ศิริราชผลิตแอนติบอดีรักษาอีโบลาสำเร็จ จดสิทธิบัตรในไทยแล้ว

ศิริราชผลิตแอนติบอดีรักษาอีโบลาสำเร็จ จดสิทธิบัตรในไทยแล้ว



'ศิริราช'ผลิตแอนติบอดีรักษาอีโบลาสำเร็จ

'ศิริราช'ผลิตแอนติบอดีรักษาอีโบลาสำเร็จครั้งแรกของโลก ขนาดเล็กกว่าของสหรัฐฯ 5 เท่า กลไกออกฤทธิ์ต่างกัน ประสิทธิภาพไทยดีกว่า จดสิทธิบัตรในไทยแล้ว
               เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ที่โรงพยาบาลศิริราช ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าว “ครั้งแรกของไทย ศิริราชผลิตแอนติบอดีรักษาโรคไข้เลือดออกอีโบลา”ว่า เชื้อไวรัสอีโบลา คือ ไข้เลือดออกชนิดหนึ่ง ซึ่งศิริราชมีการศึกษาค้นคว้ามาตลอดในการรักษาไข้เลือดออกเดงกี่ที่มีการระบาดในประเทศ ซึ่งการรักษาคล้ายๆกัน ขณะนี้รพ.ศิริราชสามารถผลิตแอนติบอดีรักษาไข้เลือดออกอีโบลาได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของไทยและครั้งแรกของโลก ซึ่งเป็นแอนติบอดีที่ได้มีการพิสูจน์และมีความแตกต่างจากแอนติบอดีที่ใช้อยู่ที่เป็นของสหรัฐอเมริกา โดยที่รพ.ศิริราชผลิตได้มีขนาดเล็กกว่า 5 เท่า กลไกในการออกฤทธิ์ต่างกันและของไทยมีประสิทธิภาพดีกว่า สามารถนำไปประยุกต์ใช้รักษาได้ และเป็นต้นแบบในการพัฒนาต่อด้วยการทดลองในสัตว์และมนุษย์ต่อไป  
        
                ต่อข้อถามสามารถนำไปใช้ในการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลาใน 3 ประเทศที่มีการระบาดอยู่ได้เลยหรือไม่ ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวว่า ปัจจุบันการระบาดของอีโบลาถือเป็นภาวะวิกฤติ ยาที่ใช้ในการรักษาไม่จำเป็นต้องทำการทดลองจนครบขั้นตอนทดลองในสัตว์และในคน  ถ้าประเทศไทยสามารถผลิตได้ในปริมาณมากก็ยินดีที่จะส่งไปช่วยในประเทศแถบแอฟริกา  แต่ขณะนี้รพ.ศิริราชยังผลิตได้ในระดับห้องปฏิบัติการซึ่งได้ปริมาณน้อย  ส่วนการฉีดในคนจะต้องใช้ปริมาณมาก อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นรพ.ศิริราชสามารถขอให้บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ที่ก่อตั้งโดยความร่วมมือระหว่าง บริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และม.มหิดลเพื่อผลิตในปริมาณมากได้ ส่วนการทดลองขั้นต่อไปในสัตว์จะดำเนินการในต่างประเทศ เนื่องจากต้องใช้ห้องปฏิบัติการที่มีความปลอดภัยสูงระดับ 4 ซึ่งในประเทศไทยไม่มี โดยจะดำเนินการผ่านบริษัทสยามไบโอไซน์ฯ
           
                “รพ.ศิริราชจะแจ้งไปยังองค์การอนามัยโลกหรือฮูให้รับทราบถึงสิ่งที่รพ.ศิริราชสามารถดำเนินการได้ ส่วนหากฮูจะมาหารือหรือทำความร่วมมือกันก็ยินดี ความสำเร็จในครั้งนี้ถือเป็นความภูมิใจของไทย รพ.ศิริราชพูดความจริงไม่จำเป็นต้องโม้ เพราะมีทุนทางสังคมสูงอยู่แล้ว”ศ.คลินิก นพ.อุดมกล่าว
           
                ศ.เกียรติคุณ ดร.วันเพ็ญ ชัยคำภา หัวหน้าทีมผู้ผลิตแอนติบอดีรักษาโรคไข้เลือดออกอีโบลา กล่าวว่า แอนติบอดีสร้างจากโปรตีนชนิดหนึ่งที่สร้างระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของมนุษย์ ซึ่งจะถูผลิตขึ้นหลังจากที่ได้รับเชื้อหรือสิ่งแลปกปลอมชนิดใดชนิดหนึ่งเข้ามาในร่างกายแอนติบอดีจะถูกผลิตออกมาจากเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ลิมโฟซัยท์บี โดยร่างกายจะใช้เวลาประมาณ 7-10 วันหลังจากได้รับเชื้อหรือสิ่งแปลกปลอมในการที่แอนติบอดีจะทำหน้าที่กำจัดเชื้อหรือสิ่งที่เป็นพิษออกจากร่างกาย แต่บางครั้งอาจไม่ทันในกรณีที่เชื้อที่เข้ามามีความรุนแรงมาก เช่น ไวรัสอีโบลา จึงจำเป็นต้องสร้างแอนติบอดีเก็บไว้เพื่อพร้อมใช้เมื่อรับเชื้อเข้ามาในร่างกายสามารถนำแอนติบอดีมาฉีดได้ทันที
           
                ศ.เกียรติคุณ ดร.วันเพ็ญ กล่าวอีกว่า สำหรับแอนติบอดีรักษาโรคไข้เลือดออกอีโบลาที่รพ.ศิริราชผลิตได้มีคุณสมบัติพิเศษ คือ 1.มีขนาดเล็กกว่าแอนติบอดีตามปกติ 5 เท่าเรียกว่า แอนติบอดีสายเดี่ยว 2.สามารถแทรกเข้าเนื้อเยื่อ เข้าถึงเซลล์ที่ติดเชื้อและเข้าถึงๆวรัสที่เข้าเซลล์ไปแล้วได้ 3.มีความจำเพาะต่อโปรตีนสำคัญของไวรัสอีโบลา ชนิดจีพีหนึ่ง-จีพีสอง นิวคลีโอโปรตีน(NP) ไวรัสโปรตีน-๔๐(VP40) ไวรัสโปรตีน-๓๕ (VP35) 4.มีความปลอดภัยต่อคนเพราะผลิตจากยีนของคน และ5.เป็นแอนติบอดีพร้อมใช้ ฉีดให้ผู้ติดเชื้อได้ทันที
           
                ในการผลิตแอนติบอดดีรักษาโรคไข้เลือดออกอีโบลา ทีมวิจัยได้ผลิตโปรตีนต่างๆของไวรัสอีโบลา โดยใช้ยีนสังเคราะห์ที่ถูกสั่งผลิตขึ้น ไม่ได้นำเข้าเชื้ออีโบลาเข้ามาแต่อย่างใด แต่ใช้ลำดับเบสอ้างอิงของเชื้อไวรัสอีโบลาที่ระบาดอยู่ในขณะนี้เป็นต้นแบบ จากนั้นนำโปรตีนแต่ละชนิดไปตรึงบนพื้นผิวพลาสติก คัดเลือกด้วยไวรัสของแบคทีเรีย(ฟาจ)จากคลังที่รพ.ศิริราชมีอยู่ โดยในฟาจจะยีนของคนทีททำหน้าที่สร้างแอนติบอดีอยู่กับยีนฟาจ ดังนั้น ฟาจแต่ละอนุภาคจะมีแอนติบอดีของคนหนึ่งชนิดปรากฎอยู่บนผิว เมื่อเติมคลังฟาจลงบนโปรตีนของไวรัสอีโบลาที่ตรึงไว้ ฟาจที่มีแอนติบอดีจำเพาะต่อโปรตีนนั้นๆก็จะจับกับโปรตีน ต่อด้วยนำฟาจที่จับกับโปรตีนของไวรัสอีโบลาไปใส่ในแบคทีเรียชนิดพิเศษ แล้วนำแบคทีเรียไปเพาะเลี้ยงพร้อมเหนี่ยวนำให้ผลิตแอนติบอดีจากยีนที่ฝากไว้ในฟาจ ทำการแยกเอาแอนติบอดีออกมาจากแบคทีเรีย โดยไม่ให้มีโปรตีนของแบคทีเรียปนเปื้อน ก็จะได้แอนติบอดีจำเพาะต่อโปรตีนของไวรัสอีโบลาที่เป็นแอนติบอดีของมนุษย์ จึงปลอดภัยต่อการใช้ในคน
           
                ศ.เกียรติคุณ ดร.วันเพ็ญ กล่าวด้วยว่า กลไกในการทำงานรักษาโรคไข้เลือดออกอีโบลาของแอนติบอดีตัวนี้ เป็นการเข้าไปยับยั้งการทำงานของโปรตีนสำคัญของไวรัสอีโบลา โดยจะยอมให้เชื้อไวรัสอีโบลาเข้ามาสู่เซลล์ จากนั้นแอนติบอดีนี้จะจับขังไม่ให้ไวรัสออกไปยังไซโตพลาสมาในเซลล์ แต่ถ้ายังสามารถหลุดออกมาได้ก็จะไปสกัดที่ไวรัสโปรตีน 35 หากไวรัสยังหลุดได้อีกก็จะสกัดที่ไวรัสโปรตีน 40 ซึ่งเป็นการสกัดการประกอบร่างของไวรัสรุ่นลูก ทำให้ไม่สามารถแพร่ขยายเพิ่มจำนวนเชื้อในร่างกายของผู้ติดเชื้อได้ จึงไม่ก่ออาการรุนแรง ส่วนไวรัสที่ถูกแอนติบอดีจับขังไว้ก็จะถูกร่างกายจัดการไปตามระบบปกติ ทั้งนี้ จะต้องทำการฉีดแอนติบอดีให้กับผู้ติดเชื้อในช่วงเวลาที่ยังไม่มีอาการเลือดออกหรืออวัยวะสำคัญวายแล้ว จึงจะได้ผล ขณะนี้ได้จดสิทธิบัตรในประเทศไทยแล้ว คาดว่าจะสามารถตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติที่เกี่ยวกับภูมิต้านทานวัรสโดยเฉพาะได้ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ยินดีที่จะให้ต้นแบบของแอนติบอดีตัวนี้ไปใช้ประโยชน์เพื่อมนุษยชาติ
         
                “กลไกการทำงานของแอนติบอดีนี้แตกต่างจากแอนติบอดีที่สหรัฐอเมริกาผลิตขึ้น หรือที่เรียกว่า ซีแมป(ZMapp) เนื่องจากซีแมปจะทำการสกัดเชื้อไวรัสที่ภายนอกเพื่อไม่ให้เชื้อเข้าสู่เซลล์ แต่ไวรัสมีความฉลาดปล่อยตัวลวงออกมาทำให้ซีแมปไปจับกับตัวลวง ไวรัสจึงยังสามารถผ่านเข้าสู่เซลล์ได้ทำให้การรักษาไม่ได้ผลในบางราย ขณะที่แอนติบอดีของศิริราชจะปล่อยให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์แล้วไปสกัดไวรัสในหลายจุดเพื่อหยุดการเพิ่มจำนวนของไวรัสดังที่กล่าว  ทั้งนี้ แอนติบอดีของศิริราชเป็นการสกัดโปรตีนสำคัญ 3 ตัวของไวรัรสอีโบลาซึ่งมีอยู่ในไวรัสอีโบลาทุกสายพันธุ์  แอนติบอดีนี้จึงใช้รักษาได้ทุกสายพันธุ์" ศ.เกียรติคุณ ดร.วันเพ็ญกล่าว 
          
                ศ.ดร.พญ.รวงผึ้ง สุทเธนทร์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย กล่าวว่า  แอนติบอดีรักษาไข้เลือดออกอีโบลานี้ ถือเป็นยารักษาที่เรียกว่ายาชีววัตถุ ซึ่งเป็นการผลิตจากเซลล์ของสิ่งมีชีวิต ไม่ใช่ยาที่ผลิตจากสารเคมี ในการใช้รักษาเบื้องต้นจะต้องทำการฉีด 10 กรัมต่อครั้งตามมาตรฐานซีแมป และฉีดไปจนกว่าไวรัสจะหมดจากร่างกาย แต่ในห้องปฏิบัติการสามารถผลิตได้เพียง 20 มิลลิกรัมเท่านั้น อย่างไรก็ตาม จะบอกได้ว่าต้องฉีดปริมาณเท่าไหร่แน่ชัดเมื่อผ่านการทดลองในสัตว์ 

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์