ม็อบหนี้อีสานเดินเท้าถึงสีคิ้ว-เตรียมระดมพลใหญ่ริมเขื่อนลำตะคอง

"ชุมนุมเดินขบวนมา กทม."


ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- กลุ่มเกษตรกรสภาเครือข่ายประชาชนอีสานเดินเท้าเข้ากรุงเทพฯ เพื่อชุมนุมหน้าทำเนียบฯ เรียกร้องรัฐแก้ปัญหาหนี้สินถึง อ.สีคิ้ว โคราชแล้ว พร้อมปักหลักค้างคืนเป็นวันที่ 3 ก่อนเดินทางไปตามถ.มิตรภาพ มุ่งหน้าเข้ากรุงต่อไป และกำหนดหยุดพักแรมพรุ่งนี้ ( 10 ม.ค.) ที่บริเวณอ่างเก็บน้ำลำตะคอง พร้อมระดมพลครั้งใหญ่กว่า 5,000 คน ต่อรองเจรจารัฐบาล ก่อนยกทัพบุกกรุงยึดหน้าทำเนียบ 19 ม.ค.

ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการเดินเท้าเข้ากรุงเทพฯ ของกลุ่มเกษตรกรสภาเครือข่ายประชาชนอีสาน (ส.อ.ส.) ประมาณ 300 คน นำโดยนายประพาส โงกสูงเนิน ประธานสภาเครือข่ายประชาชนอีสาน ซึ่งเริ่มเดินทางออกจากลานหน้าอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) เมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อไปชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรกว่า 2 แสนล้านบาท โดยมีกำหนดเดินทางถึงกรุงเทพฯ ร่วมสมทบกับเกษตรกรเครือข่าย 4 ภาค จากภาคกลาง, ภาคตะวันออก และ ภาคใต้ที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 19 ม.ค.นั้น

ล่าสุด วันนี้ ( 9 ม.ค.) กลุ่มเกษตรกรดังกล่าวได้ออกเดินเท้าไปตามถนนมิตรภาพมุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ ถึง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา แล้ว หลังจากเมื่อคืนที่ผ่านมา ได้แวะพักค้างแรมบริเวณบ้านมะเกลือใหม่ ริมถนนมิตรภาพ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ท่ามกลางอากาศหนาวและลมแรง โดยคืนนี้ ขบวนของสภาเครือข่ายประชาชนอีสานกว่า 300 คน ได้หยุดพักผ่อนและนอนค้างคืนอยู่ที่บริเวณเทศบาลตำบลลาดบัวขาว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ก่อนที่จะออกเดินทางต่อในวันพรุ่งนี้ ( 10 ม.ค.) ซึ่งมีกำหนดหยุดพักค้างคืนที่ศูนย์บริการทางหลวงลำตะคอง ริมอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ถ.มิตรภาพ หลักกิโลเมตรที่ 193-194 อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา

"ให้เร่งช่วยชาวบ้านแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร"


ทั้งนี้มีกำหนดเดินทางถึงกรุงเทพฯ และ เข้าชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ร่วมกับเกษตรกรเครือข่าย 4 ภาคในวันที่ 19 ม.ค. เพื่อขอพบ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้ช่วยเหลือแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร และฟื้นฟูชีวิตเกษตรกรอย่างครบวงจรและเป็นรูปธรรม ทั้งที่เป็นหนี้สินในระบบกับสถานการเงินของรัฐ-เอกชน และหนี้นอกระบบ โดยเฉพาะหนี้สินที่เกิดจากความล้มเหลวในโครงการหรือนโยบายของรัฐ รวมถึงเกิดจากภัยธรรมชาติต่างๆ

นาง สำรวย ตรวจนอก อายุ 60 ปี อยู่บ้านเลขที่ 238 หมู่ 6 บ้านโนนสูง ต.สีสุก อ.แก้งสนามนาง จ.นครราชสีมา เปิดเผย ว่า ขณะนี้ตนมีหนี้สินกว่า 450,000 บาท หลังจากกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาลงทุนปลูกพืชไร่ และทำนาข้าว จำนวน 150,000 บาท ,เป็นหนี้เงินกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง หรือ กองทุนเงินล้าน 15,000 บาท และเป็นหนี้นอกระบบอีก 100,000 บาท

ทั้งนี้ เนื่องจากกู้เงินส่งลูกชายและลูกเขย ไปทำงานต่างประเทศ แต่กับถูกนายหน้าหลอกลวง ไปทำงานต่างประเทศได้เพียง 5 วันถูกส่งกลับมานายหน้าก็หนีหาย ไม่ยอมชดใช้เงินคืน ลูกชายและลูกเขยก็หนีเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ 3 ปีแล้วไม่ยอมติดต่อกลับทางบ้านปล่อยให้ตน ต้องใช้หนี้ใช้สินทั้งหมดแทน

"ชาวบ้านสิ้นเนื้อประดาตัวไม่รู้จะทำยังไง"


ปัจจุบันตนต้องวิ่งไปหารับจ้างทำงานก่อสร้างได้วันละ 150 บาทเพื่อหาเงินไปตัดดอกเบี้ย แต่ละปีเป็นเงินกว่า 40,000 บาทต่อปี พร้อมกับได้ลงทุนเลี้ยงวัว 2 ตัว ลงทุนทำไร่อ้อย 10 ไร่ ทำนา 10 ไร่ เพื่อเอาข้าวไว้กิน แต่ก็ได้รับผลกระทบ ฝนแล้ง น้ำท่วม เสียหายจนสิ้นเนื้อประดาตัวหมดแล้ว ลูกทั้ง 5 คนก็ไม่ยอมกลับมาดูแล ปล่อยให้ พ่อกับแม่หากินกันเอง และต้องแบกภาระหนี้สินทั้งหมดไว้ด้วย จึงอยากจะไปขอความช่วยเหลือจากนายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยปลดหนี้สินให้เกษตรกรด้วย

นายประพาส โงกสูงเนิน ประธานสภาเครือข่ายประชาชนอีสาน กล่าวว่า ในเช้าวันพรุ่งนี้ ( 10 ม.ค.) จะเดินทางต่อไป โดยกำหนดพักค้างคืน ที่บริเวณอ่างเก็บน้ำละคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา โดยจนถึงขณะนี้ทางสภาเครือข่ายฯ ยังยืนหยัดจุดยืนเดิมคือเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกร อย่างเป็นรูปธรรม และมีเป้าหมายชุมนุมใหญ่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลร่วมกับเกษตรกรเครือข่ายภาคต่างๆ ในวันที่ 19 ม.ค.นี้

ส่วน นายวีรพล โสภา ประธานที่ปรึกษา สภาเครือข่ายประชาชนอีสานกล่าวว่า การรวมตัวเพื่อพักค้างแรมที่บริเวณ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมาในวันที่ 10 ม.ค. นี้ ทางสภาเครือข่ายฯ มีเป้าหมายจะระดมเกษตรกรในภาคอีสานให้ได้มากถึงกว่า 5,000 คน พร้อมกับจะมีพี่น้องทางภาคอื่นๆ เดินทางมาสมทบอีก ซึ่งหากเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ สภาเครือข่ายฯ อาจจะปักหลักเพื่อเปิดการเจรจากับรัฐบาลอยู่ที่บริเวณอ่างเก็บน้ำลำตะคอง

"หากตกลงได้อาจไม่ต้องเข้าถึง กทม."


หากสามารถเจราจรตกลงกับทางรัฐบาลได้อาจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางไกลเข้าถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 19 ม.ค. นี้แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะมีความจริงใจในการแก้ปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกรมากน้อยแค่ไหน นายวีรพล กล่าว

ทางด้าน นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นักวิชาการอิสระมหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา กล่าวว่า ถึงเวลาที่รัฐบาลและ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) จะต้องเร่งเข้ามาเยียวยาแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกรอย่างเร่งด่วน เนื่องจากเป็นปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรอย่างหนักหนาสาหัส อยู่ในขณะนี้ ก่อนที่เกษตรกรจะถูกยึดทรัพย์สินที่ดินไปจนไม่เหลืออะไร โดยเฉพาะหน้านี้รัฐบาลต้องใช้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรกร (ธ.ก.ส.) เข้ามาเป็นกลไกในการแก้ปัญหา ในฐานะที่เป็นสถาบันการเงินของรัฐและเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของเกษตรกร

ส่วนในระยะยาวรัฐบาลต้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ให้มีศักยภาพในการแก้ปัญหาหนี้สินและเป็นกลไกหลักในการฟื้นฟูชีวิตให้แก่เกษตรกรได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องให้เป็นกองทุนที่สามารถระดมทุนเช่นการออกพันธบัตร เพื่อนำเงินมาดำเนินการแก้ปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกรได้อย่างครบวงจรและยั่งยืน หลังจากที่เกษตรกรผู้ยากไร้ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้รับการเหลียวแลมาตลอดทุกยุคทุกสมัย เพราะทุกรัฐบาลที่ผ่านมา จะให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้สินของสถาบันการเงินและคนรวย เท่านั้น

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์