ศาลรัฐธรรมนูญฟันธงแล้ว ร่างกม.เจ็ดชั่วโคตร-หวยบนดิน-ป่าชุมชนขัด รธน.-องค์ประชุม สนช.ไม่ครบ


ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว ร่าง พ.ร.บ. สำคัญ 3 ฉบับ"เอาผิด ขรก.เจ็ดชั่วโคตร-หวยบนดิน-ป่าชุมชน"ตกไป กระบวนการตราขัด รธน. ขณะลงมติเห็นชอบ สนช.เข้าร่วมไม่ครบองค์ประชุม เผยเหตุเพราะเร่งออกกฎหมายหลายฉบับช่วงใกล้หมดวาระ

ผู้สื่อข่าว"มติชนออนไลน์"รายงานเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับร่างกฎหมายหลายฉบับซึ่งผ่านความเห็นชอบจากกสภานิติบัญญัติในช่วงรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ว่า ตราขึ้นไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550  คือ องค์ประชุมของสภานิติบัญญัติไม่ครบองค์ประชุมหรือไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ขณะลงมติให้ความเห็นชอบซึ่งทำให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวตกไปหรือไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้

ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวที่สำคัญ เช่น ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ....หรือที่เรียกว่า กฎหมายเจ็ดชั่วโคตรเพราะสามารถเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่ จากการกระทำ นอกจากพ่อแม่ ลูกเมียแล้ว ยังรวมถึงญาติอื่นๆด้วยถึง 84 คน , ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ....  ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ... ซึ่งให้อำนาจสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลสามารถออกเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว
 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องจากสมาชิกสภานิติบัญญัติ(สนช.)ได้เข้าชื่อไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนที่มีอยู่ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 154(1)หลังจากที่ร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชองของ สนช.ในวาระที่ 3 

สำหรับสาเหตุที่ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ นั้นเนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว สภานิติบัญญัติได้เร่งให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายเป็นจำนวนมากในช่วงใกล้หมาดวาระของสภานิติบัญญัติ ทำให้ผู้ที่ลงชื่อเข้าร่วมประชุม มิได้อยู่ในห้องประชุมในขณะลงมติให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายในแต่ละวาระ ทำให้เสียงที่ให้ความเห็นชอบและไม่ให้ความเห็นชอบรวมกันแล้วไม่ถึ่งกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ (ประมาณ 249 คน)ถือว่า ไม่ครบองค์ประชุม ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยให้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับตกไปด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ได้ แก่ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต(ฉบับแก้ไข) พ.ศ...,ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ....,ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผุ้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.....
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ.... ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากข้าราชการและวงการธุรกิจเป็นจำนวนมากว่า ถ้ามีผลบังคับใช้ จะทำให้ข้าราชการที่มีญาติพี่น้องที่เป็นนักธุรกิจที่ติดต่อกับหน่วยงานของรัฐได้รับความเดือดร้อนเพราะเสี่ยงต่อการถูกกล่าวหา ว่ากระทำผิดกฎหมายอย่างมากเพราะนิยามคำว่า "เจ้าหน้าที่รัฐ"และ"ญาติ"ไว้อย่างกว้างขวาง

ทั้งนี้สาระสำคัญของคำร้องที่ สนช.ได้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ มีดังนี้

ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ห้ามกระทำอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมของ "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" และ "คู่สมรส" ตลอดจน "ญาติ" ของเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้ในมาตรา 5 และมาตรา 6 และมาตรา 7 โดยกำหนดโทษทางอาญาไว้รุนแรงในมาตรา 15 และมาตรา 17 โดยมีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสี่แสนบาท และในกรณีผู้กระทำเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงหกแสนบาท

ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญและข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ รวมทั้งตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1.การจำกัดเสรีภาพของ "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" "คู่สมรส" และ "ญาติ" ตามร่างพระราชบัญญัตินี้เกินความจำเป็น และกระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพในการกระทำ ในชีวิตและร่างกาย ตามมาตรา 32 รวมตลอดจนกระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิของบุคคลในครอบครัว ตามมาตรา 35 ขัดต่อหลักที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนในคดีอาญาว่าบุคคลไม่มีความผิดตามมาตรา 39 วรรคสอง กระทบต่อสิทธิในทรัพย์สินตามมาตรา 41 ในสาระสำคัญรวมทั้งกระทบกระเทือนต่อเสรีภาพในการประกอบการหรือประกอบอาชีพ ตามมาตรา 43 ในสาระสำคํญและเกินจำเป็นในทุกกรณี เพราะ

1.1 คำว่า "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" ที่ถูกจำกัดเสรีภาพนั้น ไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะบุคลากรของรัฐอันได้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ พนักงานของรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ หรือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงบุคคลนอกภาครัฐซึ่งเป็นเอกชนแต่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการอนุกรรมการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของทางรัฐด้วยทั้งที่หน่วยงานภาครัฐต้องอาศัยบุคคลดังกล่าวมาช่วยงานของทางราชการมาตรการที่จำกัดเสรีภาพบุคคลที่ยอมเข้ามาช่วยภาครัฐเป็นกรรมการ หรืออนุกรรมการเหล่านี้เป็นการจำกัดเสรีภาพของบุคคลเหล่านั้นเกินจำเป็น

1.2 คำว่า "คู่สมรส" และ "ญาติ" ตามร่างพระราชบัญญัติให้รวมไปถึงผู้อยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยไม่จดทะเบียนสมรส และไม่ว่าจะเกี่ยวพันทางนิตินัยหรือพฤตินัย ซึ่งเป็นการก้าวล่วงไปละเมิดหลักการสำคัญที่แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเองที่ให้มีการยื่นบัญชีทรัพย์สินเฉพาะของผู้ดำรงตำแหน่ง คู่สมรส (ที่ชอบด้วยกฎหมาย) และบุตร (ที่ชอบด้วยกฎหมาย) ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ (มาตรา 259, มาตรา 269) แม้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ก็ถือหลักการเดียวกันคือจำกัดเสรีภาพทางคู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น

1.3 "ญาติ" ซึ่งถูกจำกัดเสรีภาพตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีความหมายกว้างขวางถึง 8 ประเภท คือ

(1) บุพการีของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งหมายถึง บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด ปู่ทวด ย่าทวด ตาทวด ยายทวด ฯลฯ (ไม่ว่าโดยพฤตินัยหรือนิตินัย)

(2) ผู้สืบสันดานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งหมายถึง บุตร หลาน เหลน ลื้อ บุตรของลื้อ ฯลฯ (ไม่ว่าโดยพฤตินับหรือนิตินัย)

(3) คู่สมรสของบุตร (ลูกเขย ลูกสะใภ้) (ไม่ว่าโดยพฤตินัยหรือนิตินัย)

(4) พี่น้องร่รวมบิดามารดาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พี่น้องร่วมแต่บิดาหรือมารดาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พี่น้องร่วมบิดามาดรของคู่สมรส (ซึ่งอาจอยู่กินกันโดยไม่จดทะเบียน) พี่น้องร่วมแต่บิดามารดาของคู่สมรส (ไม่ว่าโดยพฤตินัยหรือนิตินัย)

(5) ลุงป้าน้าอาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ลุงป้าน้าอาของคู่สมรส (ไม่ว่าโดยพฤตินัยหรือนิตินัย)

(6) บิดา มารดา ปู่ ่าา ยายของคู่สมรส (ไม่ว่าจะจดทะเบียนสมรสหรือไม่ ไม่ว่าโดยพฤตินัยหรือนิตินัย)

(7) บุตรของพี่น้องร่วมบิดามารดาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ บุตรของพี่น้องร่วมแต่บิดาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ บุตรของพี่น้องร่วมบิดามารดาของคู่สมรส บุตรของพี่น้องร่วมแต่บิดามารดาของคู่สมรส (ไม่ว่าจะจดทะเบียนสมรสหรือไม่ ไม่ว่าโดยพฤตินัยหรือนิตินัย)

(8) บุตรของบุตรของพี่น้องร่วมบิดามารดาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ บุตรของบุตรของพี่น้องร่วมแต่บิดาหรือมารดาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ (ไม่ว่าจะเป็นโดยพฤตินัยหรือนิตินัย)
บุคคลเหล่านี้มีจำนวนมากมายอาจมีถึง 84 คน ดังบัญชีสาแหรกญาติที่แนบมาท้ายหนังสือนี้

1.4 การจำกัดเสรีภาพ ตามมาตรา 5 วรรคห้า นั้น จะเห็นไดว่า เป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐมิได้กระทำเอง แต่คู่สมรสและบุตร (โดยนิตินัยหรือพฤตินัย) เป็นผู้กระทำกฎหมาย "ให้ถือ" ว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ ทำ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนไม่ได้รู้เห็นเป็นใจหรือยินยอมเป็นการสันนิษฐษนว่าบุคคลมีความผิดไว้ก่อน อันเป็นการผลักภาระการพิสูจน์ทางปฏิเสธ (negative burden of proot) ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งทางพยานหลักฐานนั้นกระทำการพิสูจน์หักล้างได้ยากมาก หรือเกือบกระทำไม่ได้เลย เพราะต้องนำสืบบุคคลทั้งประเทศว่าไม่เห็นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐได้กระทำการรู้เห็นหรือเป็นใจ

ข้อสันนิษฐานทำนองนี้ไม่เหมือนกับข้อสันนิษฐานที่ว่า บุคคลอยู่ในวงพนันให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเล่นการพนัน เพราะกรณีนั้นจำกัดอยู่ในสถานที่และเหตุการณ์เดียว คือ วงการพนัน แต่ข้อสันนิษฐานตามร่างพระราชบัญญัตินี้ใช้กับการกระทำของคู่สมรสและบุตร (โดยนิตินัยหรือพฤตินัย) ในทุกสถานที่ ทุกเวลา และทุกเรื่องตามที่กฎหมายห้าม ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่อาจติดตามคู่สมรสแบะบุตรไปได้ทุกที่ ทุกเวลาเพื่อห้ามมิให้บุคคลดังกล่าวกระทำการที่กฎหมายห้ามตลอดเวลา

ข้อสันนิษฐานนี้จึงเป็นข้อสันนิษฐานที่กระทบต่อเสรีภาพของเจ้าหน้าที่ของรัฐเกินจำเป็นเกินสมควรแก่เหตุและขัดต่อมาตรา 29 วรรคหนึ่งและมาตรา 39 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ

1.5 ร่างพระราชบัญญัตินี้ใช้ครอบคลุมไปถึงผู้ที่มิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ คู่สมรส หรือ ญาติด้วย ดังปรากฏในมาตรา 6 ที่ให้สันนิษฐานว่า บุคคลใดรับประโยชน์จากการกระทำของเจ้าหน้าที่คู่สมรส หรือญาติ ก็ให้ถือว่ามีความผิดทันที เพราะร่างกฎหมายถือว่ามีส่วนร่วมในการกระทำ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้รู้เห็นหรือยินยอม อันเป็นการผลักภาระการพิสูจน์เชิงปฏิเสธ (negative burdent of proof) ไปให้บุคคลซึ่งอยู่นอกภาครัฐ หรือเอกชน แต่ได้ประโยชน์ด้วย ทั้งๆ ที่ผู้นั้นอาจไม่ได้ขอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการดังกล่าวเลย

1.6 การรับของขวัญ ของที่ระลึก เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นได้อันอาจคำนวณเป็นเงินได้ ตามมาตรา 8 มิได้ห้ามเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ห้ามเลยไปถึงคู่สมรสและญาติ (ซึ่งอาจมีถึง 84 คน) ซึ่งเป็นการจำกัดเสรีภาพที่เกินจำเป็นและเกินสมควรแก่เหตุ เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีญาติมาก ญาติอาจกระจัดกระจายกันอยู่ทั่วประเทศ หรืออาจไม่รู้ว่าเป็นญาติกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เมื่อรับสิ่งของดังกล่าวแล้วไม่รู้ว่าต้องดำเนินการตามมาตรา 8 ก็จะมีความผิดอาญา โทษรุนแรงทันที

2.การจำกัดสิทธิเสรีภาพตามร่างพระราชบัญญัตินี้กระทบไม่เพียงสิทธิ เสรีภาพในชีวิตร่างกาย ทรัพย์สิน และการประกอบอาชีพเท่านั้น แต่กระทบสิทธิของบุคคลในครอบครัวตามมาตรา 35 ไว้ด้วยแต่คำปรารภของร่างพระราชบัญญัตินี้มิได้ระบุบทบัญญัติมาตรา 34 ว่าให้จำกัดเสรีภาพเอาไว้ด้วย จึงเป็นการตราพระราชบัญญัติโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคสอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย่า กระบวนการตราร่างกฎหมายไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยเนื้อหาในร่างกฎหมายว่า ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์