มทส.โคลนนิ่งแพะจากเซลล์ใบหูได้ตัวแรกของโลก

มทส.โคลนนิ่งแพะจากเซลล์ใบหูได้ตัวแรกของโลก

7 กรกฎาคม 2550 18:29 น.

ทีมงานวิจัยโคลนนิ่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โคลนนิ่งแพะโดยใช้เซลล์ใบหูสำเร็จเป็นรายแรกของโลก ตั้งเป้าผลิตแพะโคลนนิ่งให้ได้ 20 ตัวภายในสิ้นปีนี้ และเตรียมต่อยอดโคลนนิ่งเลียงผา สัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์

ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ต้นกำเนิด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) อ.เมือง จ.นครราชสีมา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีการค้นคว้าและทำโคลนนิ่งมาหลายครั้ง และการโคลนนิ่งแพะที่ประสบผลสำเร็จครั้งแรกในโลกครั้งนี้มีขั้นตอนและวิธีการโคลนนิ่งคล้ายกับการโคลนนิ่งโค แต่มีเทคนิคปลีกย่อยที่แตกต่างกัน ซึ่งทีมวิจัย มทส.ได้ใช้เวลาในการวิจัย 1 ปี 3 เดือนในการค้นคว้าวิจัยการโคลนนิ่งแพะจากเซลล์ใบหูได้สำเร็จ และถือเป็นรายแรกของโลก


ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้ทำการเก็บเซลล์ใบหูแพะเพศผู้พันธุ์บอร์ ซึ่งเป็นแพะเนื้อพันธุ์แท้ มาเพาะเลี้ยงทำธนาคารเซลล์ โดยเก็บเซลล์ที่ได้แช่แข็งไว้ใช้เป็นเซลล์ต้นแบบเพื่อทำโคลนนิ่งต่อไป จากนั้นกระตุ้นฮอร์โมนให้แพะเพศเมียตกไข่คราวละมากๆ แล้วทำการผ่าตัดเก็บไข่จากท่อนำไข่ ซึ่งเป็นไข่ในระยะที่สุกแล้วมาทำการดูดนิวเคลียสออก แล้วนำเซลล์ต้นแบบมาใส่และเชื่อมด้วยกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ ได้เป็นตัวอ่อน นำไปเลี้ยงไว้ในห้องทดลองเป็นเวลา 1 วัน นำตัวอ่อนระยะที่ 2-4 เซลล์ที่ได้จากการโคลนนิ่งจำนวน 6-8 ตัวอ่อน ย้ายฝากเข้าไปในท่อนำไข่ของแพะเพศเมียรับอุ้มท้องและอยู่ในระยะเป็นสัด โดยใช้วิธีการผ่าตัดย้ายฝาก


ทีมวิจัยได้ย้ายฝากให้แพะตัวรับจำนวน 15 ตัวเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2549 ผลปรากฏว่ามีแพะตั้งท้อง 2 ตัว ซึ่งทีมสัตวแพทย์และนักวิจัยได้ทำการผ่าตัดและทำคลอดแพะเพศเมียตัวแรกเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2550 ได้กำเนิดแพะโคลนนิ่งเพศผู้ น้ำหนักตัวแรกเกิด 2 กิโลกรัม มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และตั้งชื่อว่า "น้องกาย" โดยถือเป็นลูกแพะโคลนนิ่งที่เกิดจากเซลล์ใบหูตัวแรกของโลก ส่วนแพะเพศเมียอีกตัวที่ตั้งท้องทีมวิจัยได้ผ่าตัดทำคลอดเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2550 เป็นลูกแพะโคลนนิ่งเพศผู้ แต่สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง และตายลงเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

ดร.รังสรรค์ กล่าวว่า สาเหตุที่ทีมวิจัยทำโคลนนิ่งแพะจากเซลล์ใบหูเนื่องจากทีมวิจัยมีความเชี่ยวชาญจากการโคลนนิ่งโคจากเซลล์ใบหูจึงนำการวิจัยนั้นมาใช้กับการโคลนนิ่งแพะ และเซลล์ใบหูสามารถเก็บได้ไม่ยาก เพียงแค่จับแพะมาแล้วใช้คีมในการเจาะหูโดยใช้เวลาเพียงแค่ 2 นาทีเท่านั้นก็สามารถเก็บเซลล์ใบหูได้แล้ว ซึ่งหากต้องการจะเก็บเซลล์จากส่วนอื่นๆ ของแพะก็ทำได้แต่หากแพะดิ้นขณะกำลังเก็บเซลล์อาจจะทำให้แพะบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ แต่ใบหูเป็นส่วนที่มีเลือดมาเลี้ยงน้อยทำให้ไม่เป็นอันตรายต่อแพะมากนัก

"ทีมวิจัยตั้งเป้าผลิตแพะโคลนนิ่งจากเซลล์ใบหูทั้งเพศผู้และเพศเมียให้ได้ 20 ตัว ภายในสิ้นปี 2550 เพื่อเพิ่มแพะพันธุ์ และอนุรักษ์พันธุกรรมแพะดีๆ ไว้ใช้โคลนนิ่งเพื่อนำไปผสมพันธุ์ต่อไป นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังเตรียมต่อยอดเทคโนโลยีไปใช้ในการโคลนนิ่งเลียงผา ซึ่งปัจจุบันถูกมนุษย์ล่าเพราะเชื่อว่ามีสรรพคุณทางยาและเป็นสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ คาดว่าภายในปี 2550 นี้ น่าจะเริ่มทำการโคลนนิ่งได้อย่างแน่นอน" ดร.รังสรรค์ กล่าว


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์