รง.รองเท้าบุรีรัมย์เจ๊งตามยูเนี่ยนลอยแพร่วม700

ภาพประกอบข่าวจากอินเตอร์เนต

โรงงานรองเท้าบุรีรัมย์ "บ้านไผ่ ยูเนี่ยน ชูส์"

ล้มตามยูเนี่ยนฟุทแวร์ เลิกจ้างคนงาน 670 คน หลังออเดอร์หด แจ้งปิดกิจการ 31 ส.ค. ขณะที่ องค์กรลูกจ้างเปิดวงสัมมนา แฉรัฐ-นายจ้างอ้างบาทแข็งไล่คนงานออก ไม่จ่ายค่าชดเชย เสนอตั้ง คกก.ตรวจสอบ-ตั้งกองทุนประกันเสี่ยงเลิกจ้าง
 
การประกาศปิดกิจการของ บริษัท ยูเนี่ยนฟุทแวร์ จำกัด (มหาชน)

ตั้งอยู่ที่ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ได้ส่งผลกระทบตามมาเป็นลูกโซ่ โดยเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม นายสุวิทยา จันทวงศ์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า ภายหลังบริษัท ยูเนี่ยนฟุทแวร์ จำกัด (มหาชน) ประกาศปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงานกว่า 5,000 คน เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุน โดยให้มีผลภายในสิ้นปี 2550 นั้น ขณะนี้ผลพวงจากปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบกับ บริษัท บ้านไผ่ ยูเนี่ยน ชูส์ จำกัด ตั้งอยู่ อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งประกอบกิจการตัดเย็บหน้ารองเท้า มีลูกจ้าง 670 คน ได้แจ้งขอปิดกิจการภายในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ 

ทั้งนี้ บริษัท บ้านไผ่ ยูเนี่ยน ชูส์ ให้เหตุผลว่า

บริษัท ยูเนี่ยนฟุทแวร์ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่ และบริษัทบ้านไผ่ฯ รับชิ้นงานมาดำเนินการตัดเย็บ ก่อนจะประกอบ ผลิตเป็นรองเท้ายี่ห้อไนกี้ มียอดการสั่งซื้อลดลง และปิดกิจการ ย่อมส่งผลให้บริษัทบ้านไผ่ฯ ต้องลดและปิดกิจการในสิ้นเดือนนี้ 

นายสุวิทยา กล่าวอีกว่า

เจ้าหน้าที่สวัสดิการฯ ในพื้นที่ได้เข้าไปเจรจาให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมาย และทำบันทึกข้อตกลงกับนายจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร โดยนายจ้างรับปากจะทยอยเลิกจ้างเป็นรายงวดผลิต และจ่ายค่าชดเชย ตลอดจนสิทธิประโยชน์ให้แก่ลูกจ้างทุกประการ ซึ่งเรื่องนี้มีหนังสือแจ้งไปยัง นายผดุงศักดิ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน รับทราบแล้ว 

ส่วนที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย จัดเวทีสาธารณะ เรื่อง “ทิศทางการปฏิรูปการเมืองและสังคม เพื่อประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตลูกจ้าง” โดย น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย บรรยายในหัวข้อ "ผลกระทบค่าเงินบาท ต่อคุณภาพชีวิตคนงานและค่าจ้าง” ตอนหนึ่งว่า ปัญหาค่าเงินบาทแข็งตัวส่งผลกระทบต่อลูกจ้างโดยตรง เห็นได้จากสถานประกอบการกว่า 30 แห่ง ต้องปิดกิจการ ส่งผลให้ลูกจ้างจำนวนมากถูกลอยแพ โดยเฉพาะลูกจ้างอายุ 40 ปีขึ้นไป พวกเขาไม่มีทางเลือกในการทำงาน ต้องไปทำงานนอกระบบ ขณะที่ลูกจ้างบางรายก็ถูกเลิกจ้างอย่างไม่ชอบธรรม เนื่องจากถูกนายจ้างใช้วิธีกดดันทางอ้อม อาทิ สั่งพักงาน ทำให้ลูกจ้างทนรับเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้ ต้องลาออกเองในที่สุด และสุดท้ายก็ไม่ได้รับค่าชดเชยเต็มตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด 

น.ส.วิไลวรรณ กล่าวด้วยว่า

จากการตรวจสอบที่ผ่านมา พบว่าปัญหาการเลิกจ้างบางครั้งก็ไม่ใช่เพราะเศรษฐกิจขาลงเพียงอย่างเดียว แต่อาจเกิดจากนายจ้างต้องการย้ายฐานการผลิตที่มีค่าแรงราคาถูกกว่า สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ลูกจ้างได้รับผลกระทบไปเต็มๆ ที่ผ่านมารัฐมักโทษแต่ปัญหาค่าเงินบาท แต่กลับไม่เสนอแนวทางแก้ไขที่ชัดเจน และการที่กระทรวงแรงงานออกมาแต่งตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ก็ไม่ได้ช่วยอะไร เป็นเพียงสร้างภาพเท่านั้น ดังนั้น ขอเรียกร้องให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเลิกจ้าง พร้อมทั้งจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงกรณีเลิกจ้างด้วย 

ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า

ปัญหาการเลิกจ้างไม่ควรจะมองแยกส่วน แต่ผลกระทบจากค่าเงินบาทเป็นส่วนหนึ่งทำให้สถานประกอบการต้องปิดกิจการ ปัจจัยหลักคือ การที่นายทุนพยายามลดการผลิต ลดต้นทุนของการผลิต สินค้าไม่มีคุณภาพ ดังนั้น คนที่เข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ไม่ใช่เฉพาะลูกจ้าง รัฐบาลเองก็ต้องมีบทบาทสำคัญในการบริหารโครงสร้างระบบเศรษฐกิจพื้นฐานให้อำนวยต่อการลงทุน ผู้ประกอบการก็ต้องมีการลงทุนด้านมนุษย์ รวมถึงเทคโนโยลีที่ทันสมัยและมีคุณภาพ แรงงานก็ต้องพัฒนาตัวเองให้มีทักษะฝีมือ สามารถที่จะแข่งขันในตลาดโลกได้ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านการส่งออกด้วย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องระวัง คือ ภายใน 1-2 ปีนี้ประเทศไทย โดยเฉพาะแรงงานไทยจะประสบวิกฤติปัญหาการย้ายฐานการผลิตอย่างสูง ถ้าหากไม่มีการปรับตัว ยังต้องพึ่งพาทุนและตลาดต่างชาติ นายจ้างก็จะทยอยปิดกิจการ เลิกจ้างแรงงานในที่สุด
 
รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า

ระบบเศรษฐกิจไทยขณะนี้มี 3 รูปแบบ คือ 1.รับจ้างผลิต 100% 2.รับจ้างผลิต แบบลงทุนเองบ้าง และ 3.รับจ้างผลิตแบบลงทุนเองทั้งหมด ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจ ระบบรับจ้างผลิต 100% ซึ่งมีอยู่ประมาณ 33% ในประเทศจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เห็นได้ชัดจากกรณีโรงงานไทยศิลป์ สหยูเนี่ยน เป็นต้น สุดท้าย คนที่เดือดร้อนที่สุดก็คือคนงาน ฉะนั้นทางออกที่ดีที่สุดคือ สินค้าต้องมีคุณภาพ มีตลาด มียี่ห้อของตนเอง อาศัยการพึ่งพาตลาดนอกให้น้อยที่สุด


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์