ลูกหนี้นอกระบบทั่วไทยเฮลั่น รัฐเดินหน้าหาเสียงจ่ายตรงเวลามีเงินกู้ด่วน

นายกรัฐมนตรีกดปุ่มปลดหนี้นอกระบบประชาชน 1.1 ล้านราย มูลค่าหนี้ 1.2 แสนล้านบาท

พร้อมเปิดตัวบัตรลดหนี้วินัยดีมีวงเงิน โดยลูกค้าชั้นดีผ่อนครบทุกๆ 1 ปี รัฐจะประเคนเงินฉุกเฉินพิเศษให้ 50% ของเงินที่ผ่อนชำระต่อเดือน อ้างเสริมสภาพคล่องให้ประชาชนกดเงินสดมาใช้ได้ คุยฟุ้งมั่นใจปลดหนี้สำเร็จ ตั้งเป้าลุยต่อแก้หนี้สินครู-ข้าราชการ หนี้บัตรเครดิตและปัญหาเครดิตบูโร...

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (16 ส.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในงาน "ก้าวที่ยั่งยืนสู่ชีวิตใหม่ หนี้นอกระบบ"

และเปิดตัว "บัตรลดหนี้วินัยดีมีวงเงิน" โดยมีนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ พร้อมด้วยประชาชน ที่เข้าโครงการหนี้นอกระบบกว่า 300 คน ให้การต้อนรับ ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นสิ่งที่รัฐบาลมุ่งมั่นแก้ไขอย่างจริงจัง โดยได้เปิดตัวลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบไปตั้งแต่เดือน ธ.ค.52 และลงทะเบียนเสร็จสิ้นเมื่อเดือน ม.ค.53 ดังนั้น โครงการที่จะดำเนินการจากนี้ไปถือเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบ และจากนั้นปัญหาหนี้ที่รัฐบาลต้องแก้ไขเพิ่มเติม ได้แก่ หนี้บัตรเครดิต หนี้สินของครูและข้าราชการ และเครดิตบูโร โดยจะเริ่มดำเนินการภายในปีนี้

นายกรณ์กล่าวว่า ยอดหนี้ที่ขึ้นทะเบียนนอกระบบ ผ่านธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

มีจำนวน 1,183,355 ราย มูลค่าหนี้ 122,672.19 ล้านบาท เจรจาประนอมหนี้สำเร็จ 555,589 ราย ไม่สำเร็จ 182,862 ราย ยุติการเจรจา 444,904 ราย ธนาคารอนุมัติสินเชื่อแล้ว 356,527 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการ 91,485 ราย สำหรับลูกหนี้นอกระบบ 365,527 ราย ที่ได้รับโอนเข้าสู่ระบบเฉลี่ยมีมูลหนี้รายละ 100,000 บาท หากลูกหนี้นอกระบบต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ย 5-10% ต่อเดือน แต่ละรายจะประหยัดดอกเบี้ยได้ถึงเดือนละ 5,000-10,000 บาท คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้รวม 1,830 ล้านบาทต่อเดือน หรือปีละ 21,900 ล้านบาท

สำหรับบัตรลดหนี้วินัยดีมีวงเงินนั้น ลูกหนี้ที่ผ่านการเจรจาจะได้บัตรเอทีเอ็ม 1 ใบ
เพื่อเติมสภาพคล่องให้ กรณีที่ชำระเงินกู้รายเดือนตรงตามที่กำหนดเป็นเวลา 1 ปี หรือ 12 เดือน ธนาคารจะสำรองเงินฉุกเฉินพิเศษให้เดือนที่ 13 ซึ่งผู้ถือบัตรเอทีเอ็มสามารถกดเงินสดจากเอทีเอ็มของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐได้ ยกเว้นธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารอาคารสงเคราะห์ เพราะไม่มีเอทีเอ็ม "บัตรลดหนี้ถือเป็นการเติมสภาพคล่องให้แก่ลูกหนี้นอกระบบที่เข้าสู่ระบบ มีหลักการ
ว่ากรณีกู้เงิน 200,000 บาท ชำระหนี้เดือนละ 10,000 บาท เดือนที่ 13 ธนาคารจะเติมเงินให้ 50% ของเงินที่ผ่อนชำระต่อเดือน ก็คือ วงเงินสำรองพิเศษ 5,000 บาท ซึ่งผู้กู้สามารถกดเงินไปใช้จ่ายฉุกเฉินได้ ดีกว่ากู้เงินนอกระบบที่เสียดอกเบี้ยแพง มั่นใจว่า ผู้เข้าร่วมโครงการจะมีภาระผ่อนน้อยกว่าการกู้เงินนอกระบบมาก เพราะคลังกำหนดดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 1% ต่อเดือน ทั้งเงินต้น และเงินที่กู้ฉุกเฉิน หากคำนวณตามระยะเวลาการกู้มั่นใจว่า วงเงินกู้ไม่เกิน 200,000 บาทจะชำระหมดภายใน 5-8 ปี"

ส่วนลูกหนี้ที่ไม่มีผู้ค้ำประกัน 20,000 รายนั้น กระทรวงการคลังจะให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มาค้ำประกันแทน

และมั่นใจว่า หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จะมีไม่มาก เพราะการผ่อนชำระหนี้ในแต่ละเดือนจะเป็นการผ่อนชำระทั้งเงินต้น และดอกเบี้ยไปพร้อมๆกัน "เงินสำรองที่เพิ่มเติมเข้าไปใน 1 รอบของการกู้ ผู้กู้จะได้รับเงินฉุกเฉิน 4 ครั้ง หมายความว่า เมื่อผ่อนครบ 12 เดือน ในเดือนที่ 13 จะได้เงิน 5,000 บาท จากยอดเงินผ่อนต่อเดือน 10,000 บาท ถ้าไม่นำออกมาใช้ ผ่อนต่ออีก 12 เดือนรวมเป็น 24 เดือน ในเดือนที่ 25 จะได้อีก 5,000 บาท ในเดือนที่ 37 จะได้อีก 5,000 บาท และในเดือนที่ 49 จะได้อีก 5,000 บาท นอกจากนี้ ยังกำหนดให้คนที่เข้าสู่การแก้ไขหนี้นอกระบบทุกรายได้รับการประกันชีวิตจากธนาคารรายละไม่เกิน 100,000 บาท"

ด้านนายเลอศักดิ์ จุลเทศ ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยลูกหนี้ในโครงการนี้อัตราเดียวกับโครงการธนาคารประชาชน

โดยวงเงินกู้ 30,000 บาทแรก จะเสียดอกเบี้ย 0.5% ต่อเดือน ส่วนที่เกิน 30,000 บาทแต่ไม่เกิน 200,000 บาท จะเสียดอกเบี้ย 0.75% ต่อเดือน ต่ำกว่ากระทรวงการคลังกำหนด ธนาคารอนุมัติปล่อยสินเชื่อแล้ว 136,000 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 11,000 ล้านบาท ขณะที่นายลักษณ์ วจนานวัช กรรมการผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายละ 1% ต่อเดือน กรณีที่ธนาคารคิดดอกเบี้ยสูงสุดเพราะมีภาระต้องอบรมฟื้นฟูอาชีพให้แก่เกษตรกร เพื่อให้เริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ ขณะนี้มีลูกหนี้นอกระบบลงทะเบียนกับ ธ.ก.ส. 226,548 ราย เป็นวงเงินสินเชื่อ 22,640 ล้านบาท

ส่วนนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า

ขณะนี้มีลูกหนี้ข้าราชการที่เข้าร่วมโครงการแก้ไขหนี้นอกระบบ และเข้าเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อจากธนาคารประมาณ 1,000 ราย สาเหตุที่มีลูกหนี้ที่เข้าเกณฑ์การขอสินเชื่อไม่มาก เพราะติดในเรื่องกฎเกณฑ์ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คือ ลูกหนี้ที่จะขอกู้ต้องมีวงเงินกู้ไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ แต่ลูกหนี้นอกระบบส่วนใหญ่จะมีหนี้เกิน แต่ลูกหนี้ที่ไม่เข้าเกณฑ์ ธนาคารจะโอนไปให้ธนาคารออมสินต่อไป


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์