ระวังฝรั่ง ดูดข้อมูล เอทีเอ็ม


ดีเอสไอบัตรเครดิตระบาดหนัก 20 กลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นฝรั่งร่วมมือกับคนมาเลย์-คนไทย ติดตั้งเครื่องดูดข้อมูลตามตู้เอทีเอ็มแล้วนำไปทำบัตรปลอมโอนเงินเกลี้ยงบัญชี อุปกรณ์ดูดข้อมูลผลิตในสเปน ชี้ประชาชนงดใช้บริการตู้เอทีเอ็มในพื้นที่เสี่ยง เช่น ตามห้าง-ปั๊มน้ำมัน ส่วนคดีพ่อค้าแม่ค้าชุมพรโดนดูดข้อมูลเอทีเอ็มสูญนับล้าน ตร.ตามจับคนร้ายได้แล้วเป็นหนุ่มมาเลย์ ใช้เครื่องสกิมเมอร์ติดกับตู้เอทีเอ็มแล้วดูดข้อมูลผ่านโน้ตบุ๊ก พอเช็กได้แล้วว่ามีเงินเยอะก็จะโอนเงินจนเกลี้ยง ตร.แกะรอยตามจับได้ที่หาดใหญ่ แถมพยายามติดสินบนตำรวจชุดจับกุม 1.2 ล้าน เลยโดนอีกข้อหา

เมื่อวันที่ 9 มี.ค. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผบ.สำนักกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการสอบสวนเครือข่ายปลอมแปลงบัตรเครดิตของดีเอสไอ พบว่ายังมีเครือข่ายที่ยังไม่ถูกจับกุม 10-20 กลุ่ม โดยมีชาวยุโรปกลาง ร่วมกับชาวมาเลเซียและคนไทย เข้ามาติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอ นิกส์ เพื่อขโมยข้อมูลบัตรเครดิตและบัตรเอทีเอ็ม ซึ่งอุปกรณ์ตัวใหม่ล่าสุดสั่งซื้อจากประเทศสเปน จะมีลักษณะใกล้เคียงกับอุปกรณ์ที่ติดตั้งตามตู้กดเงินของธนาคารทั่วโลก หากไม่สังเกตก็จะคิดว่าเป็นอุปกรณ์ของธนาคาร โดยกลุ่มคนร้ายจะเลือกติดตั้งอุปกรณ์กับตู้กดเงินที่ตั้งอยู่ในสถานที่พลุกพล่าน

อาทิ หน้าเซเว่น-อีเลฟเว่น หน้าโลตัสเอ็กซ์เพรส และปั๊มน้ำมัน จึงอยากฝากเตือนไปยังประชาชนหากไม่มั่นใจในการใช้บริการตู้กดเงินด่วน ขอให้เลือกใช้บริการจากตู้ที่ติดตั้งบริเวณหน้าธนาคาร ซึ่งจะมีความปลอดภัยมากกว่าตู้บริการเงินด่วนที่ติดตั้งในบริเวณอื่นๆ นอกจากนี้ยังขอฝากไปยังธนาคารต่างๆ ให้กวดขันเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ชำนาญการให้หมั่นตรวจสอบความผิดปกติของตู้เอทีเอ็ม

พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ดีเอสไอกำลังรวบรวมหลักฐานเพื่อจับกุมเครือข่ายปลอมแปลงบัตรเครดิต โดยจะจับกุมได้ต่อเมื่อมีการนำข้อมูลไปทำเป็นบัตรปลอมและมีผู้เสียหายเข้าร้องเรียน ซึ่งเครือข่ายปลอมบัตรจะพยายามหลบเลี่ยงการตรวจสอบ โดยไม่ทำปลอมบัตรเครดิตของคนไทยมาใช้ในประเทศ แต่จะนำข้อมูลบัตรเครดิตของคนไทยไปให้เครือข่ายต่างชาตินำไปทำปลอม เพื่อใช้ในประเทศต่างๆ และจะนำบัตรเครดิตปลอมของชาวต่างชาติมาใช้ในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทางการของหลายประเทศจะพยายามกวาดล้างจับกุม แต่ก็ยังไม่สามารถทลายเครือข่ายปลอมบัตรเครดิตให้หมดไปได้ เนื่องจากอุปกรณ์มีการพัฒนาให้ขโมยข้อมูลบัตรเครดิตได้ง่ายขึ้น

ส่วนกรณีมีผู้เสียหาย 20 คน เข้าแจ้งความว่าเงินในบัญชีธนาคารสูญหายไป ภายหลังใช้บริการเบิกเงินจากตู้เอทีเอ็มของ ธ.กรุงเทพ (มหาชน) จำกัด ที่จุดตลาดอวยชัย 3 หมู่ที่ 4 ต.วังตะกอ อ.หลังสวน จ.ชุมพร รวมเป็นเงินมากกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดตำรวจจับกุมนายเตียว เกียก เหลียง อายุ 43 ปี ชาวมาเลเซีย ซึ่งสารภาพว่าร่วมกับนายโกะ จิ้น เฮง เพื่อนร่วมชาติ ลักลอบดูดข้อมูลบัตรเอทีเอ็มเหยื่อไปรูดเงิน ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

เมื่อเวลา 08.30 น. พล.ต.ต.อภิชาติ เชื้อเทศ ผบก.ภ.จว.ชุมพร พร้อมด้วยพ.ต.อ.สุพจน์ บุญชูดวง ผกก.สภ.หลังสวน สอบปากคำนายเตียวอีกครั้ง โดยนายเตียวสารภาพว่า ร่วมกับนายโกะนำเครื่องบันทึกข้อมูลไปติดตั้งที่ตู้เอทีเอ็มของแบงก์กรุงเทพในตลาดอวยชัย 3 ต.วังตะกอ อ.หลังสวน แล้วนำข้อมูลมาปลอมบัตรเอทีเอ็มไปถอนเงินจำนวนหลายล้านบาท ก่อนจะหลบหนีไปยังอ.หาดใหญ่ เพื่อข้ามแดนกลับมาเลเซีย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างเข้าจับกุมนายเตียวนำเงินสด 1.2 ล้านบาท ให้กับพ.ต.อ.สุพจน์ บุญชูดวง ผกก. และตำรวจชุดจับกุม แต่ตำรวจปฏิเสธ พร้อมกับตั้งข้อหาให้สินบนเจ้าพนักงานเพิ่มอีก 1 ข้อหา

พ.ต.อ.สุพจน์ กล่าวว่า แนวทางการสืบสวนตำรวจได้ดูกล้องวงจรปิดจากตู้เอทีเอ็ม พบทะเบียนของผู้ต้องสงสัยเป็นรถเช่าใน อ.หาดใหญ่ จึงประสานไปยังร้านรถเช่าดังกล่าวทราบว่า รถคันดังกล่าวมีกำหนดนำมาคืนในวันที่ 8 มี.ค. ตนจึงนำกำลังไปจับกุมนายเตียวได้ในที่สุด โดยผู้ต้องหาสารภาพว่าได้นำเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ที่เรียกว่า "แจมมิ่ง" หรือ "สกิมเมอร์" ก๊อบปี้ข้อมูลของผู้ที่มากดเงินตามตู้เอทีเอ็มในจ.สุราษฎร์ธานี และจ.ชุมพร จากนั้นนำมาตรวจสอบว่ารายใดมีเงินมาก ก็จะโอนเงินเข้าบัญชีที่จ.สงขลา แล้วจึงเผ่นกลับมาเลเซีย แต่กลับโดนตำรวจดักจับตอนที่นำรถเช่าไปคืนเสียก่อน

"พฤติกรรมของคนร้ายแก๊งนี้ว่าเป็นแก๊งใหญ่ของมาเลเซีย ส่วนวิธีการโจรกรรมข้อมูลของเหยื่อนั้นทราบว่าเริ่มแรกคนร้ายคงใช้วิธีถ่ายภาพตู้เอทีเอ็มเป้าหมายก่อน แล้วกลับไปมาเลเซียเพื่อออกแบบฝาครอบที่สอดบัตรของตู้เอทีเอ็ม จากนั้นจึงนำกลับมาแปะทับที่ช่องสอดบัตร แล้วติดตั้งเครื่องมือที่เรียกว่า "แจมมิ่ง" หรือ "สกิมเมอร์" ซึ่งเป็นเครื่องคัดลอกข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมติดกล้องแอบถ่ายขนาดเล็กไว้บนผนังด้านบนของตู้เอทีเอ็ม ซึ่งหากไม่สังเกตจะไม่เห็น และเครื่องสกิมเมอร์กับกล้องจะมีเครื่องส่งสัญญาณไปยังคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กที่คนร้ายใช้อยู่ในรถที่จอดอยู่ห่างจากตู้เอทีเอ็มในรัศมีไม่เกิน 100 เมตร"

ผกก.สภ.หลังสวนกล่าวว่า หลังจากติดตั้งอุปกรณ์เหล่านี้แล้ว คนร้ายคงไปนั่งเปิดโน้ตบุ๊กรออยู่ในรถ เมื่อมีเหยื่อนำบัตรมากดเงินได้ 15-20 ราย อุปกรณ์ที่ติดอยู่ในตู้เอทีเอ็มจะส่งสัญญาณภาพและรหัสที่เหยื่อกดไปยังคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กของคนร้าย จากนั้นคนร้ายก็จะตรวจสอบเงินในบัญชีของเหยื่อแต่ละคน หากพบว่ารายใดมีเงินมาก ก็จะคัดลอกข้อมูลไปใส่ในแถบแม่เหล็กในบัตรเอทีเอ็มปลอมที่คงมีเครื่องทำปลอมอยู่ในรถนั่นเอง เมื่อเหยื่อออกจากตู้ไปแล้ว คนร้ายก็จะนำบัตรที่ปลอมขึ้นมาไปกดเงินจากตู้เอทีเอ็มตู้อื่นแล้วโอนเงินไปเข้าบัญชีที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

พ.ต.อ.สุพจน์ กล่าวต่อไปว่า น่าเสียดายที่ขณะจับกุมคนร้าย เจ้าหน้าที่ไม่พบคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กของคนร้าย คาดว่าคงนำไปเก็บไว้ที่มาเลเซียแล้ว จึงไม่ทราบว่าคนร้ายใช้โปรแกรมอะไรในการโจรกรรมข้อมูลบัตรเอทีเอ็มดังกล่าว จึงอยากเตือนประชาชนที่ใช้บัตรเอทีเอ็มว่า ทุกครั้งที่นำบัตรไปกดเงินควรสังเกตตู้เอทีเอ็มนั้นๆ ว่ามีสิ่งแปลกปลอมติดตั้งอยู่บ้างหรือไม่ และขณะป้อนรหัสควรใช้มือบังทุกครั้ง เพื่อป้องกันมิให้คนร้ายโจรกรรมข้อมูลของเราได้ง่ายๆ และหากพบสิ่งผิดปกติใดๆ ที่ตู้เอทีเอ็มต้องรีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทางธนาคารทันที

วันเดียวกัน นายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับผู้บริหารธนาคารที่เป็นสมาชิกของสมาคม จากปัญหาลูกค้าบัตรเอทีเอ็มธนาคารกรุงเทพ ซึ่งได้กดเงินที่ตู้เอทีเอ็มของธนาคารทหารไทย และถูกขโมยข้อมูล จะก่อให้เกิดความเสียหาย และยังมีลูกค้าอีกหลายรายอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าลูกค้าไม่ได้มีส่วนร่วมในการทุจริต และเป็นผู้ได้รับความเสียที่เกิดขึ้นจริง สาเหตุต้องพิจารณาให้รอบคอบ เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจากการขโมยข้อมูลบัตรเอทีเอ็ม มีทั้งการร่วมมือของลูกค้ากับกลุ่มมิจฉาชีพ และการได้รับความเสียหายโดยตรง และเพื่อย้ำเตือนลูกค้าของธนาคารไม่ให้ได้รับความเสียหาย จึงขอเตือนให้ลูกค้าสถาบันการเงินทุกคนให้ปกปิดรหัสเอทีเอ็มให้เป็นความลับมากที่สุด แม้แต่คนในครอบครัว และควรเปลี่ยนรหัสเอทีเอ็ม ไม่ควรใช้รหัสเดิมเป็นเวลานาน เพื่อความปลอดภัยของเงินในบัญชี และย้ำเตือนว่าเวลากดเงินสดหรือตรวจสอบข้อมูลจากเอทีเอ็มควรใช้มือปิดไว้ เพื่อป้องกันการแอบดูรหัสเอทีเอ็มจากการติดกล้องวงจรปิดจากกลุ่มมิจฉาชีพ และที่ประชุมเห็นร่วมกันว่าธนาคารทุกแห่งจะติดตั้งกล้องวงจรปิดให้ครอบคลุมทุกตู้เอทีเอ็มให้มากที่สุดในจุดที่สำคัญ อีกทั้งธนาคารทุกแห่งจะติดตั้งเครื่องแอนตี้สกิมมิง สำหรับป้องกันขโมยข้อมูลบัตรเอทีเอ็มให้ครบทุกตู้เอทีเอ็มแม้จะมีต้นทุนสูงขึ้น เพื่อป้องกันความเสียหายของทุกฝ่าย

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์