สธ. เตือนระวังไข้เลือดออก-หลังพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น

สำนักข่าวไทย 1 มี.ค.- สธ.เตือนประชาชนระวังโรคไข้เลือดออก หลังพบผู้ป่วยแล้ว 3,757 ราย เสียชีวิต 3 ราย ชี้สาเหตุเพราะอากาศร้อนจัดทำให้ยุงลายเติบโตเร็ว และหากเปรียบเทียบข้อมูลพบแค่ต้นปีอัตราการป่วยกลับสูงกว่า ปี 2552 และกทม.ยังคงครองแชมป์พบอัตราการป่วยมากสุดถึงร้อยะ 60

นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวแสดงความห่วงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกว่าเนื่องจากสภาพอากาศร้อนเร็วกว่าทุกปี

ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกน้ำยุงลายเจริญเติบโตได้ดี และข้อมูลทางวิชาการพบว่าขณะนี้การเจริญเติบโตของลูกน้ำยุงลาย กลายเป็นยุงใช้เวลาเพียง 5 วัน จาก 7 วัน ทำให้ปริมาณยุงตัวเต็มวัยเพิ่มมากขึ้น จึงคาดการณ์ว่า ในปี 2553 อาจเกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออก และตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2553 ถึง 13 กุมภาพันธ์ 2553 ทั่วประเทศมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเข้ารักษา และรับการรักษาในโรงพยาบาลรวม 3,757 ราย เฉลี่ยวันละ 85 ราย เสียชีวิต 3 ราย โดยพบผู้ป่วยมากที่สุดในภาคกลาง คิดเป็นร้อยละ 55 รองลงมา ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคเหนือพบอัตราการป่วยน้อยที่สุด

นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่าหากเปรียบเทียบสถิติผู้ป่วยโรคในช่วง 2 เดือนของปีนี้ กับปี 2552 พบสูงกว่าช่วงเดียวกัน ถึงร้อยละ 49

ซึ่งมีผู้ป่วยทั้งหมดเพียง 2,511 ราย และในปี 2553 พบอัตราการป่วยในทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะ กทม.พบอัตราการป่วยมากถึงร้อยละ 60 ทั้งนี้ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเตรียมการป้องกันก่อนถึงฤดูกาลระบาด ในช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม และให้ทุกพื้นที่ช่วยกันลดจำนวนยุงลายให้เหลือน้อยที่สุด โดยการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่มักอาศัยในภาชนะที่มีน้ำท่วมขัง และหากมีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออก ให้ดำเนินการสอบสวนโรคและควบคุมโรคภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้โรคแพร่ระบาด และพ่นสารเคมีรอบบ้านผู้ป่วยรัศมีอย่างน้อย 100 เมตร เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดโรค

นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าโรคไข้เลือดออกสามารถรักษาให้หายได้ หากมารับการรักษาเร็ว

โดยอาการทั่วไปของโรคที่พบทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ไม่แตกต่างกัน มีไข้สูงมาก กินยาแล้วไข้ไม่ลด อาจมีจุดเลือดออกเล็ก ๆ สีแดงที่ผิวหนังกระจายตามตัว เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน แต่ในผู้ใหญ่มักจะมีอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตามาก รุนแรงกว่าเด็ก และจะมาพบแพทย์ช้า เนื่องจากไม่คิดว่าตัวเองป่วยเป็นไข้เลือดออก สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี ที่มีโรคประจำตัว เช่น แผลในกระเพาะอาหาร โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงหากเป็นไข้เลือดออกก็ยิ่งทำให้อาการหนักมากขึ้น

นพ.มานิต กล่าวอีกว่าอาการรุนแรงของโรคไข้เลือดออกในระยะที่ไข้ลดลง ถือเป็นช่วงอันตรายมาก

ขอให้ประชาชนสังเกตว่า หากไข้ลดลง แต่ผู้ป่วยยังมีอาการซึม อ่อนเพลีย มีอาการปวดท้อง แม้จะรู้สึกตัวดี พูดคุยได้ กินอาหารได้ก็ตาม จะต้องรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะหากไม่ไปพบแพทย์ภายใน 10-12 ชั่วโมง อาจเกิดอาการช็อค มีอาการตับวาย ไตวายแทรกซ้อน จนเสียชีวิตได้.-สำนักข่าวไทย


เครดิต :

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์