ส.ส.อังกฤษผลาญภาษี ปธ.สภาทิ้งเก้าอี้รอบ300ปี


ตําแหน่งสูงสุดและทรงเกียรติของรัฐ สภาอังกฤษถึงคราวสั่นสะเทือนที่สุดในรอบ 300 ปี

หลังจากไม่เคยมี "ประธานสภาผู้แทนราษฎร" คนใด ถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่งนี้นับตั้งแต่ปีค.ศ.1695 (พ.ศ.2238)

นายไมเคิล มาร์ติน ส.ส.กลาสโกว์ วัย 63 ปี ที่เป็นสมาชิกสภาต่อเนื่องมานานกว่า 30 ปี จำเป็นต้องสังเวยตนเองในวิกฤตรัฐสภาครั้งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อประธานสภาต้องรับผิดชอบต่อกรณีที่บรรดาส.ส.ใช้เงินหลวงอย่างสุรุ่ยสุร่าย ไม่ เกรงใจประชาชนผู้เสียภาษี

หลังจากกระแสสังคมกดดันหนัก และมีสมาชิกสภาอีก 23 คน ลงชื่อให้เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ "ท่านประธาน"

นายมาร์ตินจำต้องแถลงต่อที่ประชุมสภา เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ว่า จะลาออกจากตำแหน่งประธานสภา พร้อมตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนของกลาสโกว์ ในวันที่ 21 มิถุนายนนี้ เพื่อรักษาความสามัคคีของสภาไว้

"ผมรู้สึกมาตลอดว่า สภาจะทำงานดีที่สุดเมื่อเป็นเอกภาพ เพื่อรักษาสิ่งนี้ไว้ ผมจึงตัดสินใจที่จะลาออกจากตำแหน่งประธานสภา"

ส่วนผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งแทน สมาชิกสภาจะลงมติคัดเลือกในวันถัดไปคือวันที่ 22 มิ.ย.

ปมปัญหาของวิกฤต "ส.ส.มือเติบ" ครั้งนี้ ไม่ได้อยู่ที่ตัวนายมาร์ติน

แต่ท่านประธานสภาพลาดท่าในการรับมือ กับปัญหาตั้งแต่ตอนแรก

แทนที่จะตอบรับในเรื่องที่ประชาชนโกรธแค้น กลับกล่าวว่า จะให้ตำรวจสอบสวนว่า เอกสารลับของสภารั่วไหลไปถึงมือหนังสือพิมพ์ "เดลี่เทเลกราฟ" ที่รายงานเปิดโปงได้อย่างไร


สิ่งที่ชาวบ้านชาวเมืองทั่วเกาะอังกฤษตั้งคำถามก็คือ เหตุใดสภามีกลไกที่ปล่อยให้ส.ส.ผลาญภาษีประชาชนเช่นนี้ได้

โดยเฉพาะช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศและของโลกกำลังย่ำแย่เต็มที

หลังจากเดลี่เทเลกราฟ ตีพิมพ์รายชื่อส.ส.ทั้งพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน พร้อมค่าใช้จ่ายเหลวไหลไร้สาระของแต่ละรายยาวเป็นหางว่าว

มีตั้งแต่เงินค่าอาหารเครื่องดื่มที่ไม่มีใบเสร็จ ไปจนถึงค่าซ่อมสระว่ายน้ำ สนามเทนนิส ทำความสะอาดคฤหาสน์ในเขตชนบท

มีตั้งแต่ค่าโคมไฟระย้าไปจนถึงอาหารสุนัขและแมว!

มีตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลายแสนบาท!!

แต่การลาออกของนายมาร์ตินไม่ใช่ "ตอนจบ" ของกรณีอื้อฉาวของสภา

สื่อมวลชนอังกฤษคาดว่า ยังมี "ภาคต่อ" อีกหลายตอนทีเดียว

เริ่มด้วยการเรียกร้องของ เดวิด คาเมรอน ผู้นำฝ่ายค้าน พรรคอนุรักษนิยม ให้นายบราวน์ร่นกำหนดเวลาเลือกตั้งทั่วไปเข้ามาเร็วขึ้น จากกำหนดเดิมในช่วงกลางปีหน้า เพื่อล้างส.ส.อื้อฉาวออกจากสภา

แต่นายบราวน์ไม่ขานรับข้อเรียกร้องนี้ เพราะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง แต่ให้คำมั่นว่าจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น มีหน่วยงานอิสระที่คอยตรวจสอบค่าใช้จ่ายของส.ส.อุดรอยโหว่ของปัญหาที่ส.ส. เบิกเงินหลวงไปใช้อย่างสำเริงสำราญ

"ผมต้องรับผิดชอบ ในกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ผมขอโทษประชาชนของประเทศ ผมโกรธและตกใจกับเรื่องนี้" นายกรัฐมนตรีกล่าว

ในระบบที่ใช้อยู่ปัจจุบัน ส.ส.มีสิทธิที่จะเบิกค่าใช้จ่ายสำหรับค่าเช่าและค่าใช้จ่ายสำหรับที่พักแห่งที่สองได้ปีละ 24,000 ปอนด์ หรือราว 1.2 ล้านบาทต่อปี

เพราะปกติแล้วส.ส.คนหนึ่งจะมีที่พักในกรุงลอนดอน และในบ้านเกิด

ช่องทางนี้ทำให้ส.ส.เบิกเงินไปซื้อเฟอร์ นิเจอร์ อาหารและค่าซ่อมแซมต่างๆ ได้

บทบรรณาธิการของเดลี่เทเลกราฟ ผู้เปิดโปงเรื่องอื้อฉาวนี้ เขียนว่า การลาออกของนายมาร์ตินเป็นเพียงขั้นแรกของการปฏิวัติอังกฤษ

"และสะท้อนถึงการล่มสลายในศรัทธาของชาวอังกฤษต่อระบบการเมือง"

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์