ลูกจ้างชาวเอธิโอเปียฟ้องจนท.WHO ประจำไทย??

ลูกจ้างชาวเอธิโอเปียฟ้องจนท.WHO ประจำไทย??


เมื่อวันที่ 22 ก.ค. นางสาวเอมาเบท มาโม บีซาเบ ลูกจ้างทำงานบ้านชาวเอธิโอเปีย เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายโยนัส เทกเก้น โวลเดอแมเรียน เจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทยและภรรยา เป็นจำเลยในคดีละเมิดสิทธิตามกฎหมายแรงงาน โดยเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าจ้างและเงินอื่นตามกฎหมาย จำนวนทั้งสิ้น 873,793.75 บาท ต่อศาลแรงงานกลาง (สาขานนทบุรี) เลขที่คดีดำที่ 616/2558 และศาลได้กำหนดวันนัดพิจารณาคดีครั้งแรกในวันที่ 22 กันยายน 2558

เหตุการณ์นี้ สืบเนื่องจากนางสาวเอมาเบท โดยการช่วยเหลือของเพื่อนบ้านได้ดำเนินการร้องขอความช่วยเหลือทางกฎหมายต่อมูลนิธิผู้หญิง โดยนางสาวเอมาเบทให้ข้อมูลว่า ตนเป็นลูกจ้างทำงานบ้านให้แก่จำเลยและครอบครัว ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2556 ในขณะที่จำเลยมาปฏิบัติงานและพำนักอยู่ในประเทศไทยในฐานะผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และนับตั้งแต่ลูกจ้างได้ทำงานให้แก่จำเลยทั้งสองนั้น จำเลยในฐานะนายจ้างมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานในเรื่องการจ่ายค่าแรงและสิทธิอื่นๆตามที่กฎหมายกำหนด โดยไม่จ่ายค่าจ้างให้เลย ต้องทำงานตั้งแต่ 5.00 น. ถึง 24.00 น.ทุกวันโดยไม่มีวันหยุด ไม่อนุญาตให้ลูกจ้างติดต่อสื่อสารกับบุคคลภายนอกหรือการเข้าสังคม ให้รับประทานเพียงข้าวเปล่าทุกมื้อและนายจ้างได้ใช้วาจาดูหมิ่นเหยียดหยาม ทำร้ายร่างกายและยังบังคับให้ทำงานเยี่ยงทาส รวมทั้งยึดหนังสือเดินทางของลูกจ้างไว้เพื่อมิให้ลูกจ้างสามารถเดินทางหรือออกจากงานได้

จนกระทั่งวันที่ 8 มีนาคม 2558 นางสาวเอมาเบท ลูกจ้าง ได้ถูกนายจ้างทำร้ายร่างกายและไล่ให้ออกจากบ้านโดยไม่คืนหนังสือเดินทางและจ่ายเงินค่าจ้างตามกฎหมาย และไม่อนุญาตให้เอาทรัพย์สินส่วนตัวของลูกจ้างออกจากบ้านของนายจ้าง ซึ่งการกระทำดังกล่าวฝ่ายนายจ้างทราบดีว่าลูกจ้างไม่มีหนทางใดที่จะติดต่อหรือขอความช่วยเหลือจากบุคคลภายนอก จนทำให้นางสาวเอมาเบท ตัดสินใจฆ่าตัวตาย แต่เพื่อนบ้านได้ให้การช่วยเหลือไว้ได้ทัน

มูลนิธิผู้หญิงร่วมกับมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ได้ดำเนินการในฐานะผู้แทนผู้เสียหาย เพื่อให้นางสาวเอมาเบท ได้เข้าถึงความช่วยเหลือทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม จนนำมาสู่การฟ้องต่อศาลแรงงานกลางสาขานนทบุรี เพื่อเรียกร้องสิทธิตามกฏหมาย เป็นค่าทำงานเวลาปกติ ค่าทำงานล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าทำงานล่วงเวลาในวันหยุด ค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่ารักษาพยาบาลเพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ และค่าเดินทางกลับประเทศเอธิโอเปีย รวมทั้งสิ้น 873,793.75 บาท

ทางด้านนางสาวอรวรรณ วิมลรังครัตน์ ทนายความ เห็นว่า การให้ความช่วยเหลือคดี นอกจากเป็นการเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ลูกจ้างทำงานบ้านในคดีแล้ว ยังเป็นโอกาสในการเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงแรงงาน พิจารณาจัดให้มีผู้ตรวจแรงงานเพื่อเข้าไปตรวจสอบกระบวนการคุ้มครองสิทธิของลูกจ้างทำงานบ้าน เพื่อป้องกันมิให้ลูกจ้างกลุ่มดังกล่าวนี้ เสี่ยงต่อการถูกบังคับใช้แรงงานและเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ รวมทั้งเรียกร้องให้องค์การอนามัยโลกภายใต้การกำกับขององค์การสหประชาชาติ ได้ทบทวนมาตรการและกำหนดบทลงโทษเจ้าหน้าที่ขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง

ปัจจุบันนายโยนัส เทกเก้น โวลเดอแมเรียน เจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย ถูกพักงาน โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบจากองค์การอนามัยโลกสำนักงานใหญ่เจนีวา และให้นายริชาร์ด บราวน์มาปฎิบัติหน้าที่แทน


ขอบคุณข่าวสารดีๆจาก :: posttoday.com

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์