ศาลชี้ปอดอักเสบ-มะเร็ง ทำ “ลุงคิม” ตาย - ไม่ใช่กระสุนปืนศอฉ.

ศาลชี้ปอดอักเสบ-มะเร็ง ทำ “ลุงคิม” ตาย - ไม่ใช่กระสุนปืนศอฉ.


ศาลชี้ปอดอักเสบ-มะเร็ง ทำ “ลุงคิม” ตาย - ไม่ใช่กระสุนปืนศอฉ.

ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถ.เจริญกรุง 63 วันที่ 27 มี.ค.56 เมื่อเวลา 10.00 น. ศาลอ่านคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพ คดีหมายเลขดำ ช.12/2555 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิตของ นายฐานุทัศน์ อัศวสิริมั่นคง อายุ 50 ปี หรือลุงคิม เพื่อทำคำสั่ง แสดงว่าผู้ตายเป็นใคร  ตายที่ไหน  เมื่อใด และถึงเหตุ  และพฤติการณ์ที่ตาย  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ซึ่งนายฐานุทัศน์ ถูกยิง บริเวณ ถ.พระราม 4 แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กทม. เมื่อวันที่ 14 พ.ค.53 ช่วงเหตุการณ์ที่มีการผลักดันการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)  ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่ กทม. และพื้นที่ใกล้เคียง โดยผู้ร้อง เชื่อว่าเป็นการตายที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของอัยการผู้ร้อง และภรรยาผู้ตายแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ระหว่างวันที่ 12 มี.ค. – 19 พ.ค. 53 มีการชุมนุม นปช. ที่เริ่มจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถ.ราชดำเนิน กทม. เพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรี ขณะนั้น ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ขึ้นใหม่ แต่นายกฯ ปฏิเสธข้อเรียกร้องจึงมีการชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง

โดยมีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก และมีการขยายพื้นที่การชุมนุมไปยังสี่แยกราชประสงค์ ถ.ราชดำริ เพลินจิต พระราม 1 และพระราม 4 ต่อมาวันที่ 7 เม.ย. 53 รัฐบาลเห็นว่าการชุมนุมดังกล่าวก่อให้เกิดความวุ่นวายและนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ นายกฯจึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กทม. และพื้นที่ใกล้เคียง ตามคำสั่งนายกฯที่ พิเศษ 1/2553 จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ เป็นผอ.ศอฉ. และมีคำสั่งนายกฯ ที่ พิเศษ 2/2553 แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบ ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่ง ศอฉ.ออกข้อกำหนด ห้ามกระทำการต่างๆ เพื่อให้เจ้าพนักงานสามารถปฏิบัติหน้าที่แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้  

แล้วเมื่อวันที่ 14 พ.ค.53 เวลา 12.00 น.เศษ นายฐานุทัศน์ ผู้ตาย พร้อมด้วยภรรยา บุตรชาย และบุตรสาวของผู้ตาย ได้ออกจากบ้านใน ซ.บ่อนไก่ แขวงลุมพินี  มายืนรอรถประจำทางที่ป้ายรถโดยสารประจำทาง ใกล้กับธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาลุมพินี หน้าร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ถ.พระราม 4  และมีเสียงคล้ายระเบิดและเสียงปืนดังขึ้นหลายนัด  ภรรยา กับบุตรทั้งสอง จึงเดินทางกลับเข้าไปในบ้าน

ส่วนผู้ตายยังยืนอยู่บริเวณที่เกิดเหตุ ขณะนั้นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่แก้ไสถานการณ์ฉุกเฉิน มีอาวุธประจำกายคือ อาวุธปืนเล็กยาว เอ็ม 653 และอาวุธปืนลูกซอง ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาตามคำสั่งของ ศอฉ.ให้มาขอกระชับขอคืนพื้นที่ และผลักดันผู้ชุมนุมบนถ.พระราม 4 จาก แยกถ.วิทยุ ด้านสะพานไทย - เบลเยี่ยม ไปทางซ.บ่อนไก่ และทางพิเศษเฉลิมมหานคร ซึ่งผู้ชุมนุมใช้หนังสติ๊ก พลุ และตะไล ยิงโต้ตอบใส่เจ้าพนักงาน ขณะที่เจ้าพนักงาน กำลังใช้อาวุธปืนยิงขู่ผู้ชุมนุมด้านที่อยู่ ถ.พระราม 4 ซ.บ่อนไก่ เพื่อกระชับพื้นที่ ผู้ตายก็กำลังจะกลับเข้าบ้านก็ถูกยิงที่หลังด้านซ้าย โดยถูกส่งตัวไปรักษาที่ รพ.กล้วยน้ำไท ก่อนย้ายไปรักษาตัวต่อที่ รพ.มเหสักข์ และถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 23 ก.พ.55

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า เหตุและพฤติการณ์แห่งการตายของผู้ตายเป็นอย่างไร เห็นว่า ภรรยาของนายฐานุทัศน์ มีแพทย์ผู้ตรวจรักษาผู้ตาย เป็นพยาน ยืนยันว่า ผู้ตายถึงแก่ชีวิต ด้วยอาการปอดอักเสบ เกิดจากกล้ามเนื้อในการหายใจอ่อนแรง เนื่องจากมีการกดทับไขสันหลังระดับคอ นอกจากนี้ผู้ตายเป็นมะเร็งที่ท่อน้ำดี ซึ่งตรวจพบตั้งแต่เดือน มิ.ย.52  และพบเซลล์มะเร็งที่หลอดเลือดในตับของผู้ตายก่อนที่เกิดเหตุคดีนี้

เมื่อรับฟังประกอบกับความเห็นของ แพทย์ผู้ตรวจศพ พยานอัยการ ว่า สาเหตุการตายของน่าจะเกิดจากมะเร็งเป็นหลัก โดยพยานผู้เชี่ยวชาญทั้งสอง เป็นคนกลาง ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับฝ่ายใด จึงเชื่อว่าพยานเบิกความตามความเป็นจริง นอกจากนี้แพทย์ผู้ตรวจรักษาผู้ตาย ยังเบิกความว่า โดยทั่วไปการเป็นอัมพาตที่ขาทั้ง 2 ข้างไม่เกี่ยวกับการเป็นอัมพาตที่แขนทั้ง 2 ข้างผู้ตายมีเลือดออกที่กระดูกคอ ไม่ทราบว่าเกิดจากสาเหตุใด และในเดือน มิ.ย.53 หลังจากถูกยิงผู้ตายไม่ได้มีปัญหาเรื่องการหายใจ การถูกยิงจึงไม่น่าเกี่ยวกับการทำให้ผู้ตายมีปัญหาการหายใจ

ซึ่งหลังจากถูกยิง ผู้ตายยังมีอาการหายใจได้ดีมาตลอด กระทั่งเดือน ต.ค.54 ผู้ตายเริ่มมีอาการอ่อนแรงของแขนทั้ง 2 ข้าง เมื่อเอ็กซเรย์พบว่ากระดูกทับเส้นประสาทระดับคอ และมีเลือดออกที่กระดูกคอ หลังจากการเข้ารับการผ่าตัดกระดูกคอแล้ว ผู้ตายสามารถกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้  ผู้ตายจึงน่าจะมีปัญหาเรื่องระบบการหายใจตั้งแต่เมื่อมีอาการแขนทั้ง 2 ข้างอ่อนแรง และมีการกดทับไขสันหลังระดับคอ

ดังนั้น การที่ผู้ตายถูกยิงแล้วมีผลให้เป็นอัมพาตที่ขา 2 ข้าง จึงไม่ได้เป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายเป็นอัมพาตที่แขนทั้ง 2 ข้าง  อีกทั้งในไต่สวนไม่ปรากฏว่า การที่มีกระดูกทับเส้นประสาทระดับคอ และมีเลือดออกที่กระดูกนั้นเกิดขึ้นเพราะสาเหตุใด ซึ่งได้ความเพียงว่า หลังจากถูกยิงผู้ตายยังมีอาการหายใจได้ดีมาโดยตลอด เพิ่งมีปัญหาเรื่องระบบการหายใจตั้งแต่เมื่อมีอาการแขนทั้ง 2 ข้างอ่อนแรง และมีการกดทับไขสันหลังระดับคอ 

นอกจากนี้ยังได้มีความว่า ผู้ตายป่วยเป็นโรคปอดอักเสบ และโรคมะเร็งในระยะลุกลามจนกระทั่งถึงแก่ความตาย แม้มีการพบหัว กระสุนปืนที่บริเวณสะบักด้านขวาของผู้ตายก็ตาม แต่ได้ความจากแพทย์ผู้ตรวจศพว่า หัวกระสุนดังกล่าวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย เพราะตำแหน่งหัวกระสุนปืนอยู่ใต้ผิวหนังบริเวณสะบักซึ่งไม่มีอวัยวะสำคัญ จากข้อเท็จจริง จึงฟังได้ว่า การที่ผู้ตายถูกยิงไม่ใช่ผลโดยตรงที่ทำให้ถึงแก่ความตาย แต่สาเหตุที่ทำให้ถึงแก่ความตาย เกิดจากปอดอักเสบ ระบบไหลเวียนโลหิตและการหายใจล้มเหลวจากโรคมะเร็งลุกลาม

ศาลจึงมีคำสั่งว่า ผู้ตายคือ นายฐานุทัศน์ อัศวสิริมั่นคง ถึงแก่ความตายที่ รพ.มเหสักข์ แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กทม. เมื่อวันที่ 23 ก.พ.55 เวลา 22.35 น. เหตุและพฤติการณ์แห่งการตายของผู้ตาย สืบเนื่องจากปอดอักเสบ ระบบไหลเวียนโลหิตและการหายใจล้มเหลวจากโรคมะเร็งระยะลุกลาม โดยมิใช่ผลโดยตรงจากการถูกยิง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนี้ถือเป็นคดีแรก ที่ศาลมีคำสั่งว่าการเสียชีวิตของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์กระพื้นที่ชุมนุม นปช. ไม่ได้เสียชีวิตจากการถูกยิง ขณะที่คดีนี้ถือเป็นสำนวนที่ 7 ที่ศาลมีคำสั่งเรื่องการชันสูตรพลิกศพ

โดยก่อนหน้านี้ศาลอาญา และศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งชี้ทำนองเดียวกัน ว่าการเสียชีวิตของ นายพัน คำกอง ชาว จ.ยโสธร , นายชาญณรงค์ พลศรีลา , นายชาติชาย ชาเหลา ชาวสุรินทร์ และ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ หรือน้องอีซา อายุ 14 ปี เสียชีวิตจากกระสุนขนาด.223 ที่มาจากฝ่ายเจ้าพนักงาน

ขณะที่มีเพียงกรณีของนายบุญมี เริ่มสุข ผู้ร่วมชุมนุม นปช. อายุ 70 ปี ชาว กทม. ศพรายที่ 5 ถูกยิงบริเวณ ถ.พระราม 4 แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กทม.และนายมานะ อาจราญ ลูกจ้างสวนสัตว์ดุสิต ศพรายที่ 6 ที่ถูกยิงตายภายในสวนสัตว์ดุสิต ศาลอาญาและศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งใกล้เคียงกันว่า ทั้งสองเสียชีวิตด้วยกระสุนปืนขนาด .223  แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์