มหาชนปีติยินดีจากประสูติกาลพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

มหาชนปีติยินดีจากประสูติกาลพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

เสียงชโยโห่ร้องอยู่สนั่นหวั่นไหว สมใจประชาชนแล้ว เราอยากได้พระราชโอรส เราอยากได้สยามมกุฎราชกุมาร เราก็ได้ดั่งใจนึก พระราชาในระบอบประชาธิปไตย พระราชาของประชาชน สิ่งใดที่ประชาชนต้องการก็เป็นไปตามมติของมหาชน แม้แต่การประสูติของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ก็ต้องเป็นไปตามมติของประชาชน ดวงใจทุกๆดวง มีความสุข ดวงใจทุกๆดวง พร้อมกันตั้งจิตอธิษฐานขอให้ทุกๆพระองค์ทรงพระเจริญ ขอให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์น้อยจงทรงพระเกษมสำราญ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยอมรับประเพณีสากลที่เรียกว่า รัชทายาทว่า คราวน์ปรินซ์ ในภาษาอังกฤษ เป็นมกุฎราชกุมาร พระองค์ที่ 1 คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี แต่ได้สวรรคตเสียก่อนจะทรงสืบราชสมบัติ

พระองค์ที่ 2 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์เดียวกัน แต่ต่างสมเด็จพระราชชนนี คือ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เป็นสมเด็จพระราชโอรสพระองค์รองมา ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร นับเป็นพระองค์ ที่ 3 ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันติวงศ์ กรุงรัตนโกสินทร์

ในศุภวาระมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ตามโบราณขัตติยราชประเพณี ในวันที่ 28 ธันวาคม 2515 นั้น สโมสรไลออนส์ดุสิต กรุงเทพ ได้จัดพิมพ์หนังสือรวมพระฉายาลักษณ์ ตามพระราชอิริยาบถต่างๆ ไว้ เพื่อเผยแพร่เป็นการเฉลิมพระเกียรติ

 "พระประสูติกาลเจ้าฟ้าชาย" 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีเสด็จนิวัตพระนคร หลังจากเสด็จฯ ไปทรงรักษาพระองค์ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม พุทธศักราช 2494 พระเจ้าวร วงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิ์พินิต (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฎพงศ์บริพัตร) ได้กราบบังคมทูลรับเสด็จแทนพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลาย ในคำกราบบังคมทูลนั้นมีข้อความเป็นทำนองบอกใบ้ให้ทราบว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีได้ทรงพระครรภ์อีกคำรบหนึ่งแล้ว ภายหลังที่ได้ประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา เมื่อ 5 เมษายน พ.ศ. 2494

พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิ์พินิต กราบบังคมทูลตอนหนึ่งว่า "การเสด็จฯกลับครั้งนี้ คงจะทรงให้ความหวังแก่ประชาชนว่า จะทรงมีพระราชโอรสเพื่อเป็นมิ่งขวัญแก่ประชาชนโดยทั่วหน้ากัน"

ประชาชนในขณะนั้นมีความรู้สึกว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีต้องทรงพระครรภ์อย่างแน่นอนแล้ว พระฉวีอันผุดผาด พระสิริลักษณ์อันจำเริญตาแก่ผู้ที่ได้เฝ้าชมพระบารมี เป็นเครื่องยืนยันว่า คำกราบบังคมทูลของผู้แทนพระบรมวงศานุวงศ์ในครั้งนั้นเป็นสิ่งแน่แท้แล้ว แม้พระอุทรของสมเด็จพระบรมราชินีจะยังไม่มีใครแลเห็น และยังไม่มีการประกาศเป็นทางการ ต่างก็เฝ้าบลบานศาลกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้พิทักษ์สมเด็จฯ และจะขอบันดาลให้ทูลกระหม่อมในพระครรภ์ทรงเป็นพระราชกุมารเพื่อทรงสืบราชสันตติวงศ์ต่อไป

ประกาศยืนยันของทางราชการว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีทรงพระครรภ์ จะทรงมีพระประสูติกาลประมาณปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2495 และการได้เห็นสมเด็จพระบรมราชินีทรงฉลองพระองค์คลุมพระอุทรเสด็จพระราชดำเนินกลับจากแปรพระราชฐาน ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ในฤดูร้อน ก่อให้เกิดความตื่นเต้นแก่ประชาชนยิ่งขึ้น ต่างนับวันคืนรอคอยวันที่แพทย์กำหนดว่าเป็นวันจะทรงมีพระประสูติกาล

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ได้เสด็จกลับจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้มีการเตรียมแพทย์และพยาบาลสำหรับการนี้ คือนายแพทย์หม่อมหลวงเกษตร สนิทวงศ์ แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นพี่ของหม่อมหลวงบัว กิติยากร สำหรับพยาบาลก็มาจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เช่นเดียวกัน ล้วนเป็นหัวหน้าพยาบาล มีสามคน คือ นางสาวถวิลหวัง ทุติยโพธิ์ นางสาวอาบ สุคันธนาคและนางสาวประเทือง เกาไศยนันท์

ตามโบราณราชประเพณี การที่สมเด็จพระอัครมเหสีจะทรงมีพระประสูติกาลพระรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์จำเป็นต้องมีราชสักขีหรือพยาน เพื่อยืนยันว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเป็นพระราชกุมารหรือกุมารีจริงๆ ในการประสูติกาลครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้เป็นตามโบราณราชประเพณีทุกประการ ทรงตั้งราชสักขีประกอบด้วยพระวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ประธานองคมนตรี เป็นประธาน จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี พลเอกพระประจนปัจจนึกประธานสภาผู้แทนราษฎร พลตรีบัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา รัฐมนตรีมหาดไทย พระยาบริรักษ์เวชการ รัฐมนตรีสาธารณสุข และหม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ เลขาธิการสำนักพระราชวัง

หน้าที่ของราชสักขีนั้น เมื่อเริ่มประชวรพระครรภ์ ให้เข้าไปตรวจในห้อง ซึ่งจะทรงมีพระประสูติกาลเสียก่อนว่า ไม่มีกุมารหรือกุมารีใดอยู่ในห้องนั้น แล้วออกมาอยู่ ณ ห้องใกล้ เมื่อมีพระประสูติกาล แพทย์จะดูเวลาแล้วเขียนรายงาน และเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังทำเอกสารรับรู้ของผู้เป็นราชสักขีไว้เป็นหลักฐาน เอกสารหลักฐานนี้เก็บไว้ที่สำนักพะราชวัง 1 ฉบับ ที่สภาผู้แทนราษฎร 1 ฉบับ และที่กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 1 ฉบับ 

นอกจากเอกสารหลักฐานรับรู้ของผู้เป็นราชสักขี เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังได้จัดเตรียมทำบัตรขนาดกว้างประมาณ 2 นิ้ว และยาวประมาณ 2 นิ้ว ครึ่งไว้สองแผ่น สีแตกต่างกัน คือสีฟ้ากับสีชมพูบัตรสีฟ้าหมายถึงประสูติเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอมีอักษรตัวพิมพ์ใหญ่ว่า "พระราชโอรส" อยู่ใต้พระมหามงกุฎ บัตรสีชมพูหมายถึงประสูติเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิง มีคำ "พระราชธิดา" บัตรนี้สำหรับเชิญมาแสดงแก่ชุมนุมพระบรมวงศานุวงศ์และราชสักขีหลังที่ทรงมีพระประสูติกาลแล้ว

สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยได้ประกาศว่าจะทำการถ่ายทอดข่าวการพระประสูติกาลอย่างละเอียด ทหารบกและทหารเรือเตรียมปืนใหญ่ไว้พร้อมที่จะยิงสลุตจำนวน 21 นัด หากเป็นพระราชโอรส ทหารบกเตรียมตั้งปืนไว้ที่สนามเสือป่า บริเวณเขาดินวนา สำหรับทหารเรือจอดรออยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนหน้าพระบรมมหาราชวัง ส่วนชาวประโคมก็เตรียมพร้อมที่จะบรรเลงได้ทุกเวลา ในกรณีเป็นพระราชธิดา

เช้าวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 อากาศฟ้าครึ้มฝน ดอกรวงผึ้งสีเหลืองอร่ามประดุจสีทองซึ่งปลูกไว้ติดกับห้องพระบรรทมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและห้องพระประสูติกาลออกดอกสพรั่ง ส่งกลิ่นหอมตระหลบ ประมาณ 9 นาฬิกาเศษ มีข่าวแพร่สพัดไปทั่วกรุงเทพพระมหานครว่า สมเด็จพระเจ้าฯ พระบรมราชินีประชวรพระครรภ์ พระที่นั่งอัมพรสถานซึ่งเป็นที่ประทับ เริ่มมีการเคลื่อนไหว พอตกสายเข้าก็มีผู้คนเข้าออกกันมากขึ้น หนังสือพิมพ์ซึ่งออกจำหน่ายในตอนบ่ายพาดหัวข่าวด้วยตัวไม้ วิทยุกระจายเสียงกรมประชาสัมพันธ์เริ่มถ่ายทอดข่าวสลับกับดนตรีเป็นระยะๆ

สมเด็จพระบรมราชชนนีและสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เสด็จไปถึงพระที่นั่งอัมพรสถานก่อนเที่ยงเล็กน้อย เสด็จไปถึงพระที่นั่งอัมพรสถานก่อนเที่ยงเล็กน้อย ราชสักขีที่ทรงแต่งตั้งไว้ก็ไปประชุมพร้อมกัน มีข่าวลือออกมาข้างนอกว่า สมเด็จพระบรมราชินีทรงมีพระประสูติกาลพระราชโอรสแล้ว ที่ลือเช่นนั้นก็เพราะประชาชนชาวไทยมุ่งหมายจะให้ทรงมีพระราชโอรส องค์มกุฎราชกุมารซึ่งพวกเขาเฝ้ารอคอยมาช้านานหนักหนาแล้ว

พอถึงเวลา 16.30 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาเลิกงานของสถานที่ราชการและสำนักงานเอกชนบางแห่ง ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าและสนามเสือป่าก็เต็มไปด้ายประชาชนที่ไปรอคอยฟังข่าวพระประสูติกาลระหว่างรอคอยนั้น ต่างก็ตั้งจิตอธิษฐานต่อพระเสื้อเมืองพระทรงเมือง และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายให้อภิบาลรักษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จลูกเธอที่จะประสูติให้ทรงพระเกษมสำราญ ที่ไม่ได้ไปที่ลานพระบรมรูปทรงม้าและสนามเสือป่า ก็รีบกลับไปนั่งเฝ้าวิทยุกระจายเสียงที่บ้าน รอฟังข่าวอยู่ด้วยใจระทึก บางพวกก็ไปชุมนุมอยู่ในร้านกาแฟ ไม่มีข่าวอื่นใดที่จะทำความตื่นเต้นให้แก่ประชาชนชาวไทยเท่ากับข่าวพระประสูติกาลในวันนั้น ดวงใจทุกๆดวง ต่างมุ่งอยู่ที่จุดประสงค์เดียวกัน คืออยากให้ประสูติเป็นพระราชโอรส ซึ่งจะทรงดำรงตำแหน่งสยามมงกุฎราชกุมารสืบไป

ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ในบริเวณอันใกล้ชิด ทรงสนพระราชหฤทัยยิ่งกว่าผู้อื่นใดทั้งสิ้น ทรงเตรียมเครื่องอัดแผ่นเสียงและถ่ายรูปสำหรับการนี้ไว้อย่างพร้อมข้อมูล นายแพทย์ได้ตรวจดูพระอาการและเฝ้าถวายรายงานทุกระยะ ดวงใจทุกๆ ดวง ต่างก็มุ่งอยู่ที่ความประสงค์เดียวกัน คืออยากให้ประสูติเป็นพระราชโอรส ทุกคนมีธุระ ทุกคนอยากจะทำอะไรที่เกี่ยวข้องพระประสูติกาลครั้งนี้ด้วย

ดวงใจทุกดวงหวั่นไหว เพราะไม่ทราบแน่ว่าจะเป็นพระราชกุมารหรือพระราชกุมารี ถ้าเป็นพระราชกุมารีจะเป็นอย่างไร ใจทุกๆ ดวงเฝ้าคิดสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีเล่าจะทรงรู้สึกเป็นอย่างไร

ตกบ่ายมากเข้า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีทรงพระประชวรถี่ขึ้นๆเป็นระยะๆทุกๆ 5 นาที ในพระที่นั่งพวกข้าหลวงมหาดเล็กวิ่งกันอยู่อย่างสับสน ดูพอประทับยังพระที่ นายแพทย์ผู้ถวายการพระประสูติก็เข้าประจำที่ สักครู่ก็ประสูติพระราชกุมารเวลา 17 นาฬิกา 45 นาที ในนาทีเดียวกันนั้น ฝนที่แล้งมาตลอดฤดูก็โปรยละอองลงมา ดูคล้ายๆฟ้าก็รู้เห็นเป็นใจกับการประสูติครั้งนี้

อารามดีใจสมประสงค์ของดวงใจทุกๆดวง นายแพทย์ที่ถวายการประสูติ ซึ่งพร้อมที่จะบอกกล่าวแก่ที่ประชุม ณ พระที่นั่งอัมพรสถานว่า "พระราชโอรส" หรือ "พระราชธิดา" กล่าวออกมาด้วยเสียงอันตื่นเต้นกังวาลว่า "ผู้ชาย" แทนที่จะว่า "พระราชโอรส" ฝนโปรยอยู่ตลอดเวลา แตรสังข์ดุริยางค์เริ่มประโคม ทหารบกบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ปืนใหญ่ทั้งบกและเรือยิงสลุด 21 นัด สะเทือนเลื่อนลั่น เสียงชโยโห่ร้องอยู่สนั่นหวั่นไหว สมใจประชาชนแล้ว เราอยากได้พระราชโอรส เราอยากได้สยามมกุฎราชกุมาร เราก็ได้ดั่งใจนึก พระราชาในระบอบประชาธิปไตย พระราชาของประชาชน สิ่งใดที่ประชาชนต้องการก็เป็นไปตามมติของมหาชน แม้แต่การประสูติของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ก็ต้องเป็นไปตามมติของประชาชน ดวงใจทุกๆดวง มีความสุข ดวงใจทุกๆดวง พร้อมกันตั้งจิตอธิษฐานขอให้ทุกๆพระองค์ทรงพระเจริญ ขอให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์น้อยจงทรงพระเกษมสำราญ

ข่าวการประสูติ ได้แพร่ไปทั่วประเทศและทั่วโลก ความปลื้มปีติมีอยู่ทั่ว แม้โฆษกวิทยุกระจายเสียงของรัฐบาลก็ยินดีจนประกาศออกมาอย่างละล่ำละลักว่า วันประสูตินั้นเป็น "วันที่ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2491 "
แทนที่จะเป็น 2495

ตามกำหนดการยิงปืนของสากลนั้น เมื่อพ้นเวลา 18 นาฬิกาแล้ว จะไม่มีการยิงปืนสลุต คนสำคัญคนใดที่มีกำหนดภายหลัง 6 โมงเย็นแล้ว จะต้องไปยิงสลุตให้ในวาระรุ่งขึ้น ความจริงในวันนั้น พวกเราคอยๆ อยู่จนจะหมดเวลาอยู่แล้วต่างคนก็ท้อใจ แต่แล้วพออีก 15 นาที จะถึง 6 โมง ก็ประสูติ จึงเป็นการประสูติที่เหมาะสมแก่เวลายิ่งนัก

เมื่อตกแต่งพระองค์พระราชกุมารเรียบร้อยแล้ว แพทย์ได้อัญเชิญมาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานน้ำพระมหาสังข์แก่พระราชโอรสตามราชประเพณี จากนั้นอีกประมาณ 1 ชั่วโมง แพทย์ได้เชิญมาให้ราชสักขีดู พระราชกุมารทรงมีพระฉวีขาวสะอาด พระอนามัยสมบูรณ์ พระนาสิกโด่ง น้ำหนักพระองค์ 6 ปอนด์ ครั้นแล้วราชสักขีได้ทรงลงพระนามและลงนามในเอกสารรับรู้ของราชสักขี ซึ่งมีข้อความดังนี้

28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495

ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 เวลา 17.45 นาฬิกา สมเด็จเจ้าฟ้าราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชสยามมินทราธิราช ได้ประสูติแก่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินี


มหาชนปีติยินดีจากประสูติกาลพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10


มหาชนปีติยินดีจากประสูติกาลพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10


มหาชนปีติยินดีจากประสูติกาลพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10


cr.isranews

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์