วธ.สับละครน้ำเน่ามอมเมาปิดเทอม

เมื่อวันที่ 23 เม.ย. น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า

ได้รับร้องเรียนจากเครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ต้องการให้กระทรวงวัฒนธรรมขอความร่วมมือจากผู้จัดละคร ผู้กำกับฯ เจ้าของช่อง และผู้ที่เกี่ยวข้อง ตระหนักในบทละคร เนื่องจากละครในช่วงปิดเทอมมีแต่ละครน้ำเน่า นำเสนอเรื่องเพศมาเป็นจุดขาย ใช้ภาษาไม่เหมาะสม แต่กลับได้รับความนิยมและมีเรตติ้งสูงมาก แม้ว่าจะมีการจัดเรตติ้งละคร และตั้งกติกาว่าละครที่มีฉากรุนแรง มีคำพูดที่ก้าวร้าว ไม่เหมาะสม จะต้องฉายหลัง 20.00 น. โดยใช้สัญลักษณ์ "น" ทั้งนี้ "น" ไม่ใช่แปลว่า "นั่งหลับ" หรือ "นิ่งเฉย" แต่หมายถึงผู้ใหญ่ต้องแนะนำ อย่าลืมว่าช่วงนี้ปิดเทอมเด็กและเยาวชนนอนดึก ทำให้มีเวลาดูทีวีมากกว่า ผู้ปกครองบางคนละเลยและไม่ใส่ใจ ปล่อยให้เด็กดูทีวีโดยไม่ได้แนะนำ

น.ส.ลัดดากล่าวต่อว่า หากผู้จัดหรือผู้กำกับฯ ยึดเอาเรตติ้งของละครเป็นที่ตั้งมากเกินไป

ละครประเภทไหนที่ผู้ชมเยอะและมีกระแสตอบรับดี ผู้จัดก็แห่กันสร้างละครแนวนั้น ทุกวันนี้ละครที่สร้างสรรค์สังคมหาชมได้น้อยมาก เปิดช่องไหนก็มีแต่ละครน้ำเน่า ละครที่เน้นนำเสนอเพศ ทั้งที่ตัวบทประพันธ์จริงๆ ไม่ได้สื่อหรือมีลักษณะเหมือนกับที่ละครทำออกมา ปัจจุบันบุคลิกตัวละครเปลี่ยนไปมาก พระเอกจะต้องก้าวร้าว เอาแต่ใจ ชอบใช้ความรุนแรง ชอบระบายความแค้นด้วยการทำร้ายร่างกายนางเอกหรือครอบครัว หากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในชีวิตจริง เชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วจุดจบจะตรงข้ามกับตอนจบของละครแน่นอน


น.ส.ลัดดากล่าวต่อไปว่า ตนเข้าใจว่าละครก็คือละคร

แต่ถ้านำเสนอเรื่องราวที่เหมือนๆ กัน ซ้ำๆ ก็จะเป็นการตอกย้ำ เด็กและเยาวชนจะซึมซับโดยไม่รู้ตัว เพราะเด็กยังขาดวุฒิภาวะในการพินิจพิเคราะห์ อาจทำให้เด็กจำตัวอย่างในละคร กลายเป็นว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องปกติธรรมดา เด็กจะนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน อยากฝากให้ผู้ปกครองแนะนำบทละครที่มีฉาก คำพูด หรือพฤติกรรมไม่เหมาะสม เพื่อสร้างภูมิคุมกันให้เด็ก และบอกให้เด็กรู้ว่าสิ่งไหนถูกสิ่งไหนผิด ช่วงปิดเทอมอยากให้ผู้ปกครองสนใจบุตรหลานให้มาก

ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมกล่าวด้วยว่า

การแก้ปัญหาดังกล่าวในส่วนของศูนย์เฝ้าระวังฯนั้นจะสร้างเครือข่ายศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมให้เป็นระบบระเบียบ และเข้าถึงทุกกลุ่มคนมากขึ้น ปัจจุบันศูนย์เฝ้าระวังฯ มีเครือข่ายอยู่ 1 ล้านคน และจะขยายเครือข่ายฯ ไปยังสภาวัฒนธรรมจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อร่วมกันระดมความคิด เฝ้าระวังและหาแนวทางแก้ปัญหาเรื่องเด็กและเยาวชน รวมทั้งปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและวัฒนธรรม

"นอกจากนี้ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมยังได้รับเรื่องร้องเรียนจากเครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมว่า ปัจจุบันผู้ดำเนินรายการ พิธีกร โดยเฉพาะผู้ดำเนินรายการข่าวช่วงเช้า และอีกหลายคนใช้คำพูดไม่เหมาะสมในการดำเนินรายการ บางครั้งพูดจาใส่อารมณ์และแสดงอาการที่ดูแล้วไม่เหมาะสม ทั้งยังพูดจาไม่ให้เกียรติแขกรับเชิญที่ร่วมสนทนา" ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมกล่าว

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์