ร้องศาลปกครอง ห้ามเครื่องบินขึ้น-ลงสุวรรณภูมิ

สนั่น วรสุขศรี" อดีตนักวิ่งทีมชาติ พร้อมชาวบ้าน รวม 359 คน ฟ้องศาลปกครอง

สั่ง ทอท. หยุดให้บริการสนามบินสุวรรณภูมิ ห้ามเครื่องบินทุกสายการบินๆ ขึ้นลงเป็นการชั่วคราว พร้อมให้หยุดการก่อสร้างทางวิ่งที่ 3 -8 - 4 จนกว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ศาลเรียกผู้ฟ้องไต่สวนแล้ววันนี้
 

ที่ศาลปกครองกลาง ถ.สาทรใต้ วันที่ 21 พ.ย.50 

นายสนั่น วรสุขศรี อายุ 60 ปี อดีตนักวิ่งทีมชาติไทย กับพวกซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชนบ้านเคหะนคร บ้านลาดกระบังการ์เด้นท์ บ้านร่มสุข บ้านร่มฤดี บ้านสราญวงศ์ ชุมชนวัดบำรุงรื่น เขตลาดกระบัง และ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ รวม 359 คน ได้ยื่นฟ้อง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) , อธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศ , รมว.กระทรวงคมนาคม , อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และรมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 -5 เรื่องเป็นหน่วยงานทางปกครอง และเจ้าหน้าที่รัฐ กระทำการมิชอบด้วยกฎหมาย กรณีที่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ก่อนที่จะได้มีการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ

ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กำหนดให้ บมจ.ทอท. เจรจาซื้อ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบริเวณพื้นที่ได้รับผลกระทบทางเสียงเกิน 70 เดซิเบล

แต่หากเจ้าของไม่ประสงค์ขาย ก็ให้ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ลดผลกระทบทางเสียง ดังนั้นผู้ฟ้อง 359 คนจึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องที่ 2 - 5 ออกคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องที่ 1 หยุดให้บริการสนามบินสุวรรณภูมิ ห้ามเครื่องบินทุกสายการบินๆ ขึ้นลงเป็นการชั่วคราว และขอให้สั่งหยุดการก่อสร้างทางวิ่งที่ 3 - 4 ไว้ก่อนจนกว่าผู้ถูกฟ้องที่ 1 จะได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขมาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนดเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2548 โดยโยกย้ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเสียงออก

จากพื้นที่ นอกจากนี้ผู้ฟ้องยังยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีด้วย
 

โดยศาลรับคำฟ้องไว้เป็นคดีดำหมายเลขที่ 2193/2550 และเมื่อเวลา 15.00 น. ตุลาการศาลปกครอง กลางจึงได้เรียกพยานผู้ฟ้องเข้าไต่สวนฉุกเฉิน

ซึ่งนายสนั่น ผู้ฟ้องที่ 1 เข้าเบิกความเพียงปากเดียวโดย มีนายสำนวน ประพิณ ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องทั้ง 359 คนร่วมฟังการไต่สวนด้วย ภายหลังศาลใช้เวลาไต่สวนนานกว่า 1 ชั่วโมงจึงแล้วเสร็จ

โดยนายสำนวน ทนายความผู้ฟ้อง เปิดเผยว่า

ศาลได้สอบถามถึงผลกระทบที่ผู้ฟ้องทั้งหมดได้รับ ซึ่งนายสนั่น ผู้ฟ้องที่ 1 ได้ยืนยันถึงผลกระทบที่มีต่อสุขภาพที่บ้านของนายสนั่นมีระดับความดังของเสียงสูงถึง 90 เดซิเบล อย่างไรก็ตามศาลได้แจ้งให้ทราบว่าอย่างเร็วภายในวันศุกร์ที่ 23 พ.ย.จะเรียกให้ ทอท. เข้าให้การเพื่อไต่สวน แต่หากไต่สวนไม่ทันจะเรียก ทอท. ให้การในวันจันทร์ที่ 26 พ.ย.นี้ และหลังจากนั้นศาลจะมีคำสั่งเรื่องการพิจารณามาตรการคุ้มครองชั่วคราวภายใน 2 วันหลังจากที่ได้ไต่สวน ทอท.แล้ว
 

สำหรับเนื้อหาคำฟ้องระบุว่า

สืบเนื่องจากรัฐบาลในอดีตมีนโยบายก่อสร้างสนามบินนานาชาติแห่งที่ 2 ขึ้นที่อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ โดยผู้ถูกฟ้อง 3 ได้ประกาศกำหนดให้สนามบินหนองงูเห่าเป็นสนามบิน ได้รับอนุญาตตามประกาศกระทรวงคมนาคมเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2516 และมีการตราพระราชกฤษฎีกาเวน คืนที่ดินบริเวณที่จะก่อสร้างสนามบินหนองงูเห่า แต่หลังจากเวนคืนแล้ว รัฐบาลในยุคต่อมามิได้ก่อสร้างสนามบินเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี เพราะรัฐบาลไม่มีนโยบายที่ชัดเจน และบางรัฐบาลมีนโยบายยกเลิกเนื่องจากศึกษาโครงสร้างทางธรณีวิทยาของพื้นที่พบเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมขังไม่คุ้มค่ากับการลงทุน จึงใช้วิธีขยายสนามบินท่าอากาศยานดอนเมืองแทนด้วยเหตุดังกล่าว ผู้ฟ้องทั้ง 359 คนและชาวบ้านทั่วไป เชื่อโดยสุจริตว่า จะไม่มีการก่อสร้างสนามบินในบริเวณดังกล่าวอีกต่อไปจึงเลือกซื้อหรือ เช่าที่ดิน และ ปลูกสร้างบ้านพักอาศัยในบริเวณที่ดินที่ใกล้เคียงกับที่ถูกเวนคืน และโดยเชื่อว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ปลอดจากมลภาวะเป็นพิษและห่างไกลความแออัด

ทั้งนี้เมื่อผู้ฟ้องทั้ง 359 ยื่นขออนุญาตก่อสร้าง อาคารบ้านพักอาศัย ตึกแถว

รวมทั้งการขออนุญาตโครงการหมู่บ้านจัดสรรบริเวณดังกล่าวก็ได้รับ อนุญาตจากหน่วยงานของรัฐโดยมิได้มีคำตักเตือนให้ทราบว่าอาจได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างสนามบิน

ต่อมาปี 2534 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการท่าอากาศยานกรุงเทพแห่งที่ 2 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ พระราชทานนามว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” ซึ่ง ครม.ขณะนั้นมอบให้กระทรวงคมนาคมรับผิดชอบการก่อสร้าง
 
โดยขั้นแรกได้มีการจ้างเหมาถมทรายบริเวณพื้นที่ก่อสร้างซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายก่อมลภาวะเป็นพิษแก่ผู้ฟ้องทั้ง 359

และยังก่อมลภาวะทางเสียงอย่างรุนแรงอันจะต้องศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ( EIA) เพื่อเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ก่อน ปรากฎว่า ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ได้ยื่นรายงานการศึกษาครั้งแรกวันที่ มิ.ย. 2544 และได้รับความเห็นชอบเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2548 โดยมีเงื่อนไขให้ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ต้องปฏิบัติตาม คือ ให้เจรจาซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบริเวณ พื้นที่ได้รับผลกระทบทางเสียงเกิน 70 เดซิเบล กรณีเจ้าของไม่ประสงค์ขายต้องติดตั้งอุปกรณ์ลดผล กระทบทางเสียง

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ระบุว่า

บริเวณพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทางเสียงเกิน 70 เดซิเบล ไม่ควรมีสิ่งปลูกสร้างเช่น โรงเรียน วัด โรงพยาบาล และสถานที่ราชการ หากไม่สามารถย้ายออกได้ควรมีมาตรการป้องกันผลกระทบทางเสียง และให้ผู้ถูกฟ้องที่ 1 จ่ายค่าชดเชยโครงการตรวจวัดระดับเสียงทุกเดือน หากพบว่าเสียงเกินระดับพื้นฐานต้องจ่ายค่าทดแทน แต่ระหว่างการศึกษารายงานสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ไม่มีการทำประชาพิจารณ์

โดยผู้ถูกฟ้องที่ 1 เลือกรับฟังความคิดเห็นเฉพาะที่เป็นประโยชน์จากโครงการถือเป็นการทำประชาพิจารณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ซึ่งต่อมาวันที่ 28 ก.ย. 2549 ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ได้เปิดให้บริการสนามบินโดยให้เครื่องบินของสายการบินต่างๆ บินขึ้นลง ก่อให้เกิดผลกระทบทางเสียงและกระทบบ้านเรือน วัด เกิดแตกร้าว นับตั้งแต่วันเปิดทำการเรื่อยมา ผู้ฟ้องทั้ง 359 คนได้รับผลกระทบทางเสียงจนนอนไม่หลับสุขภาพเสื่อมโทรม เกิดอาการทางประสาท ซึมเศร้าและเสียชีวิต ส่วนพระไม่มีสมาธิในการทำวัตร นอกจากนี้สภาพแวดล้อมชุมชนที่ปลอดมลภาวะเป็นพิษเกิดการเปลี่ยนแปลง
 

โดยผู้ฟ้องทั้ง 359 คน เห็นว่า หากสนามบินเปิดทางวิ่งที่ 3- 4 ซึ่งกำลังก่อสร้างมีกำหนดแล้วเสร็จเปิดให้ บริการบินในปี 2552 - 2562 ก็จะทำให้มีสายการบินๆ ขึ้นลงเต็ม 76 เที่ยวหรือ 24 ชม.ย่อมทำให้ ประชาชนได้รับผลกระทบรุนแรงขึ้นจนไม่อาจเยียวยาได้ จึงต้องนำคดีมาฟ้องจากกรณีที่ผู้ถูกฟ้องทั้ง 5 กระทำการละเมิดต่อ พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พรบ.สาธารณสุข พรบ.สุขภาพแห่งชาติ และละเมิดสิทธิประชาชนตามรัฐธรรมนูญ


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์