พิษข้าวล้นโกดังกขช.หาช่องแก้ พาณิชย์อ่วมหนี้ค่าเช่า 4 พันล.

พิษข้าวล้นโกดังกขช.หาช่องแก้ พาณิชย์อ่วมหนี้ค่าเช่า 4 พันล.


กขช. หาช่องทางล้างหนี้ค่าเช่าโกดังให้ “พาณิชย์” โดยให้นำข้าวไปจ่ายแทนได้ เผยยอดค้างแตะ 4,000 ล้านบาท 

พร้อมใช้งบ 200 ล้าน วางระบบออนไลน์ หวังล้อมคอกป้องกันโกงรับจำนำ เสนอครม.สัปดาห์หน้า

นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.) เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2556 ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องหนี้ค้างชำระค่าเช่าโกดัง โดยปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ ยังมีหนี้ค้างส่วนหนึ่งที่ต้องชำระ ค่าเช่าโกดังเก็บสินค้า โรงสี และอื่นๆ รวมทั้งสิ้นแล้วประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยเป็นค้างชำระตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมาถึงปี 2556/57 เนื่องจากงบที่นำมาใช้มีไม่เพียงพอ ซึ่งในบางปีถูกตัดไป ทำให้การบริหารจัดการเงินมีปัญหา

โดยที่ประชุม กขช. อนุญาตให้กระทรวงพาณิชย์ สามารถนำข้าวไปจ่ายแทนได้หากยังใช้หนี้ไม่ครบแต่ทำได้เฉพาะในปีนี้ เพื่อให้หนี้สินที่มีอยู่หมดไป โดยคาดหวังไว้ว่า สิ้นปี 2557 จะสามารถจ่ายหนี้ได้หมด ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดพื้นที่การจัดเก็บ และป้องกันปัญหาข้าวเสื่อมสภาพ ซึ่งจะสามารถลดค่าใช้จ่ายภาครัฐได้อีกทางหนึ่ง

“ตอนนี้ยังมีเงินค้างที่ต้องชำระค่าเช่าโกดังแล้ว ทั้งต้นและดอกเบี้ยรวมแล้วอีกประมาณ 4,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดที่สะสมมาตั้งปี 2551/52/53/54 มาเรื่อยๆ โดยสาเหตุก็เพราะว่าการของบไปบางครั้งไม่ได้ตามที่ขอ ถูกตัดงบ ทำให้การจัดการงบขัดข้อง”

นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวว่า กขช.มีมติอนุมัติให้มีการจัดหางบประมาณ จำนวนกว่า 200 ล้านบาท เพื่อนำมาปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ สำหรับโครงการรับจำนำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น คาดว่าระบบออนไลน์ดังกล่าวจะเสร็จภายใน 2 เดือน และจะใช้เพื่อเก็บข้อมูลต่างๆจากโครงการรับจำนำฤดูกาล 2556/2557 เป็นต้นไป แต่ยังไม่อาจเสร็จทันโครงการรับจำนำข้าวรอบใหม่ในวันที่ 1 ตุลาคม 2556 นี้

โดยทาง กขช.มองแหล่งงบประมาณในการนำมาปรับปรุงระบบนี้อยู่ 2 แห่ง คือ กองทุนเพื่อการส่งออก และกองทุนงบประมาณกลาง ซึ่งต้องขอผ่าน คณะรัฐมนตรี(ครม.) คาดจะได้ข้อสรุปที่แน่ชัดภายในสัปดาห์หน้า

“การปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ เป็นการปรับระบบคอมพิวเตอร์ให้ครบวงจร จะเป็นการช่วยให้การทำงานของโครงการรับจำนำเป็นระบบมากขึ้น ซึ่งจะสามารถตรวจสอบข้อมูลของข้าวที่เข้ามายังโครงการได้ว่าเป็นข้าวเปลือกจากที่ไหน สีแปรเสร็จแล้วเก็บไว้ที่โกดังใด ปริมาณเท่าไหร่ เวลานำออกมาขายสามารถตรวจสอบได้ และใช้ในการออกใบประทวนให้เกษตรกรได้รวดเร็วขึ้น โดยระบบออนไลน์จะเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งหมดของทั้ง ตั้งแต่การรับซื้อ การจัดเก็บ การจำหน่ายไว้ในฐานเดียวกัน จึงจะทำให้การตรวจสอบต่างๆ ง่ายและโปร่งใสขึ้น และจะมีส่วนกลางของระบบอยู่ที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) และกระจายไปตามจุดรับจำนำ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กล่าว

มีรายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า ขณะนี้ข้าวในสต๊อกข้าวของรัฐบาลมีอยู่ประมาณ 10 ล้านตัน และมีการเร่งระบายข้าวอย่างต่อเนื่อง ผ่านมา 5 แนวทาง คือ 

1.การเปิดประมูลทั่วไป

 2.การขายแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)

 3.การขายผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (เอเฟท)

 4.การขายข้าวภายในประเทศผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 5.การเปิดให้เอกชนเข้ามาซื้อโดยตรง

อย่างไรก็ตามจะมีข้าวเข้ามา เนื่องจากมีการรับจำนำข้าวเปลือกในปีการผลิต 2556/2557 ทั้งนาปี และนาปรัง โดยการรับจำนำข้าวนาปีที่จะเริ่มในวันที่ 1 ตุลาคม 2556-28 กุมภาพันธ์ 2557 โดยรับจำนำข้าวเปลือกเจ้า ความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 ราคาตันละ 15,000 บาท สามารถนำข้าวมาเข้ารับจำนำได้ไม่เกิน 350,000 บาท/ครัวเรือน ขณะที่ราคารับจำนำข้าวเปลือกหอมมะลิ ความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 อยู่ที่ตันละ 20,000 บาท ส่วนการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 ราคาตันละ 13,000 บาท จำกัดวงเงินไม่เกิน 300,000 บาท/ครัวเรือน ทั้งนี้ใช้กรอบงบประมาณที่ 270,000 ล้านบาท คาดว่าจะมีข้าวร่วมโครงการทั้ง 2 รอบที่ 18 ล้านตัน

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์