สธ. เล็งเปิดทางใช้ ยาทำแท้ง แก้ปัญหาท้องไม่พร้อม

สธ. เล็งเปิดทางใช้ ยาทำแท้ง แก้ปัญหาท้องไม่พร้อม

'สธ.' เล็งเปิดทางใช้ 'ยาทำแท้ง' แก้ปัญหาท้องไม่พร้อม มอบ 'ราชวิทยาลัยแพทย์' ศึกษาข้อบ่งใช้-มาตรการคุมเข้มก่อนไฟเขียว บุกโซเชียลเป็นสื่อหวังเข้าถึงวัยโจ๋

26 มิ.ย.56 นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.)

ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาอนามัยเจริญพันธุ์แห่งชาติว่า กลยุทธ์ในการแก้ปัญหาการท้องไม่พร้อมจะเน้นใน 3 เรื่องหลัก คือ 1.การให้ความรู้และการศึกษาที่ต่อเนื่องแก่เด็กและเยาวชนเกี่ยวกับแนวทางการป้องกันการท้องไม่พร้อม รวมทั้งทำความเข้าใจกับผู้ใหญ่ว่าการห้ามไม่ให้เยาวชนมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องยาก แต่ต้องแนะนำแนวทางการป้องกันที่ถูกต้อง เช่น การที่โรงเรียนอนุญาตให้เจ้าหน้าที่เข้าไปให้ความรู้กับนักเรียน แต่ห้ามไม่ให้มีการแจกถุงยางอนามัยในโรงเรียน เป็นต้น

                     
2.การใช้โซเชียลมีเดีย เป็นสื่อกลางในการช่วยให้เยาวชนเข้าถึงแนวทางการป้องกัน ทั้งการเข้าถึงบริการและอุปกรณ์การป้องกัน ซึ่งอาจจะใช้เป็นแหล่งในการให้ความรู้ แจกฟรี หรือขายอุปกรณ์การป้องกัน เช่น ถุงยางอนามัย เพื่อแก้ปัญหาวัยรุ่นไม่กล้าเผชิญหน้าในการสอบถามข้อสงสัย และ3.สถานที่ให้บริการแก่เยาวชน อาจจะต้องมีการพัฒนาให้อยู่นอกโรงพยาบาล เป็นคลินิกต่างๆ

                    
 โดยให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น และรีแบนด์ หรือเปลี่ยนชื่อใหม่ เป็นคลินิกสุขภาพวัยรุ่น

เพราะหากใช้คลินิกอนามัยเจริญพันธุ์อาจทำให้เด็กเยาวชนไม่กล้าเข้ามาใช้บริการ ในส่วนของงบประมาณที่จะใช้ในการดำเนินการน่าจะมีจาก 2 ส่วน ได้แก่ งบประมาณส่งเสริมป้องกันโรคของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทั้งนี้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการพัฒนาอนามัยเจริญพันธุ์ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการให้แล้วเสร็จก่อนนำกลับมาเสนอคณะกรรมการชุดนี้อีกครั้ง ภายใน 60 วัน

                    
 นพ.ประดิษฐ กล่าวต่ออีกว่า คณะกรรมการได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการพัฒนาระเบียบ กฎ และกฎหมายด้านอนามัยเจริญพันธุ์

ทำการศึกษา ทบทวน กฎหมาย กฎระเบียบที่อาจเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงการคุมกำเนิดและการแก้ปัญหาท้องไม่พร้อม อาทิ การห้ามขายยายุติการตั้งครรภ์ แต่จะต้องหารือกับราชวิทยาลัยแพทย์ที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการออกข้อบ่งชี้ในการใช้และมาตรการควบคุมที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการนำยาชนิดนี้ไปใช้ในทางที่ผิด จากนั้นจึงจะพิจารณาว่าควรเดินหน้าในเรื่องนี้ต่อไปหรือไม่อย่างไร เพราะมีทั้งผลดีและผลเสีย

                    
 “คณะกรรมการมีการหารือในเรื่องปัญหาการท้องไม่พร้อม ซึ่งพบว่ามีปัญหาในกลุ่มของเยาวชนในระบบการศึกษาและผู้หญิงในภาคอุตสาหกรรม
เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวยังมีทัศนคติที่ไม่ดีในเรื่องการคุมกำเนิด ขาดความรู้และเข้าไม่ถึงอุปกรณ์การป้องกันการท้องไม่พร้อม จากการที่ผู้ปกครองมองว่าจะเป็นส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร จึงอยากให้ผู้ปกครองและผู้ใหญ่ ซึ่งต้องยอมรับว่าในยุคปัจจุบันการจะห้ามไม่ให้เด็กและเยาวชนมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องยาก” นพ.ประดิษฐ กล่าว


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์