ลูกหนี้เฮ ! ครม.คลอดกม.ทวงหนี้ฯ

ครม.คลอดกฎหมายทวงถามหนี้ แก้ปัญหาติดตามหนี้ไม่เป็นธรรม  จับคนทวงหนี้ขึ้นทะเบียนให้หมด ห้ามข่มขู่ คุกคามลูกหนี้ กำหนดเวลาทวงถามที่เหมาะสม พร้อมผลักดันสนง.จัดการทางการเงินภาคประชาชน รับภารกิจ 4 ด้าน หนี้นอกระบบ – ฉ้อโกง – ทวงถามหนี้ – ไมโครไฟแนนซ์ ให้ดำเนินการได้อย่างบูรณาการ
 
เมื่อวันที่ 14 กันยายน นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ติดตามทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อดูแลและแก้ไขปัญหาการติดตามทวงถามหนี้ภาคประชาชนที่ไม่เป็นธรรม จากปัจจุบันที่การควบคุมการติดตามทวงหนี้มีเพียงประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)และเป็นกฎหมายที่ครอบคลุมเฉพาะสถาบันการเงิน อีกทั้งการติดตามทวงหนี้ของสถาบันการเงินในขณะนี้ส่วนใหญ่จะใช้บริการจากบริษัทรับจ้างทวงหนี้ภายนอก ซึ่งถือเป็นบุคคลนอกเหนือกฎหมาย ธปท.
                
“รัฐบาลและกระทรวงการคลังตั้งใจดูแลประชาชนให้ครอบคลุมทุกมิติโดยเฉพาะด้านการเงินภาคประชาชนจึงจะเร่งผลักดันกฎหมายฉบับนี้ให้ผ่านรัฐสภา เพื่ออกมาบังคับใช้โดยเร็ว”นายกรณ์ กล่าว
           
นายกฤษฎา  จีนะวิจารณะ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อรวบรวมผู้ทำหน้าที่ทวงหนี้ทั้งหมดให้อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับใหม่ทั้งหมด โดยจะต้องมีการขึ้นทะเบียนบุคคลที่จะทำหน้าที่ทวงถามหนี้ภายใน 90 วันหลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้  ซึ่งสามารถขึ้นทะเบียนได้ทั้งคนที่ทำหน้าที่ในปัจจุบันและคนที่ต้องการใหม่ด้วย และกฎหมายยังมีข้อกำหนดและข้อห้ามต่างๆ เช่น กำหนดช่วงเวลาในการติดต่อทั้งทางโทรศัพท์ โทรสาร บุคคล ห้ามคุกคามข่มขู่หรือใช้ความรุนแรง ใช้ภาษาที่ดูหมิ่น ถากถาง เสียดสี และห้ามเปิดเผยตัวเลขหนี้
 
นอกจากนี้ กฎหมายฉบับดังกล่าวยังห้ามไม่ให้ผู้ติดตามทวงหนี้ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นการกระทำของหน่วยงานภาครัฐ ระยะเวลาการติดตามสามารถทำได้ในเวลาที่กำหนดคือ วันทำการตั้งแต่เวลา 08.00-20.00 น. และวันหยุดราชการช่วง 08.00-18.00 น. ยกเว้นว่าได้มีการตกลงเองระหว่างลุกหนี้และผู้ติดตามหนี้ เหตุเพราะระยะเวลาทำงานแตกต่างออกไป ส่วนโทษของผู้กระทำผิดได้กำหนดไว้ 3 ระดับ คือ ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ซึ่งอาจจะเป็นความผิดพลาดเล็กน้อย  จำคุก 1 ปี หรือปรับ 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และหากโทษรุนแรงเข้าข่ายอาญา จะเป็นจำคุก 3 ปี ปรับ 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังจะมีการตั้งคณะกรรมการติดตามหนี้สิน มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ

นายสถิตย์  ลิ่มพงศ์พันธุ์  ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เพื่อให้เป็นการสอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาหนี้ภาคประชาชนอย่างบูรณาการ นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลังได้สั่งการให้จัดตั้งสำนักงานจัดการทางการเงินภาคประชาชน ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง  โดยเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเงินภาคประชาชน 4 ด้าน ประกอบไปด้วย เรื่องหนี้สินนอกระบบ การฉ้อโกง การติดตามทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรมและการเงินระดับฐานรากหรือไมโครไฟแนนซ์

นายสถิตย์กล่าวต่อว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างร่างคำสั่งเพื่อส่งเป็นหนังสือเวียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงการคลัง  และเสนอขอเพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดตั้งหน่วยงานด้านหนี้สินและฉ้อโกงขึ้นมาแต่ไม่มีความต่อเนื่องจึงได้บูรณาการหน่วยงานนี้ขึ้นมาใหม่และให้สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงการคลังเพราะหากการเมืองเปลี่ยนแต่หน่วยงานนี้ก็จะทำงานเพื่อความเสมอภาคด้านการเงินแก่ประชาชนต่อไป

เพื่อให้เกิดผลสำเร็จด้านนโยบายจึงจำเป็นที่ต้องให้มีหน่วยงานหนึ่งขึ้นมาดูแลอย่างจริงจังและสามารถขับเคลื่อนนโยบายได้อย่างต่อเนื่อง  ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของกระทรวงการคลังที่ต้องทำภารกิจในการสร้างความเป็นธรรมและเสมอภาคทางการเงินให้กับประชาชนทุกคน จากเดิมที่กระทรวงการคลังไม่ได้ให้น้ำหนักในการทำภารกิจด้านนี้จึงจำเป็นที่จะต้องมีหน่วยงานนี้ขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนนโยบายที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต” นายสถิตย์กล่าว


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์