ร่วมสวดมนต์ถวายในหลวง สังฆราชนำคนไทยทั้งชาติ

สำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช แจ้งว่า วันนี้ (2 พ.ย.) เวลา 15.15 น. สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง

เพื่อทรงสวดมนต์ถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พร้อมขอเชิญประชาชนผู้มีจิตศรัทธา ร่วมสวดมนต์ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
 

พร้อมกันนี้ เวลา 15.49 - 16.19 น. สำนักพระราชวังได้กำหนดให้มีพิธีพลีกรรมตักน้ำและเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดต่างๆ พร้อมกันทั่วประเทศ

เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในงานพระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคมรับการถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดจะประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนเคารพเลื่อมใส หรือจากแหล่งน้ำที่สำคัญของจังหวัด หรือจากแหล่งน้ำที่เคยใช้ประกอบพิธีเสกน้ำศักดิ์สิทธิ์ ตามที่จังหวัดได้แจ้งไว้กับกระทรวงมหาดไทย ผู้ประกอบพิธีจะแต่งกายนุ่งขาวห่มขาว นำดอกไม้ธูปเทียนจุดบูชาเทพดาอารักษ์ ณ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์หรือแหล่งน้ำแห่งนั้น



รายงานระบุว่า แหล่งน้ำสำคัญตามโบราณราชประเพณี ตามตำราฝ่ายพราหมณ์ ระบุว่า
 
แหล่งน้ำสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ได้แก่ น้ำจากแม่น้ำ 5 สายในชมพูทวีป คือแม่น้ำคงคา แม่น้ำยมนา แม่น้ำมหิ แม่น้ำอิรวดี และแม่น้ำสรภู รวมเรียกว่าปัญจมหานที เชื่อกันว่าแม่น้ำทั้ง 5 สายไหลมาจากเขาไกรลาส เป็นที่สถิตของพระอิศวร ส่วนแหล่งน้ำสำคัญและเป็นสิริมงคลตามโบราณราชประเพณีไทยนั้น จากหลักฐานในราชกิจจานุเบกษา ฉบับจดหมายเหตุ พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีเฉลิมพระราชมนเทียร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สยามินทราธิราช พุทธศักราช 2493 และจากหนังสือชุดราชประเพณีไทย เรื่องพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวถึงแหล่งน้ำสำคัญและสถานที่เสกน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้เป็นน้ำสรงมูรธาภิเษก ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สืบมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน

นอกจากนี้ แหล่งน้ำสำคัญและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับความเคารพเลื่อมใสกันมาแต่โบราณกาล ได้แก่

น้ำสรงมูรธาภิเษก ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีการใช้น้ำจากสระเกษ สระแก้ว สระคงคา สระยมนา ในแขวงสุพรรณบุรี ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ น้ำสรงมูรธาภิเษกในรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 นอกจากจะใช้น้ำในสระเช่นเดียวกับสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว ยังมีการใช้น้ำในแม่น้ำบางปะกง แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำราชบุรี และแม่น้ำเพชรบุรี รวมเรียกว่าเบญจสุทธคงคา และน้ำแต่ละแห่งดังกล่าวเมื่อตักแล้วจะตั้งพิธีเสก ณ เจดีย์สถานสำคัญแห่งแขวงนั้นๆ แล้วจึงจัดส่งเข้ามาทำพิธีที่กรุงเทพมหานคร


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์