง่วง รู้สึกมีพละกำลัง แต่ถ้าได้รับคาเฟอีนในปริมาณมาก 200-500 มิลลิกรัมต่อครั้ง  และเป็นเวลานานจะมีผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้นอนไม่หลับ ใจสั่น ปัสสาวะมาก คลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก ชัก เป็นแผลในกระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบ น้ำย่อยไหลย้อนกลับ หัวใจล้มเหลว และอาจเสียชีวิตได้ .


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์