ภาษาไทยวิบัติแล้วชิมิ?

"มา จุ๊บุ๊ๆ มิรุๆ อิ๊ๆ อุๆ เหอๆ เซงแว้ๆ จังเลยๆ มา จุ๊บุ๊ๆ มิรุๆ อิ๊ๆ อุๆ เหอๆ จัดได้นะแสดภาษาใคร คิดมาจากไหนเหมือนว่าไม่มีความหมายที่แท้มันแค่เพียงคำใหม่ เพื่อสื่อสารเหมือนที่เมื่อวานเราเขียนผ่านจดหมายมันแค่เพียงภาษาก็เท่านั้นเอง" ท่อนฮุคของเพลง อุคริ จุ๊บุ๊ หุหุ จากอัลบั้มบุ้ง ของเสลอ ดังแว่วเข้ามาประกอบกับการอ่านคอมเม้นท์ "เวทีความคิด" หัวข้อ "ไตรรงค์" ห่วงภาษาไทยวิบัติ! สั่งห้ามใช้คำ "ชิมิ" คุณคิดว่ามีเหตุผลหรือไม่?


"การใช้ภาษาไทย" เป็นเรื่องที่ตื่นตัวกันทุกปี รณรงค์กันมายาวนานมีการนำเสนอข่าวเพื่อ "อัพเดต"ศัพท์วัยรุ่นมาตั้งแต่ "จ๊าบ" จนถึงทุกวันนี้ คำที่เคยใช้ก็ถูกลดทอน ปรับเปลี่ยนไป ผ่านช่องทางที่เพิ่มขึ้น จากแค่คำพูดก็เริ่มเขียน จากปากกาก็เริ่มจับเมาส์ และพิมพ์คำเหล่านั้นลงคอมพิวเตอร์ ผ่านช่องทางอย่างอินเตอร์เน็ตไปโผล่ตามเว็บไซต์ชื่อดัง แม้กระทั่งโซเชียล เน็ตเวิร์คสุดฮิต ทั้งไฮไฟท์ (Hi5) เฟซบุ๊ก (Facebook) และทวิตเตอร์ (Tweeter)
 

ก่อนหน้านี้ ก็มีการรณรงค์เลิกใช้คำว่า เธอว์หรือเทอว์ ตามเว็บไซต์ดังตั้งกระทู้กระทุ้งความคิดเด็กวัยรุ่น จริงๆ แล้วคำนี้คุ้นตาสำหรับแฟนคลับ "drama-addict" ที่ทำให้คำว่า เธอว์ ฮิตสุดๆ และยังผุดคำใหม่ๆ ขึ้นมาในกระทู้เรื่อยๆ อย่าเช่นคำว่า "ดราม่า"ตามชื่อเว็บที่ให้ความหมายว่า แสดงอารมณ์อย่างโอเวอร์เกินจริงเหมือนเล่นละคร


ส่วนละครดังอย่าง "ระบำดวงดาว" ก็มีคำใหม่ที่เกิดจากตัวละคร เช่น "หวาน หวาน" ขนาดที่พลอย-เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ ผู้รับบทเองยังเคยพูดเพื่อแสดงถึงเอกลักษณ์ของตัวละครที่มีคาแรคเตอร์ "แอ๊บแบ๊ว" เข้าใจกันง่ายๆ คือ ทำหน้าตาและกิริยาไร้เดียงสา นอกจากนี้ ยังเป็นจุดเริ่มการแพร่หลายของคำว่า "ซุป′ตาร์"อีก


คำที่ถูกตัดทอนมาหรือเปลี่ยนตัวสะกดบางตัวนอกจาก ชิมิ (ใช่ไหม) เคร (โอเค) ป่ะล่ะ (หรือเปล่า) จุ๊บุ๊ (จุ๊บๆ) เริ่ด (เลิศเลอ) หรา (เหรอ) อาราย (อะไร) การเลียนเสียงหัวเราะที่เคยมีเพียง "ฮ่าๆ" ก็เพิ่มเติมมาเป็น "คริคริ อุอุ หุหุ อุคริ เหอๆ" หรือการใส่ ว แหวน เพื่อเน้นคำ เช่น แรว๊งส์ มวาก บางคำก็เหมือนจงใจที่จะเปลี่ยนรูป หั้ย (ให้) มั้ย (ไหม) ช้านหรือชั้น (ฉัน) หรือเอาจริงดิ จริงดิ ที่ไม่ใช่คำถามแต่เป็นการเน้นย้ำสิ่งที่พูดมา


สำหรับคนในวงการบันเทิงต่างก็มีการพูดเชิงล้อเลียนศัพท์ขาโจ๋ "ซะอย่างงั้น" หรือ "ซะงั้น" คำติดปากของพิธีกรฝีปากกล้าอย่าง "น้าเน็ก-เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา" ซึ่งนำมาตั้งชื่อทอล์คโชว์ The Naked Show 4 - ซะอย่างงั้น พร้อมกับทำเพลงประกอบด้วย (คลิกฟังด้านล่าง) ส่วนจอห์น-วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ ดีเจชื่อดังชอบใช้คำว่า "ฮาร์ฟ" เลียนแบบวัยรุ่นทั่วไปมักออกเสียงครับว่า คับ ฮับ ฮาฟ "บร๊ะเจ้า"หนึ่งคำที่เกิดขึ้นจาก โจ๊ก-โซลคูล ตามที่วิกิพีเดีย ระบุว่า "ส่วนตัวของโจ๊กเองถูกกล่าวถึงมากในเว็บไซต์พันทิป.คอม และประมูล.คอม และมีคำพูดใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่น บร๊ะเจ้า ชาบู ๆ เมพขิง ๆ บร๊ะลานุภาพ ...นอกจากนี้ โจ๊กยังได้เขียนหนังสือพ็อคเก็ตบุ๊คเล่มแรกในชีวิตชื่อ เขาเรียกผมว่าบร๊ะเจ้า โจ๊ก โซคูล"


"มติชนออนไลน์" จึงขอรวบรวมศัพท์ใหม่ที่ใช้กันค่อนข้างแพร่หลาย แต่กังวลว่าคุณผู้อ่านจะตาลาย บางรายอาจกุมขมับ จึงขอนำเสนอเพียงเท่านี้

- อวย (อวยพร)
- นิน (นินทา)
- เน้ (เนอะ/นะ)
- ค่อดๆ โคดๆ (โคตร)
- ดีมั่กมั่ก (ดีมากๆ)
- ให้ว่อง (ให้เร็วมาจากว่องไว)
- ปวดตับ (เครียด)
- นาง (สรรพนามบุรุษที่ 3 ใช้เรียกผู้หญิงหรือเพศที่ 3)
- องค์ลงหรือมีองค์ ใช้ประกอบกับขึ้นหรือของขึ้น มีความหมายใกล้เคียงกันแสดงถึงอารมณ์รุนแรงของคนๆ นั้น
- เทพหรือเมพ (เกิดจากการสะกดคำผิด เมพขิงๆ หรือเทพจริงๆ)/ขั้นเทพ มีความหมายว่าเก่งกาจ
- เหียก (หน้าตาขี้เหร่)
- ซุย (ขี้โม้)
- เนียน (ทำตัวกลมกลืน)
- แหล่ม (แจ่ม มีความหมายว่าดีเยี่ยม)
- กาก (กากเดนหรือไร้ค่า)
- ซัดโฮก (ทานเยอะ) ถ้าหล่อโฮก จะมีความหมายว่าหล่อมากหรือหล่อจัด
- จัดเต็ม แต่งตัวเยอะ แต่ในความหมายที่ดีก็สามารใช้กับการทุ่มเททำอย่างเต็มที่


ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่สังคมทำได้คือการรณรงค์ เพื่อพยายามป้องกันไม่ให้ภาษาไทย "วิบัติ" ศัพท์ใหม่ก็ยังเกิดขึ้นทุกวัน เพราะห้ามปากใครไม่ได้ แต่ขอแค่ใช้ให้ถูก "กาละเทศะ"


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์