ฟ้องสมิทธหยุดพูดสตอร์มเซิร์จทำป่วน

ระบุทำให้จังหวัดริมทะเลภาคกลางปั่นป่วน ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมยังอยู่ในภาวะวิกฤติหลายพื้นที่ เขาใหญ่น้ำทะลักลงตีนเขา ท่วมหมู่บ้านกลางดึก ด้านอุตุฯ เตือนหลายจังหวัดระวังท่วมฉับพลัน-น้ำป่าถล่ม

ปัญหาอุทกภัยหลายพื้นที่ยังอยู่ภาวะวิกฤติ ขณะที่กระแสความหวั่นกลัวเกี่ยวกับภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะสตอร์มเซิร์จ ทำให้เกิดผลกระทบหลายด้าน ล่าสุดมีการฟ้องร้องให้นายสมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการอำนวยการศูนย์ภัยพิบัติแห่งชาติ ยุติการพูดถึงเรื่องดังกล่าว

ฟ้องสมิทธหยุดพูดสตอร์มเซิร์จ

 เมื่อวันที่ 19 กันยายน นายสนธิญา สวัสดี รองโฆษกพรรคประชากรไทย ในฐานะคณะกรรมการบริหารแผนป้องกันอุทกภัยสมุทรสาคร เข้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครองขอให้มีคำสั่งห้ามนายสมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการอำนวยการศูนย์ภัยพิบัติแห่งชาติ ยุติการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเรื่องการพยากรณ์เกี่ยวกับการเกิดปรากฏการณ์สตอร์มเซิร์จ ซึ่งสร้างความสับสนและตื่นตระหนกแก่ประชาชน

 คำฟ้องดังกล่าวระบุว่า นายสมิทธออกมาให้สัมภาษณ์ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กันยายน 2551 กว่า 10 ครั้งว่า จะการเกิดสตอร์มเซิร์จ ที่น้ำทะเลจะยกตัวสูงท่วมในเขตพื้นที่ จ.สมุทรปราการ กทม. และ จ.สมุทรสาคร ภายในเดือนสิงหาคม-กันยายน และในเดือนถัดไป สร้างความตื่นตระหนกและกังวลของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวอย่างรุนแรง เพราะเกรงว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะเหมือนกับพายุนาร์กีส พัดถล่มในประเทศพม่าที่ผ่านมา ขณะที่หน่วยงานราชการ เช่น ดร.วัฒนา กันบัว ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาทางทะเล ออกมาให้สัมภาษณ์ แต่กลับมีข้อมูลไม่ตรงกันกับนายสมิทธ ว่าโอกาสจะเกิดสตอร์มเซิร์จ มีแค่ 2 เปอร์เซ็นต์

 คำฟ้องระบุด้ยว่า ผู้ฟ้องในฐานะกรรมการบริหารแผนป้องกันอุทกภัยสมุทรสาครที่ได้รับการแต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการจังหวัด ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2546 ได้ทราบข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาเอง แจ้งว่ามีโทรศัพท์เข้ามาสอบถามเรื่องดังกล่าววันละกว่า 300 ครั้ง แม้แต่ประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรสาครก็ได้รับการสอบถามจากอาจารย์โรงเรียนต่างๆ ด้วย

ระบุสร้างความแตกตื่น

 ผู้ฟ้อง ก็มีบ้านพักอยู่ที่ ต.ท่าฉลอม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ซึ่งติดปากอ่าวไทย และได้รับผลกระทบจากการให้สัมภษาณ์ของนายสมิทธ ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2551 เพื่อเรียกร้องให้นายสมิทธยุติการให้สัมภาษณ์การเกิดสตอร์มเซิร์จ เพราะเห็นว่า ได้สร้างความโกลาหลให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ติดชายทะเลต้องแตกตื่น ซึ่งบางพื้นที่พบว่าประชาชนย้ายออกจากบ้านและมีการปิดโรงเรียน นักเรียนขาดเรียน เพราะข่าวลือจากการให้สัมภาษณ์ว่าจะเกิดสตอร์มเซิร์จดังกล่าว ขณะที่นักธุรกิจก็ประสบปัญหาไม่สามารถขายที่ดินและบ้าน ส่วนโรงงานใน ต.ท่าฉลอม ที่ใช้แรงงานพม่าอย่างถูกกฎหมาย ก็ได้รับผลกระทบ ชาวพม่าเดินทางกลับประเทศเพราะเกรงกลัวว่าจะเกิดเหตุเช่นเดียวกับพายุนาร์กีสในพม่า แต่นายสมิทธกลับไม่ฟังและยังให้สัมภาษณ์พาดพิงผู้ฟ้องว่า มีผลประโยชน์ทับซ้อนซึ่งต้องสูญเสียผลประโยชน์ไป นอกจากนี้นายสมิทธยังได้ท้าทายนักวิชาการว่าหากใครสามารถยืนยันได้ว่าไม่เกิดสตอร์มเซิร์จ ก็จะยอมยุติการให้สัมภาษณ์

 ดังนั้นผู้ฟ้องจึงขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องยุติการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชน กรณีการเกิดสตอร์มเซิร์จในทันที โดยให้ผู้ถูกฟ้องในฐานะประธานศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ดำเนินการอย่างอื่นแทน เช่น ร่วมมือกับจังหวัด อำเภอ และตำบลที่เสี่ยงภัย จัดประชุมเชิงวิชาการให้รู้ข้อมูลจริง และการปฏิบัติหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวในพื้นที่เสี่ยงภัยเพื่อความเข้าใจชัดเจนทั่วถึงไม่สับสน

 ศาลปกครองรับคำฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1486/2551 เพื่อพิจารณาต่อไปว่าคดีอยู่ในอำนาจศาลและจะมีคำสั่งประทับรับฟ้องหรือไม่ 

สมิทธน้อยใจเลิกเตือนภัย

 นายสมิทธกล่าวภายหลังทราบว่าโดนฟ้องว่า การเตือนภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นกับคนไทยเป็นหน้าที่ และข้อมูลที่เตือนภัยไม่ได้ทำให้ใครตกใจ แต่คนที่มาฟังบรรยายการเตือนภัยจะขอบคุณเสียอีกที่มาช่วยเตือนให้ระวังภัยพิบัติ อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ไปจะหยุดเตือนภัยแล้ว หากเกิดอะไรขึ้นให้คนที่ออกมาต่อต้านรับผิดชอบความต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนและประเทศชาติ

 "ผมไม่รู้ทำอย่างไร มันเป็นหน้าที่ของผม คราวที่ผมไปบรรยายที่ปากน้ำ ไม่เคยทำให้ใครตกใจ มีคนมาฟังจำนวนมาก และรู้สึกขอบคุณผมที่มาเตือนภัยให้ แต่ต่อนี้ไปผมหยุดแล้ว รู้สึกเสียใจ เหมือนทำคุณบูชาโทษ เวลาเตือนภัยอะไรก็โดนด่า เหมือนกับตอนที่เตือนภัยสึนามิครั้งที่แล้ว ตอนนี้ผมเลิกแล้ว หากมีอะไรเกิดขึ้นในช่วง 1-2 เดือนนี้ ให้เขารับผิดชอบไป" นายสมิทธกล่าว

 นายสมิทธกล่าวอีกว่า โดยส่วนตัวไม่รู้จักกับนายสนธิญา สวัสดี จึงไม่ทราบจุดประสงค์แน่ชัด อาจจะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางธุรกิจที่มีทำเลอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล ที่อาจได้รับผลกระทบจากการเกิดสตอร์ม เสิร์จ ร้องเรียนเขาให้ดำเนินการในเรื่องนี้ก็เป็นไปได้

อุตุฯ เตือนหลาย จว.เสี่ยงท่วมฉับพลัน

 ด้านสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ยังอยู่ในวิกฤติ กรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์อากาศประจำวันศุกร์ที่ 19 กันยายน ว่า ร่องความกดอากาศต่ำกำลังปานกลางผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนกระจาย และมีฝนตกหนักบางแห่ง เช่น บริเวณ จ.สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ นครสวรรค์ สระบุรี ลพบุรี นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี และ ตราด ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยระมัดระวังอันตรายภัยจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากที่อาจเกิดซ้ำขึ้นได้อีกจากฝนตกหนักต่อเนื่องในระยะนี้

ยันเขื่อนภูมิพลไม่น่าห่วง

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์การระบายน้ำของเขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก หลังเที่ยงคืนวันที่ 19 กันยายน มีระดับน้ำเก็บกักทั้งสิ้น 237.04 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยปริมาณน้ำวัดได้ทั้งหมด 7,383.55 ล้านลูกบากศ์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 54.85 ขณะเดียวกันยังคงมีปริมาณน้ำเหนือจาก จ.ลำพูน และ จ.เชียงใหม่ ไหลเข้าอ่างเฉลี่ยประมาณวันละ 50.77 ล้านลูกบากศ์เมตร ซึ่งเขื่อนจะรับน้ำได้อีก 6,078.45 ล้านลูกบากศ์เมตร อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โดยรวมยังไม่น่าเป็นห่วง

 ส่วนแผนการระบายน้ำที่กรมชลประทานเร่งปรับแผนการระบายน้ำอย่างเร่งด่วน โดยให้เขื่อนภูมิพลปรับลดปริมาณน้ำที่ระบายลงสู่ลุ่มเจ้าพระยา จากอัตราเดิมเฉลี่ยวันละ 10-12 ล้านลูกบากศ์เมตร ลดลงเหลือวันละ 3.97 ล้านลูกบากศ์เมตรเท่านั้น โดยปริมาณน้ำดังกล่าวจะใช้หล่อเลี้ยงท้องน้ำลุ่มแม่น้ำปิง ภายใน จ.ตากเท่านั้น เพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดจากปัญหาน้ำท่วมในลุ่มเจ้าพระยา

น้ำเขาใหญ่ทะลักท่วมหมู่บ้าน

 จ.ส.อ.ธีรชาติ ชื่นบาล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดงขี้เหล็ก อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า ภาวะฝนตกติดต่อกันส่งผลให้น้ำป่าที่หลากมาจากน้ำตกวังบ่อ-เขามดแดง เขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรในพื้นที่ตีนเขา ได้แก่ หมู่ 12 หมู่ 11 หมู่ 13 หมู่ 10 หมู่ 9 และหมู่ 8 ต.ดงขี้เหล็ก อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ในช่วงประมาณ 23.30 น. วันที่ 18 กันยายน โดยระดับน้ำท่วมสูงกว่า 80 เซนติเมตร และไหลบ่าท่วมถนนสายสุวรรณศร (ปราจีนบุรี-ประจันตคาม) ตั้งแต่หน้าโรงเรียนไทยรัฐวิทยา-ปั๊มน้ำมัน ปตท.-หน้าบริษัทฮาตาริ หมู่ 7 ต.ดงขี้เหล็ก อ.เมือง เบื้องต้นพบว่ามีบ้านเรือนได้รับผลกระทบรวม 20 ครัวเรือน และได้ช่วยเหลือเบื้องต้นโดยขอสนับสนุนกำลังทหารจาก ร.2 พัน.1 รอ.กว่า 50 นาย และหน่วยกู้ภัยร่วมกตัญญูให้เร่งเปิดเส้นทางให้น้ำระบายลงคลองให้สะดวกต่อไป

ทัวร์ล่องแก่งครวญลูกค้ายกเลิก

 นางฉลาด สโมสร ประธานชมรมผู้ประกอบการธุรกิจเรือยางล่องแก่งหินเพิง กล่าวว่า จากข่าวน้ำป่าไหลหลากส่งผลให้นักท่องเที่ยวกว่า 1,600 ราย ยกเลิกการล่องแก่งหินเพิง บนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ในสุดสัปดาห์นี้ ทั้งที่สภาพข้อเท็จจริงแล้วสามารถล่องแก่งได้ ระดับน้ำไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด ไม่มีน้ำป่าไหลหลาก

ชัยภูมิผู้สั่งพร้อม24ชั่วโมง

 ด้าน จ.ชัยภูมิ นายถาวร พรหมมีชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ สั่งการไปยังทุกอำเภอให้เตรียมรับมือสถานการณ์น้ำท่วม หลังน้ำในลำน้ำชีเอ่อล้น ทำให้เขื่อนลำปะทาวตอนล่างรับน้ำไม่ไหว ต้องปล่อยน้ำออกตลอด 24 ชั่วโมง ส่งผลให้น้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรในตัวเมืองชัยภูมิ โดยเฉพาะบริเวณบ้านห้วยชัน ชุมชนกุดแคน และชุมชนโนนสมอ มีระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตรแล้ว รวมทั้งบริเวณรอบนอกย่านตลาดสดเทศบาลเมืองชัยภูมิ ระดับน้ำสูงระหว่าง 50-70 ซม. รถทุกประเภทเริ่มไม่สามารถใช้เส้นทางหลายสายผ่านตัวเมืองได้แล้วเช่นกัน พร้อมทั้งมีการสั่งปิดโรงเรียน 4 แห่งในตัวเมืองด้วย

 ขณะที่อีกหลายอำเภอเริ่มมีระดับน้ำสูงขึ้น และไหลเข้าท่วมบ้านเรือนไร่นา โดยเฉพาะที่ อ.บำเหน็จณรงค์ อ.จัตุรัส และ อ.เขว้า จังหวัดประกาศเตือนให้เตรียมรับมือเป็นการเร่งด่วน

 นายปรีชา มีนาเสียว ผู้ใหญ่บ้านห้วยชัน หมู่ 2 ต.นาฝาย อ.เมือง จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า ขณะนี้ชาวบ้านที่อยู่ใกล้บริเวณทางน้ำเขื่อนลำปะทาวน้ำเริ่มท่วมบ้านแล้ว น้ำที่ไหลลงมามีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ อยากให้มีการออกมาแจ้งเตือนชาวบ้านให้เร็วกว่านี้ เพราะไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีการปล่อยน้ำลงมา ทำให้ชาวบ้านขนของออกจากบ้านไม่ทัน ทรัพย์สินของชาวบ้านได้รับความเสียหาย

 ที่ จ.ลพบุรี โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.เมืองและ อ.บ้านหมี่ หลายหมู่บ้านยังจมอยู่ใต้น้ำและถูกตัดขาด การช่วยเหลือไม่สามารถเข้าถึง เนื่องจากมีน้ำท่วมสูง จึงไม่มีใครนำสิ่งของเข้าไปให้ ขณะที่แม่น้ำลพบุรีเกือบล้นตลิ่งเข้าท่วม อ.ท่าวุ้งแล้ว

น้ำเซาะดินพังคร่า2คน

 เมื่อเวลา 05.00 น. วันที่ 19 กันยายน ศูนย์วิทยุ สภ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก รับแจ้งจากวิทยุประสานหน่วยกู้ภัยบูรพาให้นำอุปกรณ์ดำน้ำมาช่วยค้นหาผู้สูญหายภายในแม่น้ำแควน้อย เหนือเขื่อนแควน้อย หลังได้รับแจ้งว่ามีอุบัติเหตุกระแสน้ำแม่น้ำแควน้อยพลัดร่างญาติผู้บริหารยูบีซี ร่วมค้า 2 คน จมหายไปในอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนแควน้อย หมู่ 1 ต.คันโช้ง อ.วัดโบสถ์ 

 นายชูชาติ ฉุยกลม ผู้อำนวยการก่อสร้างโครงการเขื่อนแควน้อย อ.วัดโบสถ์ กล่าวว่า จุดเกิดเหตุเป็นทำนบดินชั่วคราว ที่ก่อสร้างกั้นลำน้ำแควน้อย เหนือเขื่อนแควน้อย ช่วงที่ผ่านมามีน้ำจากแม่น้ำแควน้อยไหลมาปริมาณมาก ทำให้เทคนิคการก่อสร้างต้องขุดทำนบดินเหนือเขื่อนแควน้อยออก เพื่อให้น้ำระบายผ่านท่อระบายน้ำของเขื่อนแควน้อย จากเดิมที่ระบายออกทางเขื่อนสันตะเคียนด้านเดียว

 นายชูชาติกล่าวอีกว่า คนงานของบริษัทยูบีซี ร่วมค้า ผู้รับเหมาก่อสร้างเขื่อนแควน้อย เริ่มดำเนินการขุดทำนบดินออกตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน ที่ผ่านมา และการขุดก็ไม่มีปัญหา สามารถนำเครื่องจักรกลออกมาได้ทั้งหมด แต่อุบัติเหตุครั้งนี้ รายงานแจ้งว่า ญาติของผู้บริหารบริษัทยูบีซี ร่วมค้า ไปยืนสังเกตการณ์บริเวณทำนบดินดังกล่าวในช่วงเวลาประมาณ 05.00 น. วันที่ 19 กันยายน กระแสน้ำที่แรงได้กัดเซาะทำนบดินกั้นน้ำพังอย่างรวดเร็ว และทั้งสองคนถูกน้ำพัดหายไป

 ทั้งนี้ เขื่อนแควน้อยเฉลิมพระเกียรติ อยู่ที่หมู่ 1 ต.คันโช้ง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก เป็นเขื่อนดินอเนกประสงค์ ก่อสร้างโดยกรมชลประทาน ระหว่างปี 2548-2552 ขณะนี้การก่อสร้างเขื่อนแล้วเสร็จกว่า 80% แล้ว เมื่อสร้างเสร็จแล้วจะสามารถกักเก็บน้ำได้กว่า 700 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยป้องกันน้ำท่วมในเขต อ.วัดโบสถ์ และ อ.เมือง และช่วยเปิดพื้นที่ชลประทานฝั่งตะวันออกของ จ.พิษณุโลกอีกร่วม 1 แสนไร่ มีบริษัทกิจการยูบีซี ร่วมค้าเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้าง

ผลกระทบป่วนเพียบ

 นอกจากอุบัติเหตุคร่าชีวิตผู้ประสบภัยน้ำท่วมแล้ว ภาวะน้ำท่วมขังยังทำให้เกิดปัญหาการเจ็บป่วยเกิดขึ้นด้วย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตรนำคณะแพทย์ออกตรวจรักษาประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบของน้ำท่วม ตามโครงการของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ตลาดชุมชนเทศบาลทับคล้อใต้ อ.ทับคล้อ ซึ่งสถานการณ์น้ำได้ลดลงจนเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ยังมีน้ำท่วมขัง

 นพ.พูลสิทธิ์ ศิติสาร นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมและป้องกัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.พิจิตร ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน ที่ผ่านมา ขณะนี้แพทย์ได้ตรวจพบผู้ป่วยด้วยโรคที่มากับน้ำท่วมแล้วจำนวนกว่า 300 ราย โดยเฉพาะโรคน้ำกัดเท้า โรคไข้หวัด โรคตาแดงและโรคอุจจาระร่วงฉับพลัน รวมทั้งพบผู้ป่วยที่เกิดจากสัตว์มีพิษ เช่น งูและตะขาบกัดต่อยอีกจำนวนหนึ่ง

 นพ.พูลสิทธิ์กล่าวด้วยว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตรได้ระดมทีมแพทย์ออกหน่วยเคลื่อนที่ตรวจรักษาผู้ป่วยในพื้นที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ อ.ทับคล้อ และ อ.บางมูลนาก พร้อมกับมอบยาเวชภัณฑ์จำนวน 2,000 ชุด สั่งสำรองยาเวชภัณฑ์อีก 5,000 ชุด ในการแจกจ่ายช่วยเหลือผู้ป่วยในสภาวะน้ำท่วม อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะนี้มีฝนตกชุกและเกิดอุทกภัยซึ่งง่ายต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรคต่างๆ จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังการเจ็บป่วยด้วยโรคระบาดที่มากับน้ำท่วม ด้วยการทำให้ร่างกายอบอุ่น รับประทานอาหารที่สุกและสะอาด หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำโดยตรง

หวั่นจระเข้หลุดฟาร์มเสริมกำแพง

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากน้ำเหนือเริ่มไหลบ่าลงสู่ที่ลุ่มภาคกลาง สิ่งที่ชาวบ้านแตกตื่นวิตกทุกปีเมื่อเกิดน้ำท่วมคือ ฟาร์มจระเข้จำนวนมาก ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน แม่น้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ ปีนี้น้ำเหนือเริ่มไหลบ่าลงมาแล้ว เจ้าของฟาร์มจระเข้ ต่างมีวิธีป้องกันบรรดาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จระเข้กันอย่างแน่นหนา อย่างที่ฟาร์มจระเข้ตันวิสุทธิ์ฟาร์ม ฟาร์มจระเข้ใหญ่ที่สุดในนครสวรรค์ ต้องอยู่ริมแม่น้ำน่าน มีจระเข้นับพันตัว เจ้าของฟาร์มได้เสริมกำแพงสูงกว่า 2 เมตร เพื่อรับมือ

 นายพ้ง ตันวิสุทธ์ อายุ 50 ปี เจ้าของฟาร์มบอกว่า เวลานี้ยังสามารถรับมือได้ ระดับน้ำยังไม่ท่วมฟาร์ม ปีนี้ที่ฟาร์มมีจระเข้มาก จึงต้องเสริมแนวกำแพงคอนกรีตสูง 2 เมตร ไว้รับมือ หากน้ำท่วมสูงจริงก็มีแผนสำรองด้วยการใช้สายไฟมาวางรอบๆ บ่อ หรืออาจจะย้ายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์อยู่อีกฟาร์มหนึ่ง แต่มั่นใจว่าปีนี้จะสามารถรับมือได้

ขอนแก่นรถไฟวิ่งไม่ได้

 สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.ขอนแก่น แม้ในหลายพื้นที่กระแสน้ำจะเริ่มลดระดับลงแล้ว แต่ถนนมิตรภาพบริเวณหลัก กม.ที่ 420 อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นเส้นทางหลัก กระแสน้ำท่วมถนนตัดขาด นอกจากนี้ทางรถไฟก็ถูกตัดขาดเช่นกัน ทำให้รถทุกชนิดต้องจะผ่านขึ้น-ล่อง กทม.ต้องเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น ซึ่งมีระยะทางไกลจากเดิม 60 กม. ภาคการขนส่งต่างได้รับผลกระทบจากเส้นทางที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวี ต่างได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก 

 นายสมชาย เอื้ออภิศักดิ์ นายตรวจทางขอนแก่น การรรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากเกิดฝนตกหนัก ส่งผลให้รางรถไฟได้รับความเสียหาย ต้องหยุดให้บริการสายกรุงเทพฯ-หนองคาย รวม 6 ขบวน คือ รถเร็วขบวนที่ 133 และ 134 รถด่วนขบวนที่ 69 และ 70 รถดีเซลรางปรับอากาศขบวนที่ 77 และ 78

 ส่วนรถไฟสายท้องถิ่นได้หยุดให้บริการตั้งแต่สถานีขอนแก่น-สถานีบ้านไผ่ เนื่องจากคันดันที่เสริมทางรถไฟพังทลาย 2 จุด คือบริเวณ กม.ที่ 421 ระหว่างสถานีบ้านไผ่-สถานีบ้านแฮด ความยาวที่ได้รับความเสียหาย 160 เมตร และอีกจุดคือ บริเวณ กม.ที่ 430 ความยาว 140 เมตร โดยดินที่พังทลายลงมามีความสูงประมาณ 5 เมตร

 "เจ้าหน้าที่การรถไฟฯ ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่และแรงงานประมาณ 60 คน เร่งซ่อมแซมรางรถไฟ พร้อมทั้งนำเครื่องจักรเข้าทำงานทุกจุดที่ได้รับความเสียหาย คาดว่าจะใช้ดินเสริมจุดละประมาณ 3,000 ลูกบาศก์เมตร มูลค่าความเสียหายขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ ส่วนการซ่อมแซมคาดการณ์ว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน จึงจะแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการเดินรถได้" นายสมชายกล่าว

ปตท.ยันไม่ขึ้นค่าขนส่งก๊าซ

 ด้านนายสุรัตน์ เจียมเลิศวิวัฒน์ ผู้จัดการคลังน้ำมัน ปตท.ขอนแก่น กล่าวว่า หลังจากการรถไฟแห่งประเทศไทยหยุดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน ที่ผ่านมา การขนส่งก๊าซแอลพีจี ปตท.หันมาใช้วิธีขนส่งทางรถยนต์ โดยใช้รถยนต์ในการขนส่งก๊าซประมาณ 60 คัน ทำให้ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น เนื่องจากถนนมิตรภาพบริเวณ อ.บ้านแฮด ยังไม่เปิดให้รถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกิน 15 ตันวิ่งผ่านได้ จึงต้องไปใช้ทางเลี่ยง ซึ่งเดิมระยะทางจาก อ.บ้านไผ่-ขอนแก่น เพียง 44 กม.เท่านั้น แต่เมื่อต้องมาใช้ทางเลี่ยง เส้นทางจาก อ.บ้านไผ่ อ.ชนบท อ.มัญจาคีรี อ.พระยืน จ.ขอนแก่น ระยะทางเพิ่มเป็น 90 กม.

 นายสุรัตน์ยืนยันว่า แม้ว่าการขนส่งก๊าซจะมีระยะทางเพิ่มขึ้น แต่ ปตท.ยืนยันว่าจะไม่มีการปรับเพิ่มราคาก๊าซตามต้นทุนขนส่งที่เพิ่มขึ้นอย่างใด เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นภัยธรรมชาติ ซึ่ง ปตท.ต้องรับภาระส่วนนี้เอง

คลอดแล้วเงินช่วยน้ำท่วม

          นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า มีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมรวม 36 จังหวัด แยกเป็นภาคเหนือ 13 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด ภาคกลาง 4 จังหวัด ภาคตะวันออก 6 จังหวัด และภาคใต้ 1 จังหวัด พื้นที่ภาคการเกษตรได้รับความเสียหายรวม 724,931 ไร่ แยกเป็นภาคปศุสัตว์ ได้รับผลกระทบ 2,702,431 ตัว ประมงพื้นที่เสียหาย 4,013 บ่อ และ 65 กระชัง

 ความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด ได้ประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจพบว่ามีประมาณ 686 ล้านบาท แยกเป็นข้าว 507 ล้านบาท พืชไร่ 179 ล้านบาท อัตราการชดเชย ประกอบด้วย ข้าว 606 บาทต่อไร่ พืชไร่  837 บาทต่อไร่ พืชสวน 912 บาทต่อไร่ สุกร 1,200 บาทต่อตัว แพะ แกะ 1,400 บาทต่อตัว รายละไม่เกิน 10 ตัว ไก่พื้นเมืองหรือลูกผสมพื้นเมือง 22.5 บาทต่อตัว รายละไม่เกิน 300 ตัว  ไก่เนื้อ ไก่ไข่ เป็ดเนื้อ เป็ดไข่ 15 บาทต่อตัว รายละไม่เกิน 1,000 ตัว นกกระทา 12 บาทต่อตัว รายละไม่เกิน 1,000 ตัว ห่าน 50 บาทต่อตัว รายละไม่เกิน 300 ตัว เมล็ดพันธุ์อาหารสัตว์ไร่ละ 2 กก. 220 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 20 ไร่ ท่อนพันธุ์พืชอาหารสัตว์ไร่ละ 250 กก. 625 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 20 ไร่ อาหารสัตว์ ตัวละ 10 กก.ตัวละ 100 บาท และอาหารสัตว์ปีกตัวละ 0.5 กก. ตัวละ 5 บาท


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์