ลุ้นกม.จุฬาฯเข้ากรรมาธิการ7ธ.ค. กมธ.ไฟเขียวร่างพ.ร.บ.มช.-สจล.

 

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม นายวิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) พ.ศ. ... ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาแปรญัตติร่าง พ.ร.บ.สจล.เสร็จแล้ว หลัง สจล.นำประเด็นต่างๆ ไปหารือในมหาวิทยาลัย และนำกลับเข้า กมธ.จากนี้จะนำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระ 2 และ 3 ต่อไป ส่วนร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) พ.ศ. ... นั้น ที่ประชุม กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มช.ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.โดยรับฟังความเห็นกรณี มช.เสนอขอทบทวนประเด็นต่างๆ เช่น บทเฉพาะกาลในประเด็นระยะเวลาของการบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.ซึ่ง มช.ขอเป็น 60 วัน, ประเด็นขอขยายระยะเวลาในการตัดสินใจเปลี่ยนสถานภาพจากข้าราชการไปเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย จากเดิม 90 วัน เป็น 120 วัน เพื่อให้มีระยะเวลาตัดสินใจยาวนานขึ้น, ประเด็นองค์ประกอบของสภามหาวิทยาลัย ที่เสนอให้มีฝ่ายต่างๆ ครบถ้วนมากขึ้น เป็นต้น ที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นตามนั้น จึงแปรญัตติตามที่เสนอ จากนั้นเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.วาระ 2 และ 3 ต่อไป ซึ่งทราบว่า สนช.จะกำหนดวาระการประชุมวาระ 2 และ 3 ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 20 ธันวาคม


'ส่วนร่าง พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น

ที่ประชุม กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ จะพิจารณาในวันที่ 7 ธันวาคม มี กมธ.ขอแปรญัตติ 6 ท่าน ซึ่งจะพยายามให้ได้ข้อยุติ แต่ต้องขึ้นอยู่กับผู้แปรญญัติด้วยว่าพอใจในคำชี้แจงหรือไม่ ประเด็นที่ขอแปรญัตติคือ การเงินและทรัพย์สิน บางคนเสนอให้ทำรายงานทุกเดือน บางคนเสนอให้ถามความคิดเห็นของนิสิต เป็นต้น ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ที่ผ่านความเห็นชอบก่อนหน้านี้ มีแนวทางเรื่องนี้อยู่ หากผู้ขอแปรญัติพอใจก็คงจะผ่านร่าง พ.ร.บ.นี้ไปได้ ซึ่ง กมธ.จะพิจารณาอย่างรอบคอบ ส่วนที่คณาจารย์จุฬาฯ ยังเคลื่อนไหวคัดค้านนั้น เป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้การพิจารณารอบคอบขึ้น ส่วนที่เกรงว่าถ้าปล่อยให้ยื้อต่อไป ร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ จะตกไปนั้น คงไม่มี กมธ.คนใดอยากทำให้ร่าง พ.ร.บ.ตกไป ผมเชื่อว่าทุกคนจะทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด' นายวิจิตรกล่าว

เมื่อเวลา 15.30 น. ที่พระบรมราชานุสาวรีย์ 2 รัชกาล

นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวภายหลังนำกลุ่มคณาจารย์ บุคลากร และนิสิตที่คัดค้านร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ ประมาณ 50 คน แสดงพลังคัดค้านมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐว่า ขอเรียกร้องให้ สนช.ไม่พิจารณาร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ ในวาระ 2 และ 3 เพราะมีความขัดแย้งภายในประชาคมสูง และผู้บริหารได้เสนอกฎหมายโดยไม่ฟังความเห็นจากประชาคมอย่างกว้างขวางเพียงพอ และปกปิดข้อมูลโดยไม่แจ้งรายละเอียดให้ประชาคมทราบ คาดว่าสัปดาห์หน้าจะรวบรวมรายชื่อผู้ไม่เห็นด้วยเสนอ สนช.และรัฐบาลต่อไป



เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์