ฟื้น 30 บาทรักษาทุกโรค ตายจ่าย4แสน มติบอร์ดสปสช. 1ส.ค.

ฟื้น 30 บาทรักษาทุกโรค มติบอร์ด สปสช.ไฟเขียว เริ่ม 1 ส.ค. เฉพาะ รพ.ขนาดใหญ่ก่อนขยายทั่วประเทศกลางปี 2556 เล็งขยายวงเงินช่วยเหลือผู้ป่วยบัตรทองกรณีเสียชีวิต 2 แสนเป็น 4 แสน พิการ 1.2 แสน เป็น 2.4 แสนบาท

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวหลังประชุมบอร์ด สปสช. ซึ่งพิจารณาเรื่องนโยบายร่วมจ่าย 30 บาท ว่าในการประชุมบอร์ด สปสช. มีมติตามคณะอนุกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ ที่มี นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ให้เรียกเก็บ 30 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม

"การเรียบเก็บต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ดังนี้ เรียกเก็บกรณีประชาชนไปใช้บริการและได้รับการสั่งจ่ายยาเท่านั้น หากไม่มีการสั่งยาไม่ต้องเรียกเก็บ ช่วง 6 เดือนแรกนับจากเริ่มมาตรการให้เรียกเก็บเฉพาะในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โรงพยาบาลในระดับจังหวัด พวกโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ.รพท.) รวมถึงโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยต่างๆ ด้วย" นายวิทยากล่าว และว่า ต่อมาอีก 6 เดือนหลังจากนั้นจะขยายไปยังโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ก่อนจะขยายไปยังโรงพยาบาลในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั่วประเทศกลางปี 2556


ฟื้น 30 บาทรักษาทุกโรค ตายจ่าย4แสน มติบอร์ดสปสช. 1ส.ค.

นายวิทยากล่าวว่า การเรียกเก็บจะยกเว้นกลุ่มคนยากจน ซึ่งจะมาจากฐานข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย และผู้ที่สังคมควรช่วยเหลือเกื้อกูล

โดยกลุ่มคนยกเว้นมีประมาณ 24 ล้านคน จาก 47 ล้านคน ในระบบ กลุ่มดังกล่าวจะเป็นไปตามมาตรา 5 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 อาทิ ผู้มีรายได้น้อยตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยสวัสดิการประชาชนด้านการรักษาพยาบาล พ.ศ.2537 ผู้นำชุมชน ได้แก่ กำนัน สารวัตรกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี เด็กอายุไม่เกิน 12 ปีบริบูรณ์ บุคคลผู้พิการ พระภิกษุ สามเณร ทหารผ่านศึก ทหารเกณฑ์ เป็นต้น กลุ่มเหล่านี้ไม่ต้องร่วมจ่ายเงินดังกล่าว อีกทั้งนโยบายร่วมจ่าย 30 บาท ยังครอบคลุมทุกช่วงเวลา จากเดิมจะเน้นช่วงเช้า ล่าสุดให้ขยายไปยังช่วงบ่าย เพื่อความสะดวกของผู้รับบริการด้วย

"จากมาตรการดังกล่าวจะทำให้หน่วยบริการมีเงินรายได้ปีละ 2,000 ล้านบาท ให้แต่ละ หน่วยบริการบริหารจัดการเอง ซึ่งจะนำไปพัฒนาคุณภาพต่างๆ ได้ ที่สำคัญมาตรการนี้จะช่วยสร้างการมีส่วนร่วมและความรู้สึกเป็นเจ้าของในระบบร่วมกัน และยังกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความตระหนัก ร่วมมือในการดูแลสุขภาพของตัวเองมากขึ้น เป็นการส่งเสริมป้องกันโรค มากกว่าการรักษา" นายวิทยากล่าว และว่า ที่ประชุมยังเห็นควรให้ปรับเปลี่ยนหน่วยบริการในกรณีขอย้ายภูมิลำเนา จากเดิมสามารถเปลี่ยนได้ปีละ 2 ครั้ง เป็นปีละ 4 ครั้ง จะทำให้สะดวกมากยิ่งขึ้น

ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สำหรับกลุ่มยกเว้นร่วมจ่ายนั้น สปสช. จะมีฐานข้อมูลอยู่แล้ว
 
หากประชาชนไปรับบริการ เมื่อมีการคีย์ข้อมูลผ่านบัตรประชาชนจะขึ้นโดยอัตโนมัติว่า เป็นกลุ่มยกเว้นหรือไม่ ซึ่งตรงนี้ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดความสับสน หรือวุ่นวาย อย่างไรก็ตาม จะประเมินผลหลังออกมาตรการนี้ทุก 3 เดือน นอกจากนี้ ในการประชุมยังหารือเรื่องการขยายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ว่าด้วยการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการที่พิสูจน์ได้ว่าได้รับความเสียหายจากการรักษา โดยมีมติให้ขยายดังนี้ กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร จากเดิมจ่ายเงินช่วยเหลือไม่เกิน 200,000 บาท เป็น 400,000 บาท กรณีพิการหรือสูญเสียอวัยวะ จากเดิมจ่ายเงินช่วยเหลือไม่เกิน 120,000 บาท เป็น 240,000 บาท กรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยอย่างต่อเนื่อง จากเดิมจ่ายเงินช่วยเหลือไม่เกิน 50,000 บาท เป็น 100,000 บาท จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 เชื่อว่ามาตรการนี้จะเป็นกลไกช่วยลดการเผชิญหน้าระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า การขยายเงินช่วยเหลือตามมาตรา 41 จะมีผลต่อการสานต่อร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ... หรือไม่

นพ.วินัยกล่าวว่า คนละเรื่องกัน เนื่องจากมาตรา 41 เป็นเรื่องของการช่วยเหลือเบื้องต้น แต่ในส่วน พ.ร.บ.คุ้มครองฯ เป็นเรื่องเงินชดเชย ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการในสภาผู้แทนราษฎร จึงเป็นคนละส่วนกัน และการขยายวงเงินตรงนี้อยู่ในกรอบไม่เกินร้อยละ 1 ของเงินกองทุน เดิมกองทุนใช้เงินในส่วนนี้ประมาณปีละ 100 กว่าล้านบาท อย่างไรก็ตาม จากการขยายวงเงินขึ้นจะอยู่ที่ประมาณปีละ 250 ล้านบาท ยังอยู่ในกรอบตามกฎหมายกำหนด

อนึ่งการร่วมจ่าย 30 บาทในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อปี 2544 ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต่อมาในปี 2549 มีการยกเลิกการร่วมจ่ายดังกล่าว กระทั่งปัจจุบันมีการฟื้นโครงการนี้อีก

วันเดียวกัน กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ออกแถลงการณ์กรณีนโยบายร่วมจ่าย 30 บาท ว่าจากการที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย

โดย นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดึงดันนำนโยบายเก็บค่าธรรมเนียมร่วมจ่ายค่ารับบริการสาธารณสุข หน่วยบริการทุกครั้ง ครั้งละ 30 บาท กลับมาดำเนินการและอาศัยเสียงข้างมากในที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้พิจารณาอนุมัตินั้น ขอเรียกร้องให้พี่น้องประชาชนผู้เสียภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมทุกคนยืนยันว่า เพื่อความมีศักดิ์ศรีของมนุษย์ ไม่ต้องไปแจ้งที่โรงพยาบาลทุกครั้งว่าขอยกเว้นไม่จ่าย 30 บาท เพราะยากจน หรือเพราะเป็นคนแก่ หรือเพราะเป็นคนพิการ ฯลฯ เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ยากลำบากที่จะแสดงออกของประชาชนที่ได้เสียภาษีให้รัฐไปจัดสวัสดิการรักษาพยาบาลแล้ว ซึ่งจริงๆ แล้ว ทุกคนไม่ควรต้องจ่าย 30 บาทด้วยซ้ำ ตราบใดที่รัฐบาลยังไม่สามารถดำเนินนโยบายกระจายรายได้ให้ประชาชนได้อย่างเป็นธรรม ยังไม่สามารถยกระดับรายได้ขั้นต่ำให้แรงงานทั้งประเทศได้

(ที่มา:มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 14 มิ.ย.2555)


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์