สคบ.แนะ ตุ๋นอีเมล์ ร้องทุกข์

"สคบ."แนะป้าร้อยเอ็ด เหยื่อแก๊งอีเมล์ต้มตุ๋นข้ามชาติเข้าร้องทุกข์

จะได้หาทางช่วยเหลือ ยอมรับเอาผิดยาก เพราะไม่มีอำนาจจับกุม ถ้าจะร้องเรียนต้องดูข้อกฎหมายหลายฉบับ พี่สาวแทบช็อก เพิ่งรู้น้องสาวโดนแก๊งต่างชาติต้มตุ๋น เผยเอาบ้านไปจำนองจริงกับเศรษฐินีเมืองร้อยเอ็ด ที่ผ่านมาโกหกมาตลอดว่าประชุมสัมมนาที่โน่นที่นี่ หายไปครั้งละหลายวัน แถมทิ้งแม่ให้อดๆ อยากๆ ระบุทุกคนเสียใจมาก

จากกรณีนางเอมอร พรหมมาโนช อายุ 63 ปี

อยู่บ้านเลขที่ 38 ถ.ราชการดำเนิน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด เข้าร้องเรียนว่า ถูกแก๊งต้มตุ๋นข้ามชาติหลอก โดยเมื่อต้นปี 2549 ได้รับอีเมล์จากประเทศบูร์กินาฟาโซ ในทวีปแอฟริกา อ้างว่าตนเองเป็นผู้โชคดีได้รับรางวัลจากกองทุนยาฮูเมล์จำนวน 850,000 ยูโร จากประเทศเบนิน ในทวีปแอฟริกาเช่นกันอีก 14.3 ล้านยูโร และอีเมล์สุดท้ายมาจากกวางโจว ประเทศจีน 30.2 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยรวมแล้วทั้งหมดประมาณพันล้านบาท ต่อมารู้ว่าถูกหลอกก็สูญเงินไปแล้วร่วม 6 ล้านบาท และบ้านกำลังจะถูกยึด ตามข่าวที่เสนอไปแล้วนั้น

ล่าสุด เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 29 ส.ค.

ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่บ้านเลขที่ 38 ถนนราชการดำเนิน อ.เมืองร้อยเอ็ด ของนางเอมอร พรหมมาโนช พบแต่นางอมร จันทะสูนย์ อายุ 70 ปี พี่สาว นายสอน จันทะสูนย์ อายุ 68 ปี พี่เขย นำอาหารมาให้นางสอน ผุยศรี อายุ 94 ปี มารดานางเอมอร โดยนางอมรกล่าวทั้งน้ำตาว่า ทราบจากแม่ว่า น้องสาวยังไม่กลับจากกรุงเทพฯ

นางอมร กล่าวว่า

พวกตนและแม่ไม่ทราบเรื่องดังกล่าวเลย มาทราบจากข่าวทางหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์นี่เอง ว่า น้องสาวไปร้องเรียนว่า สูญเงินกว่า 6 ล้านบาท โดยนำเอาบ้านและที่ดินไปจำนองกับนายเส็ง และนางนงนุช เพียรดี เศรษฐินีในตัวเมืองร้อยเอ็ด ครั้งแรก 5 ล้าน ครั้งที่ 2 จำนวน 1 ล้าน แล้วส่งเงินไปให้พวกต้มตุ๋นในต่างประเทศรวมทั้งสิ้น 37 ครั้ง เพื่อหวังเงินที่เขาบอกว่าจะจ่ายให้งวดแรก 37 ล้านบาท ส่วนเงินอื่นๆ เป็นร้อยๆ ล้านนั้น พวกตนไม่ทราบ แต่ที่กู้เงินไปจ่ายเขาและถูกหลอกให้ส่งเงินนั้นขอยืนยันว่าเป็นจริง

"น้องสาวโกหกทุกคนมาโดยตลอดว่าไปประชุมสัมมนาที่โน่นที่นี่มาตั้งแต่ต้นปี 2549

แต่ละครั้งหายไปหลายๆ วัน ทิ้งให้แม่อดๆ อยากๆ จนกระทั่งดิฉันกับสามีต้องมาดูแลทุกครั้งที่น้องหายไป แต่เรื่องมาแดงว่าถูกต้มตุ๋นตอนที่รายการทีวีช่องหนึ่งออกข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ ทุกคนเสียใจมาก แต่ที่น่าสงสารคือแม่ที่แก่อายุ 94 ปี เดินไม่ได้ ซ้ำไม่รู้เรื่องอะไร จะอยู่ที่ไหนหากบ้านถูกยึด จะกินอย่างไรต่อไปในอนาคต แต่สำหรับฉันและครอบครัวไม่ทิ้งแม่แน่" นางอมร กล่าว

นายนิโรธ เจริญประกอบ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เผยถึงกรณีดังกล่าวว่า

เรื่องนี้ต้องตรวจสอบก่อนว่ามีบริษัทหรือเครือข่ายดังกล่าวในประเทศหรือไม่ ถ้าไม่มีก็เป็นเรื่องยากที่จะเอาผิดบุคคลนั้นได้ เพราะเราไปติดต่อผ่านทางเขาเอง เราไม่มีอำนาจไปจับกุมเขาข้ามประเทศ เพราะอาจทำให้ประเทศของเขาเสียชื่อเสียงอีกด้วย แต่ถ้าจะร้องเรียนต้องดูข้อกฎหมายหลายฉบับ และกฎหมายระหว่างประเทศว่าประเทศนั้นๆ มีสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเราหรือไม่

นายนิโรธ กล่าวต่อว่า

เรื่องนี้ซับซ้อนมากอาจเกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการหลายแห่ง เช่น กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กระทรวงการต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ตำรวจและอาจรวมถึงสถานทูต สถานกงสุล แต่จากข่าวที่ออกมาเจ้าหน้าที่กงสุลและสถานทูตแจ้งว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะว่าบุคคลที่นางเอมอรโอนเงินไปให้ไม่มีชื่อจริง อาจเป็นชาวต่างชาติที่มาเปิดบัญชีไว้ และเมื่อได้เงินที่โอนมาแล้วก็ปิดบัญชีหนีไป ซึ่งเรื่องราวลักษณะนี้ทางสคบ.ยังไม่เคยได้รับการร้องเรียนมาก่อน ทั้งนี้ ตนแนะนำให้นางเอมอร เข้ามาพบทางสคบ.เพราะมีหน่วยงานรับเรื่องราวร้องทุกข์อยู่ เพื่อจะหาทางแก้ไขต่อไป

พล.ต.ต.พิสัณห์ จุลดิลก ผกก.ศูนย์ตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำผิดทางเทคโนโลยี กล่าวว่า

กำลังตรวจสอบอีเมล์แอดเดรสก่อนว่าส่งมาจากไหน ประเทศอะไร อาจจะต้องขอความร่วมมือจากต่างประเทศ ที่ผ่านมาพบการกระทำผิดลักษณะนี้ประมาณ 3-4 ราย ปัจจุบันเมืองไทยเรายังไม่มีกฎหมายครอบคลุมเรื่องอินเตอร์เน็ตโดยตรง ส่วนกฎหมายอินเตอร์เน็ตของเมืองไทยนั้น ยังอยู่ระหว่างการร่างตัวบทกฎหมายว่าควรจะให้ผู้มาใช้บริการลงทะเบียน เพราะถ้ามีการกระทำผิดเกิดขึ้นจะได้ตามหาตัวได้

พล.ต.ต.พิสัณห์ แนะนำวิธีป้องกันไม่ให้เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นว่า

คงทำไม่ได้ แต่คงต้องป้องกันทางศีลธรรม ต้องตรวจสอบว่าอะไรที่เราดูแล้วไม่มีเหตุผลก็ไม่ควรจะไปสนใจ เช่น เราไม่ได้ซื้อลอตเตอรี่ แต่มีคนมาบอกว่าเราถูกลอตเตอรี่ เป็นต้น ข้อสำคัญคืออย่าโลภมาก และถ้ามีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นควรแจ้งเบาะแสให้ตำรวจทราบทันที

ด้าน พ.ต.ท.วรวัฒน์ อังสุมาลี พงส.(สบ 3) กลุ่มงานสอบสวน บก.ปศท. กล่าวว่า

ลักษณะนี้เป็นเรื่องของการฉ้อโกง ต้มตุ๋นหลอกลวง เพียงอย่างเดียว ซึ่งเกิดขึ้นทางอินเตอร์เน็ตเป็นประจำ ส่วนการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดนั้นต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยสืบสวนและต้องประสานกับหน่วยงานต่างประเทศ เพื่อให้รู้ถึงแหล่งที่มาของการโอนเงินว่าใครเป็นเจ้าของบัญชี ซึ่งเป็นเรื่องที่ยุ่งยากพอสมควร แต่ถ้าเป็นความผิดที่เกิดขึ้นตามกฎหมายอาญาคือจะต้องรู้ตัวว่าใครเป็นผู้กระทำผิด

วันเดียวกัน พ.อ.ปิยวัฒน์ กิ่งเกตุ ผบ.คดีอาญากรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวถึงกรณีที่นางเอมอรว่า

ที่ผ่านมาทางดีเอสไอเคยได้รับร้องเรียนมาประมาณ 5-6 ราย แต่เนื่องจากว่าวงเงินที่ได้รับความเสียหายยังไม่สูง จึงไม่สามารถรับเป็นคดีพิเศษได้ ซึ่งวิธีการของกลุ่มดังกล่าวจะใช้วิธีการอ้างว่าเหยื่อถูกรางวัล โดยให้ติดต่อรับเงินรางวัล ตามที่นัดหมาย และตามเงื่อนไขของกลุ่ม ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวเป็นการหลอกลวง สร้างความปั่นป่วนให้สังคม เหตุการณ์ลักษณะนี้มีเยอะมาก ขอให้ประชาชนระมัดระวังอย่าได้หลงเชื่อและโลภ

พ.อ.ปิยวัฒน์ กล่าวอีกว่า

การติดตามจับกุมกลุ่มคนร้ายนั้น จริงๆ แล้วสามารถที่จะดำเนินการสืบสวนได้ โดยตรวจสอบจากหมายเลขบัญชีของเหยื่อที่โอนให้คนร้าย ถึงแม้กลุ่มคนร้ายจะมีสำนักงานอยู่ต่างประเทศก็ติดตามได้ ส่วนกรณีที่เหยื่อถูกหลอกให้โอนเงินไปหลายๆ ประเทศ ลักษณะแบบนี้จะทำเป็นเครือข่าย ลักษณะอาชญากรรมข้ามชาติ รับเป็นคดีพิเศษได้

ทั้งนี้ อยากให้ผู้เสียหายเดินทางมาร้องเรียนกับทางดีเอสไอเพื่อจะได้ช่วยตรวจสอบและจับกุมต่อไป

โทษนั้นก็จะเป็นการฉ้อโกงประชาชน และผมก็อยากจะแจ้งเตือนไปยังประชาชน ให้ระมัดระวังเรื่องนี้ให้มาก ที่สำคัญอย่าโลภ และหากมีคนโทร.มาลักษณะแบบนี้ก็ขอให้ติดต่อกับทางหน่วยงานราชการเพื่อขอหารือก่อนที่จะโอนเงินหรือทำธุรกรรมใดๆให้กับกลุ่มคนร้าย" พ.อ.ปิยวัฒน์ กล่าว

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์