ยกเคส “คุยสนุก” จับ “ปู” โหม่งโลก “โสภณ” แนะเคียว CSR นักวิชาชีพ

ยกเคส “คุยสนุก” จับ “ปู” โหม่งโลก “โสภณ” แนะเคียว CSR นักวิชาชีพ

ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA แถลงถึงข่าว ผู้ช่วยนักบินล้อเล่นกับเพื่อนนักบินในไลน์กลุ่ม ว่า "มีเหยื่อ ออน บอร์ด" ซึ่งเป็นที่วิพากวิจารณ์ในสังคมเป็นอย่างมาก ซึ่ง ดร.โสภณ ระบุว่า ถือเป็นความไม่เหมาะสมในการปฏิบัติวิชาชีพ

โดย ดร.โสภณ ได้ยกตัวอย่างถึงทางการเมืองในอดีต ที่แพทย์หรือนักบิน ขู่ไม่ให้บริการกับฝ่ายที่มีความคิดเห็นต่างทางการเมือง เสมือนบ้านเมือง"ไม่มีขื่อ ไม่มีแป" และกลายเป็น "ซ่องโจร" ไปในที่สุดได้

ดร.โสภณ ได้เสนอให้ รัฐบาลมีบทบาทในการควบคุม มรรยาท มาตรฐานวิชาชีพ จรรยาบรรณธุรกิจ ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องกับวงการนักวิชาชีพโดยตรง ทั้งหมดก็เพื่อผู้บริโภคจะได้รับผลประโยชน์สูงสุด

ดร.โสภณ แถลงไว้ดังนี้

นักบินล้อโหม่งโลกฆ่าปู ข้อคิด CSR กับนักวิชาชีพ

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2559 มีข่าวว่า ผู้ช่วยนักบินล้อเล่นกับเพื่อนนักบินด้วยกันเกี่ยวกับการนำเครื่องบินโหม่งโลกเพื่อฆ่าอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ กรณีนี้ถือเป็นข้อคิดสำคัญทางด้าน CSR สำหรับนักวิชาชีพ

ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ซึ่งเป็นผู้บรรยายด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility หรือ CSR) ในระดัปริญญาเอกในสถาบันอุดมศึกษา รวมทั้งในวิสาหกิจต่าง ๆ ตลอดจนเป็นผู้แต่งหนังสือ "CSR ที่แท้" ให้ข้อคิดต่อข่าว "พาที เดือด! กรุ๊ปแชทผู้ช่วยนักบินแซว "ปู" แนะให้ทำ CFIT" (bit.ly/1XQvRTW) โดยเนื้อหาข่าวระบุว่า ผู้ช่วยนักบินของสายการบินแห่งหนึ่งได้โพสต์รูป น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะระหว่างเดินขึ้นเครื่อง จากนั้น มีข้อความต่อว่า "มีเหยื่อ ออน บอร์ด" และต่อมีบุคคลเข้ามาแสดงความเห็นแนะนำให้ทำ CFIT (ศัพท์ทางการบิน ย่อมาจากคำว่า Controlled Flight Into Terrain หมายถึง การที่เครื่องบินพุ่งชนพื้นดินหรือภูเขาด้วยการควบคุมของนักบิน)"

กรณีคือความไม่เหมาะสมในการปฏิบัติวิชาชีพ ถือว่าขาดมาตรฐานและจรรยาบรรณ หรือ Soft Laws ที่ดีพอของนักวิชาชีพ กรณีนี้เคยเกิดขึ้นกับแพทย์โรงพยาบาลจุฬาฯ ที่มีข่าวบอกว่าจะไม่รักษาให้กับตำรวจที่มารักษาที่โรงพยาบาลในกรณีที่ไปปราบปรามผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตร หรือกรณีกัปตันการบินไทยไม่ยอมนำเครื่องขึ้นบินเพราะมี ส.ส.ของพรรคพลังประชาชน ที่นักบินเองเห็นว่า เป็นพรรครัฐบาลที่สลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรในช่วงปี 2551 เป็นต้น

หลายท่านอาจจะงงว่า CSR เกี่ยวอะไรกับนักวิชาชีพ อันที่จริงแก่นแท้ของ CSR ก็คือการที่วิสาหกิจปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด ไม่เอาเปรียบ ไม่ฉ้อฉลต่อทุกฝ่าย ดังนั้น นักวิชาชีพทั้งในรูปบุคคลหรือวิสาหกิจก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด อย่างไรก็ตามการปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด ไม่ได้จำกัดไว้เฉพาะนักวิชาชีพ บุคคล หรือวิสาหกิจทั้งหลายก็ต้องปฏิบัติตามนี้ ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองก็คง "ไม่มีขื่อ ไม่มีแป" และกลายเป็น "ซ่องโจร" ไปในที่สุด และกฎหมายข้างต้นถือเป็นกฎหมายแท้ๆ หรือเรียกว่า Hard Law

แต่ในสังคมนี้ยังมีสิ่งที่เรียกว่า Soft Laws หรือ "กฎหมายอย่างอ่อน" ซึ่งไม่ใช่กฎหมาย Hard Laws ข้างต้น แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับมรรยาท มาตรฐานวิชาชีพ จรรยาบรรณธุรกิจหรืออะไรทำนองนี้ ซึ่ง Soft Law นี้เกี่ยวข้องกับวงการนักวิชาชีพโดยตรง ในวงวิชาชีพต่างๆ มี Soft Laws ซึ่งสังคมทั่วไปก็เคยได้ยินอยู่บ้าง เช่น จรรยาบรรณแพทย์ มรรยาททนาย มาตรฐานบัญชี เป็นต้น ดังนั้น นักวิชาชีพที่มี CSR ก็คือนักวิชาชีพที่มีการปฏิบัติตาม Soft Laws โดยเคร่งครัดจนสร้างความไว้วางใจและความเชื่อถือต่อผู้ใช้บริการและสังคมโดยรวม

Soft Laws กับ Hard Laws สัมพันธ์กันตรงไหน ทั้งสองอย่างมี จุดบรรจบกัน เช่น ในกรณีการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ในการประกอบวิชาชีพ นักวิชาชีพมักต้องมีการศึกษาหาความรู้ต่อเนื่อง โดยกำหนดไว้ว่าควรเป็นเวลากี่ชั่วโมงต่อปี จึงจะสามารถต่ออายุสมาชิกได้ นักวิชาชีพใดที่ไม่ได้ใส่ใจศึกษาก็จะไม่ได้รับการต่ออายุสมาชิกเป็นต้น เหตุผลที่วิชาชีพต่างๆ กำหนดให้นักวิชาชีพทำการศึกษาต่อเนื่องก็คือการพัฒนาความรู้ความสามารถ เพื่อที่จะสามารถให้บริการลูกค้าได้ดียิ่งๆ ขึ้น ไม่ใช่ว่าพอจบสาขาวิชาที่เรียนมาในระดับปริญญาตรีเพียง 4 ปี แต่ไม่เคยทำการศึกษาต่อเนื่องเลย แล้วก็ให้บริการไปเรื่อยๆ โดยไม่พัฒนาองค์ความรู้

ทำไมจึงมีการบังคับใช้หลักนิติรัฐโดยห้ามละเมิด หรือมีการวางและบังคับใช้ Soft Law โดยเคร่งครัด เหตุผลก็คือเพื่อผู้บริโภคนั่นเอง เพราะในทางกฎหมายก็ถือว่า อำนาจเป็นของปวงชน ในทางรัฐศาสตร์ก็ถือว่า ประชาชนคือเจ้าของประเทศ หรือแม้แต่ในทางการตลาดก็ถือว่า ‘ลูกค้าคือพระเจ้า' ดังนั้นนักวิชาชีพจึงต้องให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นอันดับแรก

ประชาชนนี้ไม่ใช่สิ่งลอยๆ แต่หมายถึงผู้บริโภค ลูกค้าของเรานั่นเอง หากประชาชนวางใจใช้บริการ ก็ย่อมถือเป็นมงคลต่อวิสาหกิจ การถือประชาชนเป็นที่ตั้งจึงเป็นหนทางเดียวที่จะพัฒนาธุรกิจหรือวิชาชีพให้ดีขึ้น เราจึงต้องเริ่มต้นที่ประชาชนก่อน ไม่ใช่ที่ประโยชน์ของนักวิชาชีพ

การควบคุมทางวิชาชีพ ได้แก่:

1. การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ หลายท่านคงจำภาพยนตร์เรื่อง "องค์บาก" ได้ ในภาพยนตร์ดังกล่าว มีเรื่องใบอนุญาตเล่นดนตรี ซึ่งตามท้องเรื่องดูน่าขัน แต่ในความเป็นจริงนับเป็นความน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง หากมีการออกใบอนุญาตในวิชาชีพต่างๆ ตั้งแต่สมัยนั้น วิชาชีพต่างๆ ก็จะมีการพัฒนา โดยทั่วไปในแต่ละวิชาชีพก็จะมีการจัดระดับ นักวิชาชีพก็จะพยายามเพิ่มพูนความรู้เพื่อการยกระดับตนเองอยู่เสมอ

2. การควบคุมการปฏิบัติงานตามวิชาชีพ เพื่อให้นักวิชาชีพปฏิบัติงานโดยยึดถือมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพโดยเคร่งครัด หาไม่จะถูกลงโทษในสถานต่าง ๆ ตั้งแต่การตักเตือนจนถึงการยึดใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ หมดทางทำมาหากินในวิชาชีพอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม การจัดการศึกษาไม่ใช่หน้าที่ขององค์กรควบคุมวิชาชีพ เพราะถือเป็นธุรกิจอย่างหนึ่งที่มีผู้ให้บริการ เช่น สถาบันการศึกษา หากองค์กรวิชาชีพจัดการศึกษาเสียเอง ก็เท่ากับผู้บริหารองค์กรทำธุรกิจกับการจัดการศึกษา ทำให้ขาดความเป็นกลางในการควบคุมทางวิชาชีพไป

ในการควบคุมวิชาชีพต่างๆ รัฐบาลต้องออกหน้ามาควบคุม โดยเสนอกฎหมายให้มีพระราชบัญญัติวิชาชีพต่างๆ และจัดตั้งสภาวิชาชีพตามกฎหมาย เช่น แพทยสภา สภาวิศวกร สภาสถาปนิก สภาวิชาชีพบัญชี เป็นต้น ในแต่ละวงการเช่น แพทย์ อาจมีแพทยสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ หรืออื่นๆ แต่เพื่อการควบคุมวิชาชีพที่เป็นกลาง จึงต้องตั้งสภาวิชาชีพ

สมาคมวิชาชีพ ไม่สามารถเป็นผู้ควบคุมนักวิชาชีพได้ เพราะสมาคมประกอบด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ถ้าปล่อยให้กรรมการสมาคมซึ่งเป็นบริษัทคู่แข่งหนึ่ง มาคอยตัดสินหรือควบคุมบริษัทคู่แข่งอื่น ก็ย่อมไม่เกิดความเป็นธรรม สมาคมวิชาชีพอาจทำหน้าที่ปกป้องผู้ประกอบวิชาชีพ จัดงานสังสรรค์ หรืออื่น ๆ แต่ไม่ได้ทำหน้าที่ควบคุมวิชาชีพ

สภาวิชาชีพจะประกอบด้วยผู้แทนจากรัฐบาลซึ่งถือเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของประชาชน นอกจากนี้ ยังมีผู้แทนนักวิชาชีพ ผู้แทนผู้ใช้บริการ ผู้แทนหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

การควบคุมวิชาชีพจึงเป็นเครื่องแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ของนักวิชาชีพโดยแท้ ในสังคมไทย ยังมีนักวิชาชีพอีกมากที่รัฐบาลยังไม่ได้ควบคุม โดยเฉพาะนักวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประชาชน และอาจสร้างความเสียหายได้ในวงกว้าง เช่น ตัวแทนนายหน้า ผู้บริหารทรัพย์สิน ผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน เป็นต้น

ประเทศที่ขาดการควบคุมทางวิชาชีพ ย่อมเป็นการเปิดช่องให้เกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบต่างๆ ตามมาอีกมากมาย ทำให้ปัญหาการฉ้อโกงทั้งในสังคมและการฉ้อโกงชาติเกิดขึ้นอย่างดกดื่น การควบคุมและพัฒนานักวิชาชีพย่อมทำให้นักวิชาชีพมีความเป็นอิสระ ไม่ถูกครอบงำโดยมิชอบ และจะเป็นการช่วยสังคมตรวจสอบความถูกต้องต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

รัฐจึงควรควบคุมแลพัฒนาวิชาชีพให้รับใช้สังคมได้อย่างแท้จริง


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์