ลูกจ้างแห่ลาออกกลับบ้านนอก

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันแรงงานกว่า 1-2 หมื่นรายได้ลาออกจากงาน

เพราะผู้ประกอบการลดเวลาทำงานล่วงเวลา (โอที) ลดเงินเดือน และลดวันทำงาน ตามคำสั่งซื้อที่ลดลงเฉลี่ย 30% โดยเฉพาะกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ สิ่งทอ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่ารายได้จากค่าโอทีมากกว่าเงินเดือนประจำ ส่งผลให้รายได้แต่ละเดือนไม่เพียงพอกับรายจ่าย ค่าเช่าบ้าน อาหาร ค่าเลี้ยงดูบุตร เบื้องต้นพบว่าผู้ที่ลาออกหลายรายได้กลับไปอยู่ในต่างจังหวัดไปทำไร่ ทำนา
 
ทั้งนี้ยอมรับว่าบริษัทหลายแห่งได้ช่วยเหลือแรงงานโดยการชะลอเลิกจ้างเพื่อให้ลูกจ้างมีรายได้ในระดับหนึ่งไปก่อน

แต่จำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายเพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอด เบื้องต้นอยากให้ผู้ประกอบการที่ยังมีกำลังทรัพย์หรือสภาพคล่อง ดูแลแรงงานเหมือนกับบริษัทจากประเทศญี่ปุ่น “ยอมรับว่าพนักงานในภาคอุตสาหกรรมหลายแห่งมีเงินเดือนไม่มาก ส่วนใหญ่จะได้รับเงินค่าเบี้ยขยันมากกว่า โดยบางช่วงที่มีเทศกาลวันหยุดหลายวันติดต่อกันได้ค่าโอทีถึง 20-25% ของเงินเดือน แต่เมื่อลดลงหรือเลิกค่าโอที ทำให้หลายรายต้องลาออกส่วนใหญ่กลับไปบ้านทำไร่ทำนา พร้อมทั้งนำเงินออมที่เก็บไว้ไปใช้จ่ายอย่างน้อยลดปัญหาค่าครองชีพที่สูงได้ระดับหนึ่ง”
  
นายพยุงศักดิ์ กล่าวว่า ในไตรมาส 3 ของปี 52 ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีของภาคการผลิต ซึ่งอาจมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในระดับหนึ่ง

เนื่องจากสต๊อกสินค้าใกล้หมดแล้วโดยปัจจุบันอยู่ที่ 2-3 เดือนน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่บางภาคอุตสาหกรรมมีสต๊อกสูงถึง 7-8 เดือน รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน ได้รายงานให้ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ รับทราบสถานการณ์การเลิกจ้างแรงงานโดยยืนยันว่ามีแนวโน้มดีขึ้นมาก คือจำนวนผู้ประกันตนที่มาขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเริ่มลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 หลังจากที่เพิ่มสูงสุดในเดือน ก.พ. ที่สูงถึง 101,939 คน โดยลดลงเป็น 81,842 คน ในเดือน มี.ค. ขณะที่จำนวนผู้ประกันตนที่กลับ เข้าทำงานมีแนวโน้มคงที่ คือเดือนละ 18,000-20,000 คนเศษ และคาดว่าภายในเดือน เม.ย. นี้การเลิกจ้างแรงงานจะลดลงเหลือเพียง 50,000 คนเท่านั้น
    
ขณะเดียวกันพบว่ามีแรงงานเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างอีก 109,303 คน ส่วนใหญ่อยู่ในการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, การผลิตยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่ง, การผลิตผลิตภัณฑ์จากแร่อโลหะ โลหะ, การผลิต เครื่องเรือน เครื่องประดับ และเฟอร์นิเจอร์, บริการ ด้านธุรกิจอื่น และธุรกิจประเภทอื่น
  
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ดูตัวเลขเศรษฐกิจให้ละเอียดว่าได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น


แม้ว่าตัวเลขการว่างงานและการลาออกจากงาน มีแนวโน้มดีขึ้นแต่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด เพราะการทำความเข้าใจให้ผู้ประกอบการชะลอการเลิกจ้างไม่สามารถทำได้เสมอไปหากพื้นฐานทางเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน มี.ค. 52 ติดลบ 17.74% แต่เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นเป็นเดือนที่ 2 เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. ติดลบ 25.6% และเดือน ก.พ. ติดลบ 23.07% โดยอุตสาหกรรมรถยนต์การผลิตติดลบที่ 51.5% ยอดจำหน่ายติดลบ 47.8% เครื่องปรับอากาศการผลิตติดลบ 45.5% ยอดจำหน่ายติดลบ 33% เสื้อผ้าสำเร็จรูป การผลิตติดลบ 11.5% ยอดขายติดลบ 6.8%
 
สำหรับไตรมาสที่ 2 คาดว่าดัชนีอุตสาหกรรมจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 เพราะลูกค้าเริ่มสั่งซื้อสินค้า รวมทั้งปริมาณสินค้าคงคลังในหลายอุตสาหกรรมอยู่ในระดับที่ต่ำทำให้เริ่มมีการผลิตเพื่อรักษาสภาพสินค้าคงคลังของตนเอง.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์