ลิเบียลดผลิตน้ำมัน4-5แสนบาเรลต่อวัน



คมชัดลึก : รมว.พลังงาน เผยลิเบียลดกำลังผลิตน้ำมัน 4-5 แสนบาเรลต่อวัน ชี้มีผลทางจิตวิทยาทำราคาตลาดโลกพุ่ง เชื่อสถานการณ์ปกติแนวโน้มคงลดลงแต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ แบงก์ชาติห่วงรัฐหมดแรงอุ้มดีเซล

 “สถานการณ์คงตอบยากว่าจะคลี่คลายมากน้อยเมื่อไร แต่หากกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วราคาน้ำมันก็น่าจะมีแนวโน้มปรับตัวลดลง”รมว.พลังงาน กล่าว


แบงก์ชาติห่วงรัฐหมดแรงอุ้มดีเซล


 นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า แม้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก รวมถึงราคาสินค้าหลายตัวในประเทศจะทยอยปรับเพิ่มขึ้น แต่ธปท.ยังเชื่อว่าน่าจะคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในขอบบนของเป้าหมายที่ 3% ได้ โดยยอมรับว่าสถานการณ์เงินเฟ้อถือเป็นประเด็นท้าทายและต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิด


อย่างไรก็ตามแม้เงินเฟ้อจะเป็นประเด็นที่ท้าทาย แต่ก็เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ขณะเดียวกันหากดูตัวเลขเงินเฟ้อของไทยเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคแล้ว จะเห็นว่าตัวเลขเงินเฟ้อไทยถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก


ส่วนราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้น เขากล่าวว่า ไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่าจะปรับเพิ่มขึ้นไปถึงระดับใดและจะปรับลดลงมาหรือไม่ เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก ดังนั้นจึงต้องติดตามดูว่าสถานการณ์เหล่านี้จะรุกลามขยายออกไปหรือไม่


“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกสูงกว่าที่แบงก์ชาติได้คาดการณ์ไว้ เพราะมันเกิดขึ้นในประเทศที่ใกล้กับแหล่งน้ำมัน แต่ก็จะเห็นว่า กรณีของอียิปต์ที่สถานการณ์ได้ข้อยุติในระดับหนึ่ง ราคาน้ำมันก็ลดลงมาบ้าง ช่วงนี้ตลาดจึงค่อนข้างอ่อนไหว เวลานี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม โดยหวังว่าเหตุการณ์ต่างๆ จะไม่บานปลายไปมากนัก”นายประสารกล่าว


อย่างไรก็ตามประเด็นเรื่องเงินเฟ้อนั้น แม้จะเป็นประเด็นที่มีความเสี่ยงต่อภาพรวมเศรษฐกิจอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ถือเป็นวิกฤติสำคัญอะไร และภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ก็ถือว่าอยู่ในสถานะที่ดีพอสมควร เพียงแต่อาจมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ควรต้องระวังไว้บ้าง


“สถานการณ์เงินเฟ้อ มันเป็นเรื่องที่เรารู้ว่ามันกำลังเกิดขึ้น มันมีแนวโน้มว่าจะเป็นแบบนั้น ซึ่งก็ต้องติดตาม แต่ไม่ใช่วิกฤติสำคัญอะไร โดยทั่วๆ ไป เศรษฐกิจของประเทศไทยเวลานี้โดยรวม ก็จะอยู่ในสถานะที่ดีพอควร เพียงแต่เราต้องมีความระวังเพราะมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อยู่”นายประสารกล่าว


ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ประกาศออกมาและดูเหมือนชะลอลงนั้น นายประสาร กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะเศรษฐกิจปีที่ผ่านมาได้ปรับเพิ่มขึ้นไปค่อนข้างมาก ดังนั้นเมื่อนำตัวเลขมาเปรียบเทียบกับฐานที่สูงขึ้น ตัวเลขจึงไม่กระโดดมากนัก และการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ระดับ 3-5% นั้น ก็ค่อนข้างสอดคล้องกับศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว จึงไม่มีประเด็นใดน่าห่วง


นอกจากนี้หากดูตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวพบว่า เริ่มกลับมาดีขึ้นกว่าในช่วงก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามมีเพียงตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนที่ยังน่าเป็นห่วง โดยอยู่ในระดับที่ยังไม่น่าพอใจ ซึ่งประเทศไทยน่าจะมีศักยภาพการเติบโตได้ดีกว่านี้เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นในแง่ของนโยบายภาครัฐแล้วจึงควรให้ความสนใจในการกระตุ้นและร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับภาคเอกชนในอนาคต


ส่วนกรณีการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลของทางรัฐบาลนั้น เขากล่าวว่า ค่อนข้างเป็นห่วงในประเด็นนี้เช่นกัน เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) มีความเห็นว่าไม่สามารถอุดหนุนต่อไปได้ ก็คงมีการพิจารณาเรื่องนี้กันใหม่อย่างรอบด้าน และเรื่องการอุดหนุนก็น่าจะทำได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น


นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธปท.กล่าวถึงการต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพให้ประชาชนว่า ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อตัวเลขเงินเฟ้อมากนัก และคาดว่าจะไม่ทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงไปจากกรอบที่วางไว้ ส่วนการศึกษาการต่ออายุรถไฟและรถเมล์ฟรีเป็นมาตรการถาวรนั้น น่าจะส่งต่อเงินเฟ้อในระดับที่น้อยมาก เนื่องจากมาตการดังกล่าวเป็นเรื่องของสวัสดิการสังคม และสามารถจำกัดกลุ่มคนที่ใช้ได้


“แรงกดดันต่อเงินเฟ้อเทียบกับในอดีตก็สูงขึ้นต่อเนื่องแต่ไม่มาก ทั้งนี้ต้องรอดูตัวเลขล่าสุด ที่มีผลพวงจากราคาสินค้าแพงในช่วงเดือนก.พ. และก็เข้าใจว่าบางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม แต่อย่างไรก็ตามแรงกดดันเงินเฟ้อพื้นฐานจริงๆคงต้องรอเดือนกุมภาพันธ์ การคาดการณ์เงินเฟ้อล่วงหน้าก็มีแนวโน้มสูงขึ้น


ส่วนสถานการณ์ต้นทุนราคาน้ำมันที่เร่งสูงขึ้นในขณะนี้ มองว่า ธปท.คงต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆว่าจะออกมาในทิศทางใด ยืดเยื้อหรือลุกลามไปยังประเทศอื่นๆหรือไม่ รวมถึงติดตามการแก้ไขปัญหาในแต่ละประเทศด้วยว่าจะมีวิธีการดำเนินการอย่างไร

"การขึ้นราคาน้ำมันตอนนี้ ก็คงต้องรอดูสถานการณ์ ว่าจะขยายวงกว้างหรือเปล่า หรือรุกรามไปยังประเทศอื่นหรือไม่ เพราะยังไม่ทราบ ในด้านของกนง.ยังไม่ได้ประเมิน เพราะการประชุมครั้งล่าสุด ยังไม่ได้เกิดเหตุการณ์นี้   แต่ในแง่ของแบงก์ชาติก็คงต้องรอดูสถานการณ์ว่าจะยืดเยื้อและกระจายสู่วงกว้างมากน้อยแค่ไหน อย่างที่อิยิปต์สงบเร็ว ยังไม่รู้ว่าการแก้ไขปัญหาแต่ละประเทศเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับสถานการณ์แต่ละประเทศด้วย ” นายเมธีกล่าว

   
นายพรเทพ ชูพันธุ์ ผู้จัดการวิเคราะห์เศรษฐกิจ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อาจส่งผลต่อแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออยู่บ้าง เนื่องจากราคาพลังงานมีสัดส่วนการคำนวณในดัชนีเงินเฟ้อประมาณ 10% ดังนั้นเมื่อราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นย่อมส่งผลกระทบทางตรงต่อแรงกดดันด้านเงินเฟ้อบ้าง แต่คงไม่ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจชะลอลงกว่าที่ประเมินไว้

   
“ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1% จะมีผลต่อเงินเฟ้อของกลุ่มพลังงานประมาณ 0.5% ซึ่งพลังงานมีสัดส่วนการคำนวณในดัชนีเงินเฟ้อประมาณ 10% ดังนั้นก็เท่ากับว่า ทุกๆ 1% ที่ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้น จะมีผลต่อดัชนีเงินเฟ้อประมาณ 0.05% ”นายพรเทพกล่าว

   
สำหรับผลกระทบทางอ้อมนั้น หากราคาน้ำมันปรับขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตปรับเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการก็อาจขอปรับราคาสินค้าขึ้นตามได้ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการด้านคมนาคมก็อาจขอปรับขึ้นค่าบริการด้วยเช่นกัน

  
อย่างไรก็ตามเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค ถือว่ายังไม่น่าห่วงมากนัก โดยเงินเฟ้อที่เห็นว่าปรับขึ้นในช่วงที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหาร เห็นได้จากดัชนีราคาอาหารโลกช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ได้ปรับขึ้นมาแล้วประมาณ 30%

   
“สาเหตุที่เงินเฟ้อเอเชียเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก เพราะตัวเลขที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อของกลุ่มประเทศเอเชีย มีอาหารรวมอยู่ประมาณ 30% ขณะที่สหรัฐและยุโรปมีอาหารรวมอยู่แค่ประมาณ 10-20% ทำให้ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียได้รับแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น”นายพรเทพกล่าว

   
สำหรับประเทศไทยนั้น แม้อาหารจะอยู่ในการคำนวณของดัชนีเงินเฟ้อประมาณ 30% แต่ในจำนวนนี้เป็นข้าวประมาณ 5% และอีก 14% เป็นอาหารปรุงสุกซึ่งราคามักจะวิ่งตามราคาข้าว ขณะที่ราคาข้าวในช่วงที่ผ่านมาแทบไม่ได้ปรับขึ้นเลย แถมมีราคาลดลงประมาณ 10% ดังนั้นจึงช่วงถ่วงการปรับขึ้นของเงินเฟ้อลงได้บ้าง



เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์