ยาต้านเอดส์สูตรน้ำเชื่อมให้เด็กติดเชื้อ

"หลากหลายมุ่งราคาถูก"


องค์การเภสัชกรรมเร่งพัฒนายาต้านไวรัสเอดส์ให้มีความหลากหลายรองรับผู้ป่วย มุ่งเน้นราคาถูก หวังให้ผู้ติดเชื้อใช้ยาทั่วถึง เตรียมออกยาน้ำสูตรน้ำเชื่อมสำหรับเด็กผู้ติดเชื้อที่กินยายาก ต.ค.นี้ พร้อมลดราคายาต้านไวรัสลงอีก ยันเหตุลดราคาไม่เกี่ยวบริษัทยาเมืองนอกเข้าตีตลาดยาต้านในไทย

สถานการณ์ผู้ป่วยเอดส์ในประเทศไทยยังคงน่าเป็นห่วง เนื่องจากปัจจุบันผู้ป่วยต้องรับประทานยาต้านเชื้อไวรัสอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหายาราคาแพงยังคงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การรักษาไม่สามารถแพร่กระจายได้ทั่วถึง แม้ว่าขณะนี้จะมีบริษัทผลิตยาจากต่างประเทศเข้ามาตีตลาด โดยกำหนดราคายาให้ถูกกว่าที่ประเทศไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน ล่าสุด องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้หาทางแก้ปัญหา โดยบริหารจัดการในเรื่องต้นทุนการผลิตภายในองค์การ ส่งผลให้ยอดใช้จ่ายโดยรวมลดลง จนสามารถปรับราคายาต้านไวรัสให้มีราคาถูกลงแล้ว พร้อมกับเตรียมผลิตยาต้านไวรัสประเภทน้ำเชื่อมออกมาใช้ สำหรับผู้ป่วยเด็กที่กินยายาก


"มุ่งเน้นให้เข้าถึงผู้ติดเชื้อ"


เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พล.ท.น.พ.มงคล จิวะสันติการ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า จากปัญหาการเข้าถึงยาและการดื้อยาที่เพิ่มมากขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งเป็นเรื่องที่ทาง อภ.ได้ให้ความสำคัญ ด้วยการมุ่งเน้นวิจัยเพื่อพัฒนายาต้านไวรัสให้มีตำรับยาหลากหลายในการรองรับผู้ป่วยในกลุ่มต่างๆ และมุ่งเน้นให้ยามีราคาต่ำเพื่อให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงยาอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการวิจัยและพัฒนายาเพื่อกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ดื้อยา รวมไปถึงผู้ติดเชื้อเด็กที่เป็นกลุ่มที่มีปัญหากินยายาก

อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้ปัญหาเด็กที่ติดเชื้อกินยายาก ทาง อภ.จะผลิตยาต้านไวรัสประเภท Syrup (น้ำเชื่อม) รสผลไม้ให้แก่เด็กในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ นอกจากนี้ทาง อภ.จะผลิตยาจีพีโอ เวียร์ สูตรค็อกเทลสำหรับเด็ก แต่เรื่องดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองทางคลินิก ส่วนยาทีโนโฟเวียร์นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ตัวยาเพื่อผลิตต่อไป


"ให้สามารถกระจายยาได้ทั่วถึงมากขึ้น"


พล.ท.น.พ.มงคล กล่าวว่า เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงยาต้านไวรัสเอดส์มากขึ้น ทาง อภ.ได้ทำการบริหารจัดการในเรื่องต้นทุนการผลิตภายในองค์การ ส่งผลให้ค่ายอดใช้จ่ายโดยรวมลดลง นอกจากนี้ ทาง อภ.ยังได้ติดต่อกับบริษัทเครือข่ายพันธมิตรที่ผลิตวัตถุดิบที่มีคุณภาพในราคาที่ถูกลง ทำให้ อภ.สามารถปรับลดราคายาต้านไวรัสเอดส์ลงได้ถึง 10% โดยเน้นไปที่ยาที่จำเป็นและเป็นยาพื้นฐานของยากลุ่มนี้ ได้แก่ ยา GPO-VIR S30 ลดเหลือ 1,080 บาท จากเดิม 1,200 บาท ยา GPO-VIR S40 ลดเหลือ 1,180 บาท จากเดิม 1,320 บาท และ ยา Zilavir ลดเหลือ 1,350 บาท จากเดิม 1,500 บาท โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลให้ภาครัฐสามารถกระจายยาไปยังผู้ติดเชื้อได้มากขึ้นในงบประมาณเท่าเดิม

แม้เราจะไม่ลดราคายาต้านไวรัสเอดส์ แต่ อภ.ก็ขายยาต้านไวรัสได้อยู่แล้ว ดังนั้น การลดราคายาจึงไม่เกี่ยวกับที่มียาต้านไวรัสตัวใหม่เข้ามาตีตลาด และขายราคาเพียง 1,200 บาท ซึ่งยาที่เข้ามาเป็นเพียงแค่ทางเลือกหนึ่งเท่านั้น สำหรับโครงการสร้างโรงงานผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ 900 ล้านบาท ขณะนี้ได้ขายแบบไปแล้ว โดยจะมีการประมูลภายใน 30 วัน ซึ่งปลายเดือนพฤศจิกายนจะทำการประมูลด้วยวิธีอีออคชั่น (การประมูลผ่านอินเทอร์เน็ต) พล.ท.น.พ.มงคล กล่าว


"คงต้องนำเข้าจากอินเดีย"


ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ยารักษาโรคเอดส์ในประเทศไทยว่า ก่อนหน้านี้ยารักษาโรคเอดส์เอฟฟาไวเรนซ์ (Efavirenz) ที่เป็นยาที่ใช้สำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่แพ้ยาจีพีโอร์เวียร์ ขาดแคลนและมีราคาแพงมาก ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ต้องใช้วิธีแบ่งปันยากันในกลุ่มผู้ติดเชื้อ โดยต่อมาคณะกรรมการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีมติให้ใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิในการผลิตยาเอฟฟาไวเรนซ์ ซึ่งมีประมาณ 10% ของผู้ใช้ยาทั้งหมด แต่ สปสช.ไม่ได้เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจในการบังคับใช้สิทธิ จึงต้องส่งเรื่องให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการต่อ

นายนิมิตร เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า การบังคับใช้ยาเอฟฟาไวเรนซ์นั้น หากจะพิจารณาจากความสามารถขององค์การเภสัชกรรมในการผลิตยานั้น คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะผลิตเองได้ เนื่องจากต้องทำวิจัยก่อน ดังนั้น ในช่วงนี้คงต้องนำเข้ายาจากอินเดียไปก่อน เพราะมีราคาถูกกว่ายาต้นแบบมาใช้แทนการผลิตเอง

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ไทยกำลังพิจารณาว่าจะใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิหรือไม่ ทางบริษัทผู้ผลิตยาเอฟฟาไวเรนซ์ได้ลดราคายาลงจากเดิมที่ใช้ประมาณ 2,500 บาทต่อคนต่อเดือน เหลือแค่ 2,000 บาทต่อคนต่อเดือน หรือลดราคาประมาณ 17-20% ซึ่งเป็นกลยุทธ์ปกติของบริษัทยาที่จะบีบให้ประเทศที่คิดจะใช้มาตรการนี้เห็นว่าไม่คุ้มหากจะลงทุนเอง แต่เห็นว่าในระยะยาวแล้วไทยควรจะผลิตยาชนิดนี้เอง


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์