พิษของแพงร้านอาหารเจ๊ง โพลระบุ4เดือนปิด40รายอ่วมต้นทุน

นางปวรวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า

สมาคมฯ ได้สำรวจผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ในเขตกรุงเทพฯ 400 ราย ช่วง 4 เดือนแรกของปี (ม.ค.-เม.ย.) พบว่า มี 40 ราย หรือ 10% ต้องปิดกิจการไปแล้วเพราะแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ ส่วนภาพรวมตลาดร้านอาหารไทย ช่วง 4 เดือนโตขึ้น 5% หรือมีมูลค่าตลาดรวมที่ 200,000 ล้านบาท ต่ำกว่าอัตราการเติบโตของร้านอาหารญี่ปุ่น ซึ่งเติบโตถึง 15%
 
“ราคาสินค้าที่สูงขึ้นต่อเนื่องช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะ ข้าว น้ำมันพืช และน้ำตาล ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการประกอบธุรกิจอาหาร ได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารต้องแบกรับภาระต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้นเป็น 45-50% ของค่าใช้จ่ายรวม จากเดิมเป็นสัดส่วน 30% ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนสูงขึ้น ถ้าทำยอดขายไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้”
 
ทั้งนี้ค่าครองชีพที่สูงขึ้นตามราคาสินค้าและพลังงานที่เพิ่มขึ้น

ได้ส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้นด้วย ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้มาใช้จ่ายเพื่อบริโภคในร้านอาหารลดลง แม้อาหารจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ ซึ่งมีความสำคัญกับชีวิตก็ตาม โดยพบว่าเดิมผู้บริโภครับประทานอาหารในร้านอาหารขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ 4 ครั้งต่อเดือน ปรับลดลงเหลือเพียง 1 ครั้งต่อเดือนเท่านั้น
 
“เวลานี้สิ่งที่ผู้ประกอบการร้านอาหารทำได้คือ หันไปควบคุมต้นทุนให้ได้มากที่สุด ขณะที่การปรับราคาสินค้าไม่สามารถทำได้มาก เพราะต้องคำนึงถึงค่าครองชีพผู้บริโภคที่สูงขึ้นด้วย ส่วนที่มีข่าวราคาค่าอาหารในตลาดปรับขึ้นนั้น ส่วนใหญ่เป็นการปรับขึ้นของร้านขนาดเล็ก หรือร้านห้องแถว ที่ปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5-10 บาทต่อจาน เป็นจานละ 30-35 บาท ซึ่งเขาสามารถทำได้ เพราะผู้บริโภคไม่มีทางเลือก และถือว่าอาหารราคาถูกที่สุดแล้ว”.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์