รำลึก 14 ตุลา

14 ตุลา ฯ รำลึก



ย้อนอดีตไปร่วม 28 ปีเศษที่วีรชนคนกล้า และนักศึกษาผู้รักชาติได้เสียสระเลือดเนื้อและชีวิต เพื่อต่อสู้กับระบบเผด็จการ ในช่วงปีพศ. 2516 กลุ่มนักศึกษาจากหลายสถาบัน มีแกนนำโดยม.ธรรมศาสตร์ ได้ร่วมกับโค่นล้มเผด็จการ ทรราชได้สำเร็จ แต่คลื่นใต้น้ำยังมีอยู่ ผ่านไป 3 ปี ในปีพศ.2519 กลุ่มอำนาจเก่าได้ใช้แผนการล้มสมาพันธ์นักศึกษาทุกวิถีทาง ใช้กำลังเข้าปราบปรามโดยกลุ่มกระทิงแดง คุกคามชีวิตและความปลอกภัยของนักศึกษา จนเกิดเหตุการณ์มหาวิบปโยกของไทย วันที่ 6 ตุลาคม 2519 นักศึกษาถูกทำร้ายและฆ่าตาย เสียชีวิตไปจำนวนมาก และอีกกลุ่มต้องหนีเข้าป่าเพื่อต่อสู้กับฝ่ายเผด็จการ


ย้อนรำลึก...สิบสี่-หกตุลา วีรกรรมเพื่อประชาธิปไตย
ย่างเข้าสู่เดือนตุลาคมคราใด สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นสัญลักษณ์ของเดือนนี้ที่ใคร ๆ ต่างไม่ลืมที่จะนึกถึงก็คือ เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519

....วันเวลาที่มีบทบาทสำคัญต่อประวัติศาสตร์การเมืองไทย !!!14 ตุลาคม 2516 "วันมหาวิปโยค" นักเรียน นิสิต นักศึกษา รวมทั้งประชาชนกว่าครึ่งล้าน รวมตัวประท้วงเรียกร้องรัฐธรรมนูญโดยมีนักศึกษาเป็นแนวร่วมสำคัญ เพราะช่วงนั้นเกิดการใช้อำนาจเผด็จการ โดยจอมพลถนอม กิตติขจร ปฏิวัติยึดอำนาจตัวเองเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกา ยน 2514 ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ปี 2511 จัดตั้งรัฐบาลคณะปฏิวัติขึ้นปกครองประเทศ

แรงปะทุเกิดขึ้น เมื่อมีการจับกุมกลุ่มผู้เรียกร้องจำนวน 13 คน ด้วยข้อหาขัดขืน คำสั่งคณะปฏิวัติมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คนและข้อหาร้ายแรงว่าเป็นกบฏ จึงเกิดการชุมนุมครั้งใหญ่ นักศึกษา ประชาชนหลั่งไหลมาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เกิดการเดินขบวนครั้งใหญ่ในวันที่ 13 ตุลาคม 2516 ฝูงชนนับแสนออกเดินจากธรรมศาสตร์ไปตามถนนราชดำเนิน สู่ลานพระบรมรูปทรงม้า จนเวลา 20.00 น. รัฐบาลจึงยอมปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมโดยไม่มีเงื่อนไข และรับรองว่าจะร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 1 ปี

แต่แล้วเช้าตรู่ของวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ขณะกลุ่มผู้ชุมนุมกำลังจะสลายตัว การนองเลือดก็เกิดขึ้น ด้วยกลุ่มผู้ชุมนุมถูกตำรวจปิดกั้นเส้นทางเดิน เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรง กลายเป็นจลาจลกลางเมือง สภาพบ้านเมืองเสียหายย่อยยับแทบทุกถนน เหตุร้ายมาสงบลงได้เมื่อค่ำวันที่ 15 ตุลาคม 2516 เมื่อจอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ออกเดินทางไปนอกประเทศ หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่


นับเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงพลังมวลชนในการรวมตัวเรียกร้องให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ แต่ก็ต้องเสียชีวิตเลือดเนื้อผู้คนถึง 71 ชีวิต บาดเจ็บอีกหลายร้อย ราย พิการ 45 คน จิตฟั่นเฟือน 27 คน ทุพพลภาพ 11 คน สูญหาย 4 คน !!!

แต่หน้าประวัติศาสตร์ต้องถูกจารึกอีกครั้ง เมื่อเวลาผ่านไปถึงปี 2519 กับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม นาทีเลือดแห่งการปราบปรามและสังหารนักศึกษาอย่างทารุณ บัดนี้ตัวเลขผู้เสียชีวิตยังเป็นปริศนาดำมืด....
การกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจร ด้วยการห่มผ้าเหลืองบวชเป็นสามเณร.. เกิดการชุมนุมขับไล่โดยศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยและประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีกลุ่มพลังฝ่ายอำนาจเก่า คอยล้มล้างโจมตีนักศึกษา ปลุกปั่นสถานการณ์ให้เลวร้ายยิ่งกว่าเดิม
ผลสุดท้ายในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ตำรวจและกลุ่มประชาชนสังกัดพลังฝ่ายขวาเข้าล้อมปราบนิสิตนักศึกษาและประชาชนด้วยอาวุธปืนสงครามร้ายแรงนานาชนิด กระทำทารุณด้วยการแขวนคอกับต้นมะขามบริเวณสนามหลวง รุมฆ่า เผาทั้งเป็น โดยใช้ยางรถยนต์เป็นเชื้อ.... เลือดเนื้อและชีวิตถูกสังเวยไปกับความโหดเหี้ยมผิดมนุษย์ไม่รู้กี่ร้อยกี่พันศพ


เกิดการยึดอำนาจจากรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช นำโดย พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ประกาศเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 ยุบสภาผู้แทนราษฎร เลิกพรรคการเมือง ตั้ง นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี เข้าสู่ยุคเผด็จการเต็มรูปแบบ ผู้นำนักศึกษาถูกจับกุมดำเนินคดี นักวิชาการปัญญาชนลี้ภัยไปต่างประเทศจำนวนมาก นักศึกษาประชาชนหนีเข้าป่าเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย บ้านเมืองเต็มไปด้วยความหวาดระแวง รัฐบาลหักหลังปฏิวัติล้มล้างกันเองมาตลอดจนถึงปี 2523 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ผู้ที่เข้าร่วมกับคอมมิวนิสต์ที่อยู่ในป่าพ้นผิด เข้ามอบตัวกับทางการเพื่อมาช่วยกันพัฒนาบ้านเมือง ความสงบสุขจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง

เหตุการณ์ผ่านมานานแล้ว แต่สิ่งที่อนุชนรุ่นหลังจะยังเห็นภาพอดีตของเรื่องราว 14 และ 6 ตุลา ในเชิงรูปธรรมได้ในขณะนี้ก็คงจะเป็นอนุสรณ์ที่ได้สร้างไว้ นั่นก็คือ อาคารอนุสรณ์ สถาน 14 ตุลา ที่ทางมูลนิธิ 14 ตุลาเป็นเจ้าของโครงการ ตั้งอยู่ที่สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน กลาง ที่กว่าจะสำเร็จได้ต้องใช้เวลาถึง 28 ปีหลังจาก ปี 2516...... โคทม อารียา กรรมการและเลขานุการมูลนิธิ 14 ตุลา กล่าวว่า จุดประสงค์ของการก่อสร้างก็เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงเหตุการณ์ ถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังได้รู้ถึงเรื่องราว

"หลังพระราชทานเพลิงศพผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์เมื่อปี 2517 คณะรัฐมนตรีมีมติให้สร้างอนุสาวรีย์วีรชนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม แต่พอเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เลยถูกพักไว้ ผ่านมาถึงรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีการลงมติให้สร้าง และจากนั้นมาทุกรัฐบาลก็มีมติสอดคล้อง แต่ติดปัญหาว่าเรื่องที่ดิน ผ่านมาจนถึงปลายปี 2542 จึงเริ่มก่อสร้างได้และจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2544 นี้ แต่ยังไม่สมบูรณ์ทั้งหมด ส่วนของตัวอาคารสร้างเสร็จ แต่ประติมากรรมสถูปต้องใช้เวลาอีกสักระยะ รวมทั้งการจัดหาวัสดุครุภัณฑ์สำนักงานบางส่วน"

ส่วนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นมีสวนประติมากรรม กำแพงประวัติศาสตร์ เป็นอนุสรณ์ สถานแสดงเหตุการณ์การต่อสู้ เพื่อประชาธิปไตยในประวัติศาสตร์ 11 เหตุการณ์ คิดริเริ่มตั้งแต่ปี 2539 ปัจจุบันแล้วเสร็จ สามารถชมได้อยู่บริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ใกล้ ๆ กับหอประชุมใหญ่ ฝั่งคณะนิติศาสตร์

สำหรับการจัดงานรำลึกถึงเหตุการณ์ทั้งสองในปีนี้นั้น มีเหมือนดังทุกปี มีงานพิธีทอดผ้าป่าบังสุกุล ทำบุญ 25 ปี 6 ตุลา และมอบหนังสือรายงานชำระประวัติศาสตร์ แด่ ฯพณฯ ประธานรัฐสภา นายอุทัย พิมพ์ใจชน มอบโล่ตุลาชนหาญกล้าในวันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม 2544 ณ สวนประติมากรรม โครงการกำแพง ประวัติศาสตร์ ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกิจกรรมทางวิชาการในช่วง 6-14 ตุลาคมที่ธรรมศาสตร์ ส่วนวันที่ 12-14 ตุลาคม 2544 จะมีงานพิธีสมโภชสถูปดวงวิญญาณวีรชนประชาธิปไตย ที่อนุสรณ์สถานวีรชนประชาธิป ไตย สี่แยกคอกวัว ซึ่งทางคณะกรรมการตาม หาญาติวีรชนได้เชิญชวนให้ญาติวีรชน 14 ตุลา ติดต่อมาที่สำนักงานสถาบันปรีดี พนมยงค์ สุขุมวิท 55 เพื่อเขียนชื่อวีรชนด้วยลายมือของญาติเอง ใช้เป็นต้นแบบสลักลงบนกระเบื้องเพื่อประกอบบนสถูป

......แม้วันนี้ ไม่มีการเดินขบวนเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ไม่มีการชุมนุม แจกใบปลิวร้องขอประชาธิปไตย ไม่มีโศกนาฏกรรมนองเลือด

แต่วีรกรรมเพื่อประชาธิปไตย จะคงอยู่ในความทรงจำไม่ลบเลือน.

การชำระประวัติศาสตร์ 6 ตุลา
การรวมตัวจัดตั้ง "คณะกรรมการรับข้อมูล และสืบพยานกรณี 6 ตุลาคม 2519" สำเร็จลงในเดือนกรกฎาคม 2543 ด้วยความร่วมมือของอาจารย์ นักวิชาการ มีศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.ชลธิรา สัตยาวัฒนา เป็นประธาน รับฟังข้อมูลจากผู้สมัครใจ 62 คนให้ข้อมูลด้วยวาจาร่วมกับข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ เช่น คำให้การในศาลของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หนังสือ บทความทางวิชาการ เอกสารสิ่งพิมพ์ทั้งในและนอกประเทศ และเทปบันทึกภาพจากสถานีวิทยุโทรทัศน์ ในที่สุดได้จัดพิมพ์เป็นเอกสารรายงาน 2 เล่ม เล่มแรก "อาชญากรรมรัฐในวิกฤติการเปลี่ยนแปลง" และเล่มที่สอง "กรีดแผล กลัดหนอง กรองความจริง บันทึกความในใจ ของผู้หญิง 6 ตุลาฯ" ซึ่งถือเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งในการชำระประวัติศาสตร์ ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากอีกหลายฝ่ายด้วยมีขีดจำกัดไม่มีข้อมูลโดยตรง จากบุคลากรของรัฐ แต่ก็พยายามรวบรวมข้อมูลสรุปประเด็น ตั้งคำถามต่อรัฐบาลและสังคมไทย.

หนังสืออ่านเพิ่มเติม 14 ตุลา
สมัยของ รมช.กระทรวงศึกษาธิการ อดิศร เพียงเกษ มีการประชุมนักวิชาการ มีมติให้นำเรื่องขบวนการเสรีไทย และเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เรียบเรียงเป็นหนังสืออ่านเพิ่มเติม ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา โดยให้หนังสือเสรีไทย เป็นหนังสืออ่านเพิ่มเติม ของนักเรียนชั้นมัธยมปลาย ส่วนเรื่อง 14 ตุลา เป็นหนังสืออ่านของนักเรียนมัธยมต้น สำหรับหนังสือ 14 ตุลานั้นที่ประชุมมีมติให้เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นผู้เรียบเรียง แต่ท้ายที่สุดกระทรวงศึกษาธิการได้ล้มเลิกการจัดพิมพ์.... เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กล่าวว่า เพราะที่ไม่มี กรรมการขั้นสุดท้ายพิจารณา จึงไม่สามารถจัดพิมพ์ออกมาได้ ตนเองเลยจัดการพิมพ์เองใช้ชื่อว่า "อนุทิน 14 ตุลา"

ถามไปทางศูนย์พัฒนาหนังสือ กรมวิชาการ บอกว่า ด้วยความที่ยังไม่มีการชำระประวัติศาสตร์ในเรื่อง 14 ตุลา เกรงจะเป็นผลกระทบต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง เลยไม่ผ่านการพิมพ์เป็นหนังสืออ่านเพิ่มเติม ซึ่งทางเนาวรัตน์ก็ให้ความเห็นว่า การชำระประวัติศาสตร์14 ตุลานั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ยังไม่มีใครทำ ทางการควรเข้ามามีส่วนร่วม จะได้เป็นการยืนยันความชัดเจน เด็กเยาวชนควรจะได้เรียนรู้ว่า คนรุ่นเขานี่แหละที่เป็นคนเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ถือเป็นเรื่องสำคัญ.


 


จาก นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 4 ตุลาคม 2544


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์